คนดีชอบทำงาน – คนพาลชอบทำลาย

คนดีชอบทำงาน – คนพาลชอบทำลาย

คนดีชอบทำงาน – คนพาลชอบทำลาย

 

ยสํ  ลทฺธาน ทุมฺเมโธ     อนตฺถํ จรติ อตฺตโน

อตฺตโน จ ปเรสญฺจ       หึสาย  ปฏิปชฺชติ.

คนทรามปัญญาได้ยศแล้ว ย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน

ย่อมปฏิบัติเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่น

บรรดามนุษย์ทั้งหลายทุกชาติ ทุกภาษา ทุกเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าจะนับถือลัทธิศาสนาอะไร เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ก็มีบุคคลอยู่ ๒ ประเภท คือ คนพาลกับบัณฑิต (คนดี) ประเด็นแรกเราก็มาทำความเข้าใจกันในบุคคล ๒ ประเภทนี้เสียก่อน คนพาลกับบัณฑิตนั้น มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร

คนพาลคือคนประเภทไหนมีอะไรเป็นเครื่องบอกว่าเป็นคนพาล คำว่า “พาล” แปลว่าอ่อน หมายความว่า คนพาลอ่อนความคิด คือไม่มีความคิดในทางริเริ่มสร้างสรรค์ เหมือนกันแต่เป็นความคิดที่อ่อนปวกเปลียก เรียกว่าใช้ไม่ได้ ไม่มีความคิดในการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นให้เจริญก้าวหน้าขึ้นกว่าที่เคยเป็นอยู่ก่อน เคยเป็นอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น มิหนำซ้ำยังปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามอำนาจกิเลสตัณหาอารมณ์ฝ่ายต่ำ ไม่นำพาคิดหาอุบายให้ชีวิตให้เป็นไปตามหลักเหตุผล คนเช่นนี้เรียกว่าเป็นคนพาล (อ่อนความคิด)

เมื่ออ่อนความคิดแล้ว คนพาลก็ยังอ่อนสติอีกด้วย  คือเป็นบุคคลประเภทประมาทขาดสติ มีความสะเพร่าเป็นนิสัยทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ขาดความระมัดระวังพลั้งพลาดอยู่เสมอ นี่คือลักษณะของคนอ่อนสติ สติยังอ่อนส่งผลสะท้อนให้เกิดความบกพร่องในการทำหน้าที่การงาน

นอกจากอ่อนความคิด อ่อนสติแล้ว คนพาลก็ยังอ่อนปัญญาคือไม่มีปรีชาความรู้ซึ้งถึงเหตุผล เป็นคนมีชีวิตอยู่สักแต่ว่าลมหายใจเข้า หายใจออกเท่านั้น ไม่ผิดอะไรกับคนตายแถมยังทำลายประโยชน์ทั้งในโลกนี้และประโยชน์ในโลกเบื้องหน้า อันตนควรจะได้เสียอีก นี่แหละคือคนพาลสันดานอ่อนความคิด อ่อนสติ และอ่อนปัญญา

เรื่องของ “พาล” ที่แปลว่าอ่อน ได้แก่อ่อนความคิด อ่อนสติ อ่อนปัญญา แม้ว่าร่างกายจะกำยำล่ำสันมีกำลังแข็งแรงเทียมดังช้าง ไม่ต่างอะไรกับเวสสุวรรณ ทศกัณรู้ยักษา แต่ถ้าอ่อนความคิด อ่อนสติ อ่อนปัญญา ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนพาลอยู่นั้นเอง เมื่อคนพาลเป็นคนอ่อนความคิด อ่อนสติ อ่อนปัญญา ก็ไม่คิดหาทางสร้างสรรค์ชีวิตให้เจริญก้าวหน้าด้วยเหตุผล คิดวนอยู่แต่ในเรื่องไร้สาระ เช่นเรื่องเครื่องรางของพลังโชคชะตาราศี เคราะห์ดีเคราะห์ร้าย วุ่นวายอยู่แต่ในเรื่องตื่นผู้วิเศษ เป็นเหตุให้เสียประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคต นี่คือความหมายของ “พาล” ถ้าอ่อนทั้งสามคืออ่อนความคิด อ่อนสติ อ่อนปัญญา มีอยู่ในบุคคลใด ก็คนนั้นแหละคือ “คนพาล” ไม่ว่าจะเป็นคนประเภทไหน อยู่ในเพศไหน วันไน มีตำแหน่งหน้าที่การงานอะไรก็ตามก็ได้ชื่อว่า เป็นคนพาลด้วยกันทั้งนั้น

นอกจากจุดอ่อนทั้งสามคืออ่อนความคิด อ่อนสติ และอ่อนปัญญา จะเป็นการบงบอกถึงลักษณะของคนพาลแล้ว ก็ยังมี “อาการของคนพาล” อีกคือคนพาลมีอาการแสดงออกบอกให้รู้อยู่ ๓ จุดด้วยกันคือ

คนพาลคิดแต่เรื่องชั่วๆ ที่ตัวเคยคิดมาแล้วเป็นนิสัย

คนพาลพูดแต่เรื่องชั่วๆ  ที่ตัวเคยคิดมาแล้วเป็นนิสัย

คนพาลพูดแต่เรื่องชั่วๆ  ที่ตัวเคยทำมาแล้วเป็นนิสัย

ตามหลักทั้งสามนี้ เราก็ได้จุดสังเกตรู้อาการของคนพาลสามจุด คือ จากความคิด จุดนี้อาจจะยากต่อจากสังเกต เพราะเป็นเรื่องภายในจิตใจ แต่ก็พอจะสังเกตได้ จากการพูด และจากการทำ  สรุปอาการของคนพาลคือชอบคิดชั่วเป็นนิสัย ชอบพูดชั่วเป็นนิสัย และชอบทำชั่วเป็นนิสัย

คิดแต่เรื่องชั่วๆ ที่ตัวเคยคิดมาแล้วเป็นนิสัยนั้น ได้แต่คิดโลภอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน คิดพยาบาทปองร้ายให้ผู้อื่นถึงความฉิบหาย คิดเห็นผิดจากทำนองครองธรรมนี่แหละคนพาลคิดแต่เรื่องชั่วเช่นนี้  คนไหนคิดแต่เรื่องชั่วๆ เช่นนี้ คนนั่นแหละคือคนพาล สันดานชอบคิดชั่ว

พูดแต่เรื่องชั่วๆ ที่ตัวเคยคิดมาแล้วเป็นนิสัยนั้น ได้แก่พูดเท็จ โกหกหลอกลวง พูดส่อเสียดยุยงให้คนแตกสามัคคีกัน พูดคำหยาบคาย พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระอันทำให้คนอื่นได้รับความเสียหายจาการพูดชั่วของตน

ทำแต่เรื่องชั่วๆ ที่ตัวเคยทำมาแล้วเป็นนิสัย ได้แก่การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในการ การกระทำในลักษณะเช่นนี้ คนพาลชอบกันนักชอบกันหนา

ถ้าใครคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว โดยไม่เลิกละ คนนั่นละเป็นคนพาล เพราะการทำชั่ว การพูดชั่ว การคิดชั่ว เป็นตัวบ่งบอกว่าเป็นอาการของคนพาล ดังนั้น การดูคนพาลจึงให้ดูที่พฤติกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ ของเขา ให้ดูที่ความคิด ให้ดูที่คำพูด ให้ดูที่การกระทำของเขาลักษณะอาการของคนพาลนั้น ชอบคิดชั่วเป็นนิสัย (มโนทุจริต) ชอบพูดชั่วเป็นนิสัย (วจีทุจริต) ชอบทำชั่วเป็นนิสัย (กายทุจริต) รวมความแล้ว คนที่ชอบประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ นั่นเองคือคนพาล นี่คือหลักการสังเกตคนพาล ตามทัศนะของพุทธศาสนา

แต่ยังมีวิธีดูคนพาลอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งท่านอกิตติดาบส นักปราชญ์ทางศาสนายุคก่อนพระพุทธจ้าท่านได้ให้ทฤษฎีสังเกตคนพาลไว้ ๕ ประการคือ

๑.                 คนพาลชอบแนะนำสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ

๒.                คนพาลชอบประกอบในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ

๓.                คนพาลชอบเห็นชั่วเป็นดี

๔.                คนพาลแม้คนอื่นพูดดีๆ ก็โกรธ

๕.                คนพาลไม่รู้อุบายสำหรับแนะนำ

นี่คือทฤษฎีทดสอบคนพาล ตามทัศนะของท่านอกิตติดาบส ใครที่มีพฤติกรรมทัง ๕ นี้แสดงออกมา ก็พึงทราบเถิดว่า เขาคนนั่นแหละคือคนพาล ตามหลักการที่ท่านอกิตติดาบส กำหนดไว้

ได้พูดถึงเรื่องของ “คนพาล” มาพอสมควรแล้วต่อไป ก็มาทำความเข้าใจกันในเรื่องของ “บัณฑิต” คำว่า “บัณทิต” นั้นได้แก่บุคคลประเภทไหน ทำไมจึงเรียกว่าบัณฑิต บัณฑิตนั้นมีอยู่สองความหมาย ความหมายหนึ่งหมายถึงบัณฑิตทางโลก อีกความหมายหนึ่งหมายถึงบัณฑิตทางธรรม บัณฑิตในทางโลกใช้เรียกบุคคลผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาการต่างๆ เช่นสำเร็จอักษรศาสตร์ก็เรียกว่า “อักษรศาสตรบัณฑิต”  สำเร็จครุศาสตร์ก็เรียกว่า “ครุศาสตรบัณฑิต” เหล่านี้เป็นต้น ถือเอาความสำเร็จทางการศึกษาให้สาขาวิชาต่างๆ ซึ่งวัดกันด้วยปริญญาตามลำดับชั้น ตรี โท เอก

ส่วนบัณฑิตทางธรรม ท่านหมายถึงบุคคลผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา คือคนที่ใช้ปัญญาความรู้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนและบุคคลอื่น บัณฑิตทางธรรม เป็นผู้ดำเนินชีวิตไปตามครรลองแห่งพระธรรม จะทำอะไรก็ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม จะพูดอะไรก็พูดแต่สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม จะคิดอะไรก็คิดแต่สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ดำเนินชีวิตแต่ในทางที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขด้วยสติปัญญา รู้จักใช้ปัญญารอบคอบชอบด้วยเหตุผล นี่คือคนที่คนที่เป็นบัณฑิตทางธรรม บัณฑิตชนประพฤติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ตนและคนอื่น ถ้าไม่สามารถประพฤติประโยชน์แก่คนอื่นได้ ก็ควรประพฤติเฉพาะประโยชน์ตนแม้เมื่อไม่สามารถประพฤติประโยชน์ของตนได้ ก็ควรปลีกตัวออกห่างจากความชั่วเสีย นี่ก็ลักษณะของบัณฑิตทางธรรม บัณฑิตตามทัศนะของพระพุทธศาสนา ถือเอาคุณธรรมเป็นเครื่องวัดภูมิของบัณฑิต ผิดตรงกันข้ามกับบัณฑิตทางโลกซึ่งถือเอาวิทยฐานะ หรือปริญญาดีกรีเป็นเครื่องวัดภูมิบัณฑิตทางโลก ตามความเป็นจริงแล้ว ค่าของบัณฑิตทางธรรมอยู่ที่การดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญา และการพำเพ็ญประโยชน์เป็นประการสำคัญ ดังประพันธ์พุทธภาษิตว่า

ทิฎฺเฐ ธมฺเม จ โยอตฺโถ  โย อตฺโถ สมฺปรายิโก

อตฺถาภิสมญา ธีโร                 ปณฺฑิโตติ  ปวุจฺจติ

คนฉลาดรู้จักประโยชน์ชาตินี้  ประโยชน์ชาติหน้า

และประโยชน์อย่างยิ่ง (นิพพาน) เรียกว่าบัณฑิต

ค่าของบัณฑิตขึ้นอยู่กับประโยชน์ คนไหนทำประโยชน์ได้มากคนนั้นก็มีค่ามาก บัณฑิตย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสอง คือประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ข้างหน้า ฝึกเอาประโยชน์ทั้งสองมาเป็นภาระหน้าที่ของตนที่จะต้องปฏิบัติบำเพ็ญจริงๆ ไม่สลัดทิ้งภาระที่มาถึงตัว มุ่งถือประโยชน์ทั้งสองมาเป็นเครื่องมือในการสร้างตนให้มีฐานะมั่นคงในปัจจุปันและสร้างสรรค์ทางดำเนินชีวิตให้ราบรื่นในกาลข้างหน้า

บัณฑิตตามทัศนะของพระพุทธศาสนา นอกจากสร้างฐานะของตนให้มั่นคงในปัจจุบันแล้ว ยังมีความรู้สึกสำนึกในบาปบุญ คุณโทษ อันติดตามไปในกาลข้างหน้าจึงต้องหาอุบายป้องกันบาปแล้วสั่งสมบุญ ยึดหลักธรรมคือศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา มาสร้างมรรคา เพื่อดำเนินชีวิตไปสู่ชาติหน้าด้วยความราบรื่น เมื่อได้ทราบเรื่องของบัณฑิต คือผู้ดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญาและเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ทั้งสอง มาพอสมควรแล้ว ประเด็นต่อไป ก็ควรจะต้องรู้จักอาการของบัณฑิตด้วย อาการแสดงออกของบัณฑิตนั้น มีอยู่ ๓ ประการ คือ

๑.                 บัณฑิตคิดดีเป็นปกตินิสัย

๒.                บัณฑิตพูดดีเป็นปกตินิสัย

๓.                บัณฑิตทำดีเป็นปกตินิสัย

ตามหลักการข้างบนนี้ เราได้จุดสังเกตอาการของบัณฑิต ๓ จุดด้วยกันคือ

๑.                 สังเกตจากการคิด

๒.                สังเกตจากการพูด

๓.                สังเกตจากการทำ

การคิดดี การพูดดี การทำดีเป็นปกตินิสัย นี่คือลักษณะอาการของบัณฑิต บัณฑิตมีอัธยาศัยไม่คิดโลกอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน มีอัธยาศัยไม่คิดประทุษร้ายคนอื่นและสัตว์อื่นให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน มีอัธยาศัยไม่คิดเบียดเบียนคนอื่นและสัตว์อื่น ในทางมโนกรรมบัณฑิตมีอัธยาศัยเช่นนี้

ในทางวจีกรรม บัณฑิตมีอัธยาศัยพูดแต่คำสัตย์ความจริงพูดคำอ่อนหวานคำประสานสามัคคี พูดวจีไพเราะ พูดเฉพาะแต่คำที่มีประโยชน์ ในทางกายกรรม บัณฑิตมีอัธยาศัยในการเว้นจากการฆ่า เว้นจากเบียดเบียน เว้นจากการลักขโมย และเว้นจากประพฤติล่วงประเวณี ที่กล่าวมาโดยย่อนี้ คืออาการของบัณฑิต บัณฑิตมีอาการทำดี มีอาการพูดดี มีอาการคิดดี เป็นปกตินิสัย

นี่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของ “บัณฑิต” ต่อไปก็เขาสู่ประเด็นในข้อที่ว่า

“คนดีชอบทำงาน – คนพาลชอบทำลาย”

“คนดี” ในที่นี้ ได้แก่บัณฑิตนั้นเอง คนดีชอบทำงาน คนดีไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน เกิดขึ้นมาแล้วก็ชอบทำงานทั้งที่เป็นงานส่วนตัว งานส่วนรวม ก็ร่วมด้วยช่วยทำ ไม่ว่าจะเป็นงานต่ำงานสูง งานบ้าน งานเมือง เรื่องอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ตนแก่คนอื่น แก่สังคมประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็ทำได้ทั้งนั้น ไม่คิดผัดวันประกันเวลาในการทำงานที่ดี มีประโยชน์ คนดีได้รับมอบหมายหน้าที่การงานอะไรมาก็ตั้งใจ พอใจ ชอบใจ ในหน้าที่การงานนั้นๆ แล้วก็พยายามทำงานด้วยความเข้าใจเอาใจใส่ฝักใฝ่อยู่ในการทำงานนั้นจนกว่าจะสำเร็จผลไม่เป็นคนจับจดอ้างนั่น อ้างนี่ ไม่หนีงาน ถือหลักว่า การทำงานในหน้าที่เป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันดังนั้น คนดีจึงทำงานได้ทั้งคดีโลก คดีธรรม คือทั้งงานทางโลก งานทางธรรม โลกก็ไม่ให้ช้ำ ธรรมก็ไม่ให้เสีย ไม่ยอมปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่าๆ โดยที่ไม่ยอมทำงานอะไร เป็นการหายใจทิ้งเปล่าๆ คนดีอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องตั้งใจทำงานแข่งเวลา ที่ไม่ได้ในเรื่องทำงาน คนดีถือหลักว่า “ค่าของคน อยู่ที่ผลของการทำงาน”

คนดีที่รับผิดชอบในการบริหารประเทศชาติบ้านเมืองเรื่องทำงานเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุข แก่ประชาชนชาวบ้าน ถือเป็นงานสำคัญมาก และเป็นงานเร่งด่วน ควรจะทำทันที ในวันนี้และเดี๋ยวนี้ คนดีจะไม่ผัดวันประกันเวลา ในการทำงาน รีบทำทันที ทันควัน ไม่หันรีหันขวาง อ้างนั่นอ้างนี่ลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่ของประชาชนทุกหนทุกแห่งแบ่งงานกันทำเป็นระบบ พบชาวบ้านมีปัญหาเรื่องอะไรเร่งแก้ไขให้ทันกาล อย่าปล่อยให้งานล่าช้า อย่าเห็นว่าปัญหาของประชาชนเป็นเรื่องไม่สำคัญ สำคัญยิ่งกว่าเรื่องอื่นใดทั้งหมด กำหนดไว้ในหัวใจประจำวันว่า นั่นคือปัญหาของประชาชนรากหญ้า รีบหาอุบายคลายทุกข์พวกเขาทันทีทันใด ถือคติว่า “คนดีชอบแก้ไข แต่คนจัญไร ชอบแก่ตัว) คนดีชอบแก้ไข คือแก้ไขปัญหาความทุกข์ความเดือดร้อนของประชาชน ในทุกๆ ด้าน ถ้าประเทศชาติบ้านเองใด ได้คนดีมาเป็นรัฐบาลชาวบ้านทั่วไปก็ได้รับแต่ความสุข ความเจริญ ความก้าวหน้า และความปลอดภัยในชีวิต ชีวิตไร้ปัญหาเพราะว่า ได้เลือกคนดีมาเป็นรัฐบาล มาบริหารประเทศชาติบ้านเมือง สาธุ! ขอให้สังคมไทยได้รัฐบาลที่ดี มีศีล มีธรรม มารับผดชอบบริหารประเทศชาติบ้านเมืองกันเถิด จะได้เกิดศิริมงคลส่งผลให้ประชาชนมีความร่มเย็น เป็นสุข ปราศจากความทุกข์ ความเดือดร้อน โดยประการทั้งปวง

ประเด็นของ “คนดีชอบทำงาน” กล่าวมาโดยย่อ ขอผ่านไป ขอเข้าสู่ประเด็นของ “คนพาลชอบทำลาย” ต่อไปในประเด็นนี้ คนพาลคือคนประเภทไหน ทำไมจึงได้ชื่อว่าเป็น “คนพาล” ประเด็นนี้ได้กล่าวมาแล้ข้างต้นนั้นแต่ขอย้ำอีกครั้งเพื่อหวังให้ท่านทั้งหลายได้ทบทวนความจำ แล้วจะทำให้ท่านทั้งหลายเข้าใจได้ง่ายขึ้น เมื่อพูดถึงคนพาลชอบทำลาย คนพาลคือคนชั่วคนไม่ดี เพราะมีลักษณะอ่อนความคิด อ่อนสติ และอ่อนปัญญา นอกจากลักษณะทั้ง ๓ นี้แล้ว ก็ยังมีจุดสังเกตดูคนพาลอีก ๓ จุด คือสังเกตอาการของคนพาล คนพาลมีอาการแสดงออกมา ๓ จุดด้วยกันคือ

คนพาลชอบคิดชั่ว เป็นปกตินิสัย

คนพาลชอบพูดชั่ว เป็นปกตินิสัย

คนพาลชอบทำชั่ว เป็นปกตินิสัย

หากอาการทั้ง ๓ นี้ มีอยู่ในบุคคลใด ก็บุคคลนั้นแหละคือ “คนพาล” คนพาลมีสันดานชอบคิดชั่ว ชอบพูดชั่วและชอบทำชั่ว เป็นนิสัยสันดาน

เมื่อทราบลักษณะละอาการของคนพาลแล้ว ท่านทั้งหลายก็คงจะเข้าใจได้โดยปราศจากความลังเลสงสัยว่า คนพาลนั้นชอบทำลายอย่างไร สังเกตได้จากอาการที่หนึ่งว่า คนพาลชอบคิดชั่วเป็นนิสัยสันดาน คิดชั่วคือคิดอย่างไร คิดชั่วก็คือคิดโลภอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน คนที่คิดอยากได้ของคนอื่นนั้น มันเป็นการทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของคนอื่น เมื่อคิดอยากได้ของเขาก็หาวิธีจะเอาให้ได้ ไม่ว่าโดยวิธีใดถ้าไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็ต้องเอาด้วยคาถา หาทางคดโกงคอรัปชั่น ทำมันทุกอย่างขอให้ได้ทรัพย์มาเป็นองตน คนที่ทำเช่นนี้จะไม่เรียกว่าเป็นคนชอบทำลาย แล้วจะเรียกว่าอย่างไร

คนพาลนอกจากจะคิดโลภอยากได้ของเขาแล้ว ยังคิดที่ประทุษร้าย ทำลายล้างผลาญคนอื่นอีกด้วย ช่วยบอกหน่อยชิว่า การกระทำเช่นนี้ของคนพาล เป็นการทำลายไหม แน่นอน คนพาลชอบทำลาย ทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า ยุคไหน สมัยไหน ถ้ามีคนพาล อาศัยอยู่ในสังคมมากยุคนั้น สมัยนั้น หาความปลอดภัยในชีวิตไม่ค่อยจะได้ สุจริตชนคนดีๆ ในสังคมต่างก็มีความระทมทุกข์กันไปทุกหย่อมหญ้า เพราะว่าคนพาลชอบทำลาย ร้ายไหมละท่าน! นี่แหละคนพาลชอบทำลายเป็นนิสัยสันดาน ยิ่งถ้าคนพาลได้ยศ ได้อำนาจเป็นใหญ่ในแผ่นดินด้วยแล้ว สังคมมนุษย์ก็จะร้อนเป็นไฟ เพราะคนพาลย่อมประพฤติแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ย่อมปฏิบัติเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่นให้เดือนร้อน ดังคำสอนที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

ยสํ  ลทฺธาน มุมฺเมโธ     อนตฺถํ จรติ อตฺตโน

อตฺตโนจ ปเรสญฺจ        หิ สาย ปฏิชฺชติ

คนทรามปัญญา (คนพาล) ได้ยศแล้วย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตน                          ย่อมปฏิบัติเพื่อเบียดเบียนตน – คนอื่น                                                                คนพาลได้ยศได้อำนาจแล้ว มักจะลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ลืมตัวเอง ลืมหน้าที่การงาน ลืมบริวารเพื่อนฝูง ลืมบ้านเกิดเมืองนอน ลืมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ ลืมศาสนา ลืมความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความเสมอภาคพฤติกรรมของคนพาลที่ได้ยศได้อำนาจ ตามที่กล่าวมาโดยย่อนี้ ชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดโดยไม่ต้องสงสัยว่า “คนพาลชอบทำลาย”

หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงเตือนว่า อย่าให้ยศ อย่าให้อำนาจแก่คนพาล อย่ายกย่อง อย่าสรรเสริญ คนพาล อย่ามอบอำนาจให้คนพาลเป็นใหญ่ในการบริหารประเทศชาติบ้านเมือง เพราะจะก่อความเสียหายทำลายประเทศชาติบ้านเมืองให้ประสบกับความหายนะล่มจมในบั้นปลาย เพราะเรื่องเคยมีมาแล้ว ควรระวังกันให้ดีอย่าผลีผลามมอบความเป็นใหญ่ให้คนพาลเป็นอันขาด ถ้ามาตแม้นว่าคนพาลที่เป็นคนธรรมดาสามัญชาวบ้านทั่วไป ภัยอันตรายที่เกิดจากคนพาลประเภทนี้ ก็อยู่ในวงแคบอยู่ขอบเขตจำกัด จัดว่าเป็นภัยอันตรายเป็นการทำลายกันในสังคมของคนที่ไม่มีอำนาจ แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่ก็ยังพอทำเนาไม่เท่ากับคนพาลที่มียศมีอำนาจเป็นใหญ่ในแผ่นดินคนพาลประเภทนี้มีพิษสงร้ายกาจมาก อยากจะพูดว่าทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ ทหาร การเมือง เรื่องการศึกษา การปกครอง เรื่องสังคมวัฒนธรรมประเพณี หนีไม่พ้นกระทั่งสิ่งแวดล้อม ก็พร้อมถูกทำลาย ด้วยฝีมือของคนพาลได้ยศ ได้อนาจเป็นใหญ่ในแผ่นดินทั้งนั้น โอ! ขอให้ยุคของคนพาลได้ยศได้อำนาจ ปราสนาการไปจากสังคมไทยในเร็ววันนี้เทอญ

อันคนดี          ชอบทำงาน      การต่างๆ

ทำทุกอย่าง       ในทาง          การสร้างสรรค์

เพื่อประโยชน์  และความสุข     ทำทุกวัน

ไม่ผัดวัน         ประกันพรุ่ง      มุ่งทำดี

พวกคนดี        ชอบทำงาน      การกุศล

เพื่อให้คน        ในสังคม          นิยมดี

ทำทุกอย่าง      ในทาง           สร้างความดี

ชอบทำดี         ที่ถูกต้อง         ตามครองธรรม

เมื่อคนดี         ชอบทำงาน      ด้านต่างๆ

ตามตัวอย่าง     ที่กล่าวอ้าง      ทางชอบธรรม

ทำอะไร          อยู่ในกรอบ      อันชอบธรรม

ทำประจำ        เป็นนิสัย         ใฝ่ความดี

ด้วยเหตุผล      ที่คนดี           ไม่หนีงาน

จึงเป็นการ       ส่งเสริม          เพิ่มศักดิ์ศรี

ให้ลาภยศ       เพิ่มพูน          คูณทวี

ด้วยเหตุที่       คนดี              ชอบทำงาน

ส่วนคนพาล      ชอบทำลาย      ร้ายที่สุด

เป็นมนุษย์       อันตราย         ร้ายเอาการ

อยู่ที่ไหน         ก็ทำให้                    คนรำคาญ

ชอบล้างผลาญ            สังคม             ให้ล่มจม

สังคมใด          ให้คนพาล       อาศัยอยู่

เหมือนศัตรู      อยู่อาศัย         ในสังคม

ก็ทำลาย         ทุกอย่าง         ทางสังคม

ให้ล่มจม         วายวอด         ตลอดกาล

ด้วยเหตุนี้       คนดี              จึงเตือนตัก

ให้ทุกคน         รู้จัก              สร้างหลักฐาน

อย่าปล่อยให้    คนพาล           มารุกราน

สร้างปราการ   ด้วยหลักธรรม  ค้ำประกัน

ถ้าทำได้          เช่นนี้                      จะดีมาก

จึงขอฝาก         ให้ทุกคน        สนใจกัน

ให้หลักธรรม    ในชีวิต           ประจำวัน

เพื่อป้องกัน      คนพาล           สันดานทราม ฯ