คนดีมีธรรม – คนระยำมีกิเลส
(ธรรม) ขตฺติยา พฺราหฺมณา เวสฺสา สุทฺทา จณฺฑาลปุกฺกุสา
อิธ ธมฺมํ จริตฺวาน ภวนฺติ ติทิเว สมา.
กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล คนงานชั้นต่ำ ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกันในสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
(กิเลส) โลโภ โทโส จ โมโห จ ปุริสํ ปาปเจตสํ
หึสนฺติ อตฺตสมฺภูตา ตจสารํว สมฺผลํ.
โลภะ โทสะ โมหะ เกิดจากตัวเอง ย่อมเบียดเบียนผู้มีใจชั่ว ดุจขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ ฉะนั้น
ประเด็นแรก เรามาทำความเข้าใจในเรื่องของคำว่า “ธรรม” กันเสียก่อน ธรรมะมีนัยและความหมายอันกว้างขวาง แต่เพื่อความเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป และสะดวกต่อการจดจำและนำไปปฏิบัติ ขอสรุปเอาง่ายๆ ว่า ธรรมะนั้นได้แก่ “ความดี, ความถูกต้อง, และความสัตย์จริง” เราจะได้ยินได้ฟังผู้หลักผู้ใหญ่สอนลูกสอนหลาน ครูบาอาจารย์สอนลูกศิษย์ว่า ขอให้ทุกคนพากันบำเพ็ญแต่ความดี มีความถูกต้อง และความจริง คนที่ทำดี ความถูกต้อง และความจริง ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ นี้แสดงให้เห็นว่า โครงสร้างอันสำคัญของชีวิตคือ “ความดี” ชีวิตที่ปราศจาก “ความดี” ก็เหมือนกับโครงกระดูก ไม่มีประโยชน์อะไร
มนุษย์ทุกชาติ ทุกภาษา ต่างก็ปรารถนาอยากเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น คำสอนของพระศาสดาแต่ละศาสนา ต่างก็มุ่งสอนคนให้เป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น ความดีจึงเป็นของสากล สำหรับมนุษย์ทุกรูปทุกนาม ความดีก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือความดี คนดีมีธรรมก็คือคนมีความดี คนสนใจไฝ่หาความดีมาเป็นสมบัติของคน คนสนใจใฝ่หาความดี ได้ชื่อว่า “คนดีมีธรรม” เมื่อมีธรรมมีความดี ก็ดำเนินชีวิตไปตามครรลองของพระธรรมและความดีนั้นโดยสม่ำเสมอไม่ขาดสาย ผลสุดท้าย ก็จะประสบกับความเจริญ และความปลอดภัยในชีวิตสมกับคำว่า “คนดี มีธรรม”
ธรรมะ คือความดี ความถูกต้อง ความจริง สิ่งทั้งสามนี้ เมื่อบุคคลประพฤติปฏิบัติดีแล้ว ก็เหมือนหนึ่งว่าเป็นเกราะ (ธมฺมทีปํ) ป้องกันตัวได้เป็นอย่างดี เป็นที่พึ่งที่อาศัยอันประเสริฐ และปลอดภัย คนเราน่าจะพากันสนใจ เอาใจใส่ใฝ่ใจในการศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรมกันบ้าง อย่าอ้างว่าธรรมะไม่เกี่ยว เดี๋ยวจะเสียใจในภายหลัง เกิดมากับเขาทั้งที ต้องพากันทำความดี ความถูกต้อง และความจริงเอาไว้ จะได้ชื่อว่าเป็นคนสมบูรณ์ด้วยธรรมและเป็นการสร้างความดีอันล้ำค่าฝากไว้ให้อนุชนรุ่นหลังเอาอย่างกันต่อไป เข้าหลัก “ทำดีไว้ให้ลูก ทำถูกไว้ให้หลาน”
การทำความดีตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น ไม่จำเป็นจะต้องไปลงทุนลงรอนอะไรกัน เพียงแต่มีจิตใจรักในความดีเท่านั้นแหละ ก็ทำความดีได้ทันที ในที่ทุกสถานและในกาลทุกเมื่อ จงพากันทำแต่ความดีกันเถิด คนทำดีตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ชีวิตจะมีความปลอดภัย ต้องอาศัยการทำความดีเป็นหลักประกัน เหมือนคนมีร่มคันใหญ่อยู่ในมือถือไปไหนมาไหน เพื่อความปลอดภัยในการป้องกันฝนและแดด ฝนจะตกแดดจะออก คนมีร่มก็สบายใจคลายกังวล ไม่ทุรนทุรายว่าสายฝนและแสงแดดจะแผดเผา ฝนตกยกร่มขึ้นกาง แดดออกถ่างร่มออกกั้น เท่านั้นแหละตนเองก็ปลอดภัยไปไหนมาไหนได้สะดวกสบาย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คนที่ทำแต่ความดีก็เหมือนกัน ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน บ่ายหน้าไปทางทิศไหน ประกอบกิจการงานอะไร ก็มีความปลอดภัยทุกอย่าง ดังนั้น ความดีจึงเป็นเสน่ห์มหานิยมเป็นทั้งอำนาจวาสนา สามารถบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราต้องการให้สำเร็จได้ดังใจปรารถนาทุกประการ
ประเด็นต่อไป เข้าสู่หัวข้อ “คนดีมีธรรม” คนดีมีธรรมนั้นหมายความว่าอย่างไร ทำไมคนดีจึงต้องมีธรรม คนดีตามหลักของพระพุทธศาสนานั้น ต้องเป็นคนมีธรรม ถ้าไม่มีธรรมก็เป็นคนดีไม่ได้ คำว่า “มีธรรม” ในที่นี้ ได้แก่มีธรรมประจำใจ เป็นผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติสม่ำเสมอไม่ขาดสายเรียกว่า “ธรรมวิหารี” มีธรรมเป็นที่อยู่อาศัย เป็น “ธรรมจารี” ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ มีชีวิตอยู่คู่ธรรม มีธรรมคู่ชีวิต เข้าหลัก :-
มีพระธรรม คู่ชีวิต พิชิตโลก
ไม่ทุกข์โศก อยู่เหนือโลก ไร้ปัญหา
ครองชีวิต อยู่ในโลก ด้วยปัญญา
ไร้ปัญหา สงบเย็น เห็นนิพพาน
ขอทำความเข้าใจในเรื่อง “คนดี” อีกสักเล็กน้อย คือคนในสังคมทุกวันนี้ มีความเข้าใจในเรื่อง “คนดี” ผิดไปจากความหมายเดิม ความหมายเดิม “คนดี” ต้องมีธรรม แต่ในปัจจุบันนี้ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า “คนดี” คือคนมีอำนาจเงินและอำนาจรัฐ จึงจะจัดว่าเป็นคนดี คนยากคนจน คนไม่มีเงินปราศจากอำนาจเป็นใหญ่ในบ้านเมือง จะเป็นคนดีได้อย่างไร ต้องเป็นคนระดับคฤหบดี เศรษฐี มหาเศรษฐี และมีตำแหน่งหน้าที่, บริหารประเทศชาติ บ้านเมืองเท่านั้นจึงจะเข้าขั้นเป็น “คนดี” ได้ ความเข้าใจเช่นนี้ เป็นความเข้าใจที่ผิดไปจากความจริง ความจริงแล้วคนดีต้องมีธรรมประจำใจ ถ้าคนใดมีแต่อำนาจเงินและอำนาจรัฐ แต่จิตใจเต็มอัดไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว จะเป็นคนดีไม่ได้ตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา แต่ถ้าคนมีอำนาจและอำนาจรัฐนั้น เขามีจิตใจประกอบด้วยธรรม พฤติกรรมที่แสดงออกมาทางกาย ทางวาจา และทางใจ เป็นไปในทางสุจริต เขาก็เป็นคนดีได้ ไม่มีปัญหาอะไร ก็ขอให้ชาวประชาทั้งหลายเข้าใจ “คนดี มีธรรม” ดังที่กล่าวนี้
ประเด็นต่อไป “คนดีมีธรรม” นั้น ได้แก่มีธรรมอะไร มีธรรมประเภทไหน เพราะว่าธรรมนั้นมีมากมายหลายอย่าง มีประเภทต่างๆ เหลือที่จะพรรณนา กล่าวกันว่ามีถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ แล้วอย่างนี้จะให้มีธรรมทั้งหมดอย่างนั้นหรือ จึงจะถือว่าคนมีธรรม ในประเด็นนี้ เราไม่จำเป็นต้องมีทั้งหมดหรอก ขอบอกให้เข้าใจว่า เราจะมีธรรมหมวดไหน ประเภทไหนก็ได้ เพราะธรรมที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์นั้นมีเพียงกำมือเดียวเท่านั้น ดังที่ท่านผู้รู้กล่าวว่า “ธรรมกำมือเดียว” เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ใบไม้ในป่านี้มีมากมายแต่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์นั้นมีเพียงกำมือเดียว” เท่านั้น ตามพระดำรัสนี้ชี้ให้เห็นว่าธรรมะนั้นมีมากมาย แต่ควรนำมาใช้เฉพาะที่ดับทุกข์ได้เท่านั้น
ขอยกตัวอย่างให้เห็นเป็นเรื่องๆดังต่อไปนี้ คนดีมีธรรมอุปการะมาก ๒ อย่าง มีสติ ความระลึกได้ คือระลึกก่อนจะทำ ก่อนจะพูด ก่อนจะคิด ก่อนจะประกอบกิจอะไรลงไป ก็ให้มีสติ คนโบราณกล่าวว่า “ให้คิดหน้าคิดหลัง” หยั่งถึงผลได้ผลเสียก่อนแล้ว จึงทำ จึงพูด จึงคิด เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการทำ การพูด การคิดนั้น ในการปฏิบัติธรรมขั้นสูง สตินั้น ได้แก่การรู้ทัน รู้ทันอะไร รู้ทันกิเลสประเภทต่างๆ รู้ทันความโลภ รู้ทันความโกรธ รู้ทันความหลง เมื่อรู้เท่าทัน ก็ป้องกันกิเลสตัณหา ไม่ให้เข้ามาครอบครองจิตใจเราได้ ส่วนสัมปชัญญะนั้น ได้แก่ความรู้ตัวที่พร้อมตลอดเวลาว่า ขณะนี้เรากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอะไรอยู่ เมื่อรู้ตัวอยู่เช่นนี้ การทำ การพูด การคิด ก็จะไม่ผิดพลาด เสียหาย คนดีมีธรรมทั้งสองนี้แล้วจะเป็นคนมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
ตัวอย่างที่สอง คนดีมีธรรม คือมี “โลกปาลธรรม” คือธรรมคุ้มครองโลก คือ “หิริ” ความละอายแก่ใจ คือละอายบาป ละอายความชั่ว “โอตตัปปะ” ความเกรงกลัวต่อบาป ต่ออกุศล เกรงกลัวต่อผลของบาป ของความชั่ว กลัวว่า เมื่อทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว ผลชั่วจะตามมาแผดเผาให้เร่าร้อนในภายหลัง ระวังอย่าให้เกิดความประมาทพลั้งพลาดนักปราชญ์ท่านเตือนว่า เวลาทำชั่วก็ให้มีความละอายระงับกายไว้ได้ไม่ให้ทำความชั่ว เวลาจะพูดชั่ว ก็ให้ละอายระงับปากไว้ได้ไม่ให้พูดชั่ว เวลาจะคิดชั่ว ก็ให้ละอายระงับใจไว้ได้ไม่ให้คิดชั่ว นี่คือลักษณะของ “หิริ” ความละอายแก่ใจ คือมันเกิดขึ้นในใจจริงๆ ส่วน “โอตตัปปะ” ความเกรงกลัวนั้น ก็คือเกรงกลัวบาป เกรงกลัวความชั่ว เวลาจะทำชั่วก็เกิดความกลัวขึ้นมาในใจ ระงับกายไม่ให้ทำความชั่ว เวลาจะพูดชั่วก็กลัวขึ้นมาในใจ ระงับปากไว้ไม่ให้พูดชั่ว เวลาจะคิดชั่ว ก็กลัวขึ้นมาในใจ ระงับใจไว้ไม่ให้คิดชั่ว คนใดมีธรรมคือ หิริ-โอตตัปปะ คนนั้นก็มีธรรมคุ้มครองป้องกัน ภยันตรายต่างๆ นานา นำมาซึ่งความปลอดภัยในชีวิต
หมู่ใด คณะใด สังคมใด ประเทศชาติใด ถ้าคนในหมู่นั้น คณะนั้น สังคมนั้น ประเทศชาตินั้น เป็นคนมี หิริ ความละอายต่อบาป ละอายต่อความชั่ว มีโอตตัปปะ ความกลัวต่อบาป กลัวต่อความชั่ว ละอาจต่ออกุศล อาศัยอยู่กันมาก ย่อมปราศจากความเอารัดเอาเปรียบ เหยียบย่ำทำร้ายกัน เพราะต่างคนต่างก็มีความละอายต่อบาป มีความกลัวต่อความชั่ว ไม่กล้าทำชั่ว ไม่กล้าพูดชั่ว ไม่กล้าคิดชั่ว เพราะผลของการทำชั่ว การพูดชั่ว การคิดชั่ว จะตามมาแผดเผาให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนในภายหลัง แต่ในสังคมปัจจุบันทุกวันนี้ มีคนบางพวกบางเหล่าไม่มีหิริ ความละอายแก่ใจ คือไม่มียางละอาย และปราศจากโอตตัปปะ ไม่กลัวบาปกลัวกรรม พากันทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว มั่วกันไปหมดในสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน จึงเกิดโทษมหันต์นานาประการ บ้านเมืองสังคมหาความสงบสุขมิได้ ละอายกันหน่อยซิ กลัวความชั่วกันบ้างเถิดท่านทั้งหลาย สังคมจะได้ผ่อนคลายจากความทุกข์ ความเดือดร้อนกันได้บ้าง
อีกประการหนึ่ง หิริ ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ ความกลัวต่อความชั่วท่านเรียกว่า “เทว ธรรม” คือธรรมที่ทำให้คนเป็น “เทวดา” คนไหนมีหิริ ความละอายต่อบาป มีโอตตัปปะ ความกลัวต่อความชั่ว ไม่กล้าทำชั่ว ไม่กล้าพูดชั่ว ไม่กล้าคิดชั่ว ทั้งในที่ลับทั้งในที่แจ้ง ต่อหน้าลับหลัง คนนั้นแหละคือ “เทวดา” ร่างกายเราเป็นคน แต่จิตใจเราเป็นเทวดา เรียกว่าเป็นเทวดาในร่างของคน ดังนั้น ใครต้องการเป็นเทวดาก็ต้องพากันมีเทวธรรม คือ หิริ และ โอตตัปปะ เราคนนั้นก็จะเป็นเทวดาทันที ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ และในโลกนี้ ไม่ต้องตายไปเกิดเป็นเทวดาในโลกหน้า เป็นเทวดาในโลกนี้กันดีกว่า (รอโลกหน้า มันช้าเกินไป)
ตัวอย่างที่สาม “คนดี มีธรรม” คือ “พรหมวิหารธรรม ๔” คือ “เมตตา” ความรักใคร่ปรารถนาให้คนอื่น สัตว์อื่น มีความสุข “กรุณา” ความสงสารต้องการช่วยคนอื่นสัตว์อื่นให้พ้นทุกข์ “มุทิตา” ความพลอยดีใจในเมื่อเห็นคนอื่นได้ดีมีความสุข ขอให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป “อุเบกขา” วางใจให้เป็นกลางไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง วางตัวอยู่ในความยุติธรรม ความเป็นธรรม ความเสมอภาค ใครก็ตามที่มีธรรมทั้ง ๔ นี้ประจำใจ คนนั้นแหละเป็น “พรหม” เป็นพรหมในร่างมนุษย์ ร่างกายเป็นร่างมนุษย์แต่จิตใจเป็น “พรหม” ใครต้องการเป็นพรหม ก็ต้องมีพรหมวิหารธรรม ๔ คือ มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขาประจำใจให้สมบูรณ์บริบูรณ์ แล้วก็จะกลายเป็นพรหมทันที ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ และในโลกนี้ ไม่ต้องไปเกิดเป็นพรหมในโลกหน้า มันช้าเกินไป
ตัวอย่างที่สี่ “คนดี มีธรรม” คือมี “สัปปุริสธรรม” ธรรมของสัตบุรุษ คือคนดี ๗ ประการคือ :-
๑. ธัมมัญญุตา รู้จักเหตุ เช่น จักรู้จักว่า นี่เป็นเหตุแห่งความสุข (ทำดี พูดดี คิดดี เป็นเหตุแห่งความสุข) นี่เป็นเหตุแห่งทุกข์ (ทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว เป็นเหตุแห่งทุกข์)
๒. อัตถัญญุตา รู้จักผล เช่น รู้ว่าสุขเป็นผลแห่งเหตุนี้ (สุข เป็นผลมาจากคิดดี พูดดี ทำดี) ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้ (ทุกข์ เป็นผลมาจาก คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว)
๓. อัตตัญญุตา รู้จักตนว่า เราอยู่ในฐานะ ภาวะอย่างไร ควรประพฤติตนให้เหมาะสมกับฐานะ ภาวะของตน
๔. มัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการทำมาหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการใช้จ่าย แต่พอควรแก่รายรับ
๕. กาลัญญุตา รู้จักกาลเวลาในการประกอบการงานอันสมควร
๖. ปริสัญญุตา รู้จักชุมชนบริษัท ปฏิบัติตนให้สมควรแก่ชุมชน และสังคมนั้นๆ
๗. ปุคคลัญญุตา รู้จักบุคคลว่าคนนี้เป็นคนดี ควรคบ คนนี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น
(ธรรมะของสัตบุรุษ รู้เหตุ, รู้ผล, รู้ตน, รู้ประมาณ, รู้กาลเวลา, รู้ชุมชน, รู้บุคคล คนดี ควรคบ คนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น)
รู้เหตุให้แยบยล รู้ผลให้สอดคล้อง
รู้ถูกต้องให้รู้ตน จะเกิดผลให้รู้จักประมาณ
จะชำนาญรู้กาลเวลา ใช้ปัญญารู้จักชุมชน
ไม่หลงกลต้องรู้คนทุกประเภท นี่คือเหตุปัจจัยทำให้เป็น “คนดี มีธรรม” ตัวอย่าง คนดีมีธรรมนำมาสาธกให้เห็นโดยย่อ ก็ขอยุติเพียงเท่านี้
ต่อไป เข้าสู่ประเด็น “คนระยำมีกิเลส” พวกคนระยำนี้ พวกเขามักจะมีกิเลสประเภทต่างๆ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทิฏฐิมานะ อิจฉาริษยา นินทาว่าร้าย เหล่านี้ มีมากบ้าง น้อยบ้าง ตามเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล เช่น คนบางคนก็มีความโลภมากอยากได้ในทางทุจริต ผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฎหมาย ผิดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของสังคม มีค่านิยมในการคดโกง คอร์รัปชั่น เอามันทุกอย่างขอให้ได้มาสนองความอยากของตน คนประเภทนี้มีมากขึ้นในสังคมปัจจุบันอย่างผิดสังเกต เป็นเหตุให้เกิดปัญหานานาประการ ในสังคมการอยู่ร่วมกัน มีโทษมหันต์เหลือที่จะพรรณนา ความปลอดภัยในทรัพย์สิน ทั้งในส่วนบุคคล และส่วนรวมประเทศชาติ พวกที่ลุอำนาจแก่ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ประพฤติชั่วในทางทุจริต ชนิดจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน มันมีกลเม็ดเด็ดพรายร้ายนักหนา พากันโกงเป็นคณะ เป็นทีม ถ้าชาวบ้านทั่วๆ ไปโกงกันมันก็ไม่เท่าไร แต่ถ้าหากผู้หลักผู้ใหญ่มีหน้าที่บริหารบ้านเมืองโกงชาวบ้านนี่ซิ มันอันตรายมาก
คนระยำมีกิเลส ประเภทโกธะ โทสะ ความโกรธ ความเกลียด ความชัง ความประทุษร้าย คนพวกนี้ก็มีมากในปัจจุบัน โกรธอย่างเดียวไม่พอก่อให้เกิดการผูกโกรธไว้นี่ซิ มันอันตรายมากยากที่จะละมันได้ เพราะมันฝังแน่นอยู่ภายในจิตใจเสียแล้ว โกธะและโทสะ นี้ เกิดมาจากจุดเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ แต่เนื่องจากการขยายตัวของโกธะและโทสะนี้ มันขยายตัวเร็วมาก ยากที่จะสังเกตเห็นได้ด้วย “มังสจักขุ” คือตาเนื้อ ต้องใช้ “ปัญญาจักขุ” จึงจะสังเกตเห็นได้ เพราะมันเร็วมากยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ ซึ่งเราเรียกว่า “ชั่วอารมณ์วูบเดียว” นั่นแหละ จุดเกิดของ “โกธะโทสะ” นั้น เกิดจาก “อรติ” ความไม่พอใจ พอไม่พอใจมากๆ เข้าก็เร้าให้เกิด “ปฏิมะ” ความหงุดหงิดกระวนกระวาย กลายเป็น “โกธะ” โกรธ เกลียดชัง กลายเป็นพลังให้เกิด “โทสะ” ความประทุษร้าย ทำลายล้างผลาญคนที่ตนมีความโกรธ ความเกลียด และความชังต่อไป นี่แหละคือจุดเกิดของ “โกธะ โทสะ” โปรดพากันจำไว้ให้ดี
ปัจจุบันทุกวันนี้ “คนระยำมีกิเลส” ประเภทโกธะ ความโกรธ ความเกลียด ความชัง และโทสะ ความประทุษร้าย ทำลายล้างผลาญ ระบาดทั่วไปในสังคมอย่างผิดสังเกต เป็นเหตุให้เกิดปัญหานานาประการ ในสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน เป็นภัยอันมหันต์เหลือที่จะพรรณนา เช่น ปัญหาผู้ก่อการร้ายในสามจังหวัดภาคใต้ ตายกันไม่เว้นแต่ละวัน ข้อสำคัญมันก็เกิดจาก “โกธะ” ความโกรธ ความเกลียด ความชัง และ “โทสะ” ความประทุษร้าย ทำลายล้างผลาญนั้นเอง ความโกรธ ความเกลียด ความชัง และความประทุษร้ายนี้ ถ้ามันอยู่ในหมู่ประชาชนคนธรรมดา ปัญหามันก็ไม่รุนแรงมากนัก ผลกระทบมันก็จำกัดอยู่ในวงแคบ แต่ถ้าหาก “คนระยำ มีกิเลส” ประเภทความโกรธ ความเกลียด ความชัง ความประทุษร้าย ขยายไปสู่ผู้หลักผู้ใหญ่มีอำนาจเงินอำนาจรัฐ บริหารประเทศชาติบ้านเมือง แล้วละก็อันตรายที่สุด เพราะจะให้ผลกระทบในวงกว้าง บุคคลต่างๆ ที่พวกเขาโกรธ เขาเกลียด เขาชัง เขาประทุษร้าย จะถูกพวกเขาทำลายล้างผลาญ ถูกประหารให้สิ้นซากไปจากสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันเหลือที่จะพรรณนา ดังที่เราท่านทั้งหลายเห็นในปัจจุบันทุกวันนี้
คนระยำมีกิเลสประเภท “โมหะ” พวกนี้ละเป็นอันตรายนักยิ่งกว่ายักษ์ยิ่งกว่าผี มีความเห็นวิปริต เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชั่วเป็นดี เห็นผีเป็นพระ เห็นธรรมะเป็นของล้าสมัย ไม่ทันกับความเจริญก้าวหน้า เป็นคนป่า คนเถื่อน เป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี ถ้าใครมีธรรมประจำใจเห็นไหมละ คนระยำมีกิเลสประเภท “โมหะ” รู้ผิด เข้าใจผิด มันมีฤทธิ์มีอำนาจ สามารถทำคนดีๆ ให้กลายเป็นผี เป็นเปรต ประเภทเที่ยวหลอกหลอนให้โง่เขลางมงาย ให้เชื่อสิ่งลมๆ แล้งๆ เชื่อเจ้าเชื่อผี คนดีๆ มีศีล มีธรรม ทำความดีแก่สังคมประเทศชาติบ้านเมืองก็หาเรื่องไปหลอกไปหลอนไปสอนคนให้เขาเชื่อว่า เป็นคนชั่ว คนไม่ดี คนเลวคนอันตราย จะทำลายประเทศชาติบ้านเมือง เรื่องเหล่านี้มีให้เห็นกันทั่วไปในสังคมปัจจุบันทุกวันนี้ นี่แหละพิษสงของคนระยำมีกิเลสประเภท “โมหะ” พระท่านสอนว่า “คนที่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิตใจแล้ว เขาย่อมไม่รู้อรรถ ย่อมไม่เห็นธรรม ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิตเมื่อไร ความมืดมิดทางจิตใจย่อมมีเมื่อนั้น” ดังนี้
คนระยำมีกิเลสประเภท “ริษยา อคติ” อิจฉาริษยาตาไฟ เห็นใครเขาทำดีได้ดี มีคนยกย่องทั่วไปในสังคมนิยม ชมชอบทั่วบ้านทั่วเมือง เรื่องเช่นนี้ คนระยำมีกิเลสประเภท “อิจฉา ริษยา” ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ เอาเสียเลย อยู่เฉยไม่ได้ หาอุบายทำลายความดีของเขาต่างๆ นานาสารพัด ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็เอาด้วยคาถา ไม่ได้ด้วยคาถาก็จ้างคนด่า คนทำลาย ร้ายนักพวกอิจฉาตาไฟ เกิดขึ้นที่ไหนมีในสังคมใด ก็บรรลัยที่นั้น เข้าขั้นไฟประลัยกัลป์ล้างโลกทีเดียว ดังธรรมภาษิตว่า “อรติโลกนาสิกา” ความริษยายังโลกให้ฉิบหาย
ประเภท “อคติ” ความลำเอียง ไม่เที่ยง, ไม่ตรง, ไม่คงเส้นไม่คงวา เอียงซ้าย เอียงขวา เอียงข้างหน้า เอียงข้างหลัง ลำเอียงเพราะชอบ ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะขลาด ลำเอียงเพราะเขลา (ฉันทา โทสา ภยา โมหาคติ) ถ้าชอบคนไหน พวกไหน แม้พวกนั้นจะทำผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายร้ายแรงอย่างไร ก็เห็นดีเห็นชอบ ประกอบความชั่วอย่างไรก็ไม่มีความผิด นี่คือลำเอียงเพราะชอบ ถ้าโกรธ ถ้าเกลียด ถ้าชังคนไหน พวกไหน จะทำดีอย่างไร ก็ยังเกลียดยังชังยังว่าไม่ดี บางทีไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ก็หาเรื่องว่าผิด นี่คือฤทธิ์ของคนระยำมีกิเลสประเภท “อคติ” นำมาให้เห็นเป็นตัวอย่าง เรื่อง “คนดีมีธรรม – คนระยำมีกิเลส” นำมาเสนอท่านทั้งหลายโดยย่อ ก็ขอสมมติยุติลงเพียงเท่านี้
เป็นคนดี ต้องมีธรรม โปรดจำไว้
นำไปใช้ ในชีวิต เป็นนิจสิน
ถ้าทุกคน มีธรรม เป็นอาจิณ
จะหมดสิ้น ปัญหา สารพัน
อันคนดี มีธรรม ประจำจิต
จะทำกิจ สิ่งใด ได้ฉับพลัน
ประสบสุข สดชื่น ทุกคืนวัน
จงพากัน มีธรรม นำวิญญาณ
ถ้าทุกคน มีพระธรรม นำชีวิต
จะพิชิต ทุกอย่าง ล้างหมู่มาร
ไม่ให้มี กำลัง อันกล้าหาญ
มาล้างผลาญ คนดี มีพระธรรม
ด้วยเหตุนี้ ขอคนดี จงหมายมั่น
พร้อมใจกัน ทำดี มีประจำ
อย่าปล่อยให้ ความชั่ว เข้าครอบงำ
มีพระธรรม นั่นแหละดี มีมงคล
คนระยำ มีกิเลส เศษมนุษย์
เลวที่สุด ดุจสัตว์ป่า น่าฉงน
เกิดเป็นคน ทำไม ไม่รักตน
ดันเป็นคน มีกิเลส ทุเรศจริง
คนระยำ มีกิเลส ทุเรศมาก
จึงขอฝาก ให้ระวัง ตั้งใจจริง
อย่าปล่อยให้ กิเลส เข้าแย่งชิง
อย่าประวิง ไล่มันไป ให้เร็วพลัน
ของเชิญชวน มวลประชา พากันคิด
เพื่อพิชิต กิเลสหนา สารพัน
ถอนรากเหง้า เค้ามูล ให้สูญพันธุ์
แล้วทุกคน จะพากัน สงบเย็น ฯ