อิ่มไม่เป็น

อิ่มไม่เป็น

อิ่มไม่เป็น
ตณฺหาย  นียติ  โลโก     ตณฺหาย  ปริกสฺสติ
กิสฺสสฺส  เอกธมฺมสฺส    สพฺเพว   วสมนฺวคู.
โลภถูกตัณหานำไป  ถูกตัณหาซัดไปรอบ  บุคคลทั้งปวงตกอยู่ในอำนาจแห่งธรรมอันเดียวคือตัณหาเท่านั้น
กาเมหิ  โลกมฺหิ   น  อตฺถิ  ติตฺติ.
ความอิ่มด้วยกามทั้งหลาย  ไม่มีในโลก
นตฺถิ  ตณฺหาสมา  นที.
แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา  ไม่มี
คนเรานี้ดู ๆ ก็แปลก   แปลกจริง ๆ …..  แปลกเอามาก ๆ เสียด้วย แปลกอย่างไรหรือท่าน ? อ๋อ ! แปลกอย่างนี้  คือเมื่อคนเรายังไม่มีอะไร  ยังไม่ได้อะไร  และยังไม่เป็นอะไร  คนเราก็มักจะคิดกันว่า แหม !   ถ้าเรามีอย่างนั้น  ได้อย่างนั้น  และเป็นอย่างนั้น  เราก็คงมีความสุขและสบายใจกับเขาบ้าง  ครั้นมีดังที่คิดไว้  ได้ตามที่คิดไว้  และเป็นตามที่คิดไว้แต่แรกแล้ว  ความคิดของคนเราก็เขยิบต่อไปอีกว่า  ขอให้เรามี  ให้เราได้และให้เราเป็นมากกว่านี้สักหน่อยก็จะดี  เท่าที่มี  เท่าที่ได้  และเท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้มันน้อยไป  แต่พอมีมากกว่าเก่า  ได้มากกว่าเก่า  และเป็นสูงกว่าเก่าสมความตั้งใจแล้ว   ความคิดของคนเราก็เลื่อนจากสิ่งเดิมหรือจากภาวะเดิม  ไขว่คว้าหาสิ่งใหม่  หาความเป็นใหม่ต่อไปอีก  ไม่มีที่สิ้นสุด  โดยมีความรู้สึกว่า  ถ้ามีอย่างโน้น  ได้อย่างโน้น  และเป็นอย่างโน้นแล้ว  คราวนี้คงพอแน่  และคงมีความสุขทุกอย่าง     อนิจจา ! ความคิดของคนเรา  วิ่งจากสิ่งนี้ไปหาสิ่งนั้น  วิ่งจากสิ่งนั้นไปหาสิ่งโน้น  วิ่งจากสิ่งโน้นไปหาสิ่งนู้น   ตีแผ่วงกว้างขยายออกไปเรื่อย ๆ  จากขนาดนี้ไปหาขนาดนั้น   จากขนาดนั้นไปหาขนาดโน้น   จากขนาดโน้นไปหาขนาดนู้น   เป็นอยู่อย่างนี้ไม่มีวันสิ้นสุดลงได้  นี้แหละคือความอยากของคนเรา  แปลกไหมละท่าน
ท่านผู้อ่านผู้ฟังทั้งหลาย  โปรดสำรวจตัวของท่านให้ดีแล้วตอบคำถามว่า  ความคิดของท่านเล่า  เป็นดังที่กล่าวมานี้บ้างหรือเปล่า ?  แน่นอนธรรมดาปุถุชนคนทั่วไปต้องมีความคิดดังกล่าวมานั้นเหมือน ๆ กัน  ต่างกันอยู่ก็แต่เพียงว่าใครจะมีมากหรือมีน้อยกว่ากันเท่านั้น   จริงดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความคิดของคนเรานี้  เหมือนกับอาการเคลื่อนไหวของลิงในป่า”  บรรดาลิงทั้งหลายที่อาศัยอยู่ตามป่านั้น  มันพากันกระโดดโลดเต้นไปตามกิ่งไม้  จากกิ่งนี้ไปหากิ่งนั้น  จากกิ่งนั้นไปหากิ่งโน้น  จากกิ่งโน้นไปหากิ่งนู้น   ไม่เคยหยุดนิ่งเลย  เพื่อความเข้าใจอันแจ่มแจ้งในเรื่องนี้  ขอพาท่านทั้งหลายไปศึกษาหาความรู้จากข้อความในรัฐปาลสูตร  ซึ่งมีข้อความและคติธรรมที่น่าสนใจมาก  โปรดติดตามได้ ณ บัดนี้
สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ได้เสด็จจาริกรอนแรมไปโปรดหมู่เวไนยนิกร  ตามชนบทราชธานีน้อยใหญ่  วันหนึ่ง  พระองค์ได้เสด็จไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีชื่อว่า “ถุลละโกฏฐิตานิคม”  ในแคว้นกุรุ  เกียรติคุณอันดีงามของพระองค์ที่ว่า “พระองค์เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้เองโดยชอบ  เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ   เสด็จไปดีแล้ว  เป็นผู้รู้แจ้งโลก”  เป็นต้น  ได้แพร่สะพัดไปในหมู่ประชาชนชาวกุรุรัฐอย่างรวดเร็ว  อันเป็นเหตุจูงใจให้ประชาชนที่มีความเลื่อมใสและไม่เลื่อมใสในพระองค์  ต่างก็อยากพบอยากเห็น  อยากรู้จัก  และอยากเข้าใกล้  ข่าวการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าได้แผ่กระจายไปตลอดทั้งถุลละโกฏฐิตะนิคม  ชาวแคว้นกุรุทั้งหลาย  ทั้งพราหมณ์  คฤหบดี  เศรษฐี  และชาวบ้านทั่ว ๆ ไป  ซึ่งเคยได้ยินเกียรติคุณของพระองค์อยู่ก่อนแล้ว  ต่างก็พากันตื่นเต้นดีอกดีใจ  ทุกคนคิดว่าการได้เห็นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ซึ่งเป็นพระอรหันต์หมดจดจากกิเลสนั้น   เป็นมงคลแก่ชีวิตและเป็นสิ่งที่หาได้ยาก  ด้วยเหตุนี้  จึงพากันหลั่งไหลไปเฝ้าพระองค์จนถึงที่ประทับ  บรรดาฝูงชนที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น  มีทั้งผู้ที่มีความเลื่อมใสอยู่ก่อนแล้ว  และพวกที่ยังไม่ถึงกับเลื่อมใส  เพราะฉนั้นเวลาเข้าเฝ้าจึงมีกิริยาอาการภายนอกที่แสดงออกต่าง ๆ กัน  พวกที่เลื่อมใสอยู่ก่อนแล้ว  ก็ถวายความเคารพด้วยอาการกิริยาอันนอมน้อม  ส่วนพวกที่ยังไม่เคยเลื่อมใสมาก่อน  บางพวกก็ได้แต่กล่าวปราศัย  บางพวกก็ประคองอัญชะลี  บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตรของตน  บางพวกก็ได้แต่นิ่งเฉยอยู่   ในบรรดาพวกที่เข้าเฝ้าครั้งนี้  มีชายหนุ่มคนหนึ่งรวมอยู่ด้วย  ชายหนุ่มคนนี้เขาเป็นบุตรสุดที่รักคนเดียวของคฤหบดีตระกูลสูงฐานะร่ำรวย  อยู่ในหมู่บ้านถุลละโกฏฐิตานิคมนั้นเอง  เขาชื่อ “รัฐบาล”  เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้ว  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลกทรงเริ่มแสดงธรรมีกถาพรรณนาหลักธรรมอันจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ให้ประชาชนทั้งหลายฟัง  พระธรรมเทศนาของพระองค์เป็นที่ดึงดูดโน้มน้าวจิตใจของประชาชนให้ดื่มด่ำในพระสัทธรรมยิ่งนัก  ทุกคนแสดงออกซึ่งความปราโมทย์อาจหาญร่าเริงอย่างเห็นได้ชัด และพร้อมแล้วที่จะยึดเอาพระธรรมเป็นเครื่องนำทางแห่งชีวิตตลอดไป  เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว  ประชาชนทั้งหลายต่างก็ทูลลาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากลับไปสู่ที่อยู่ของตนด้วยใบหน้าอันแจ่มใสและเบิกบาน  ปานประหนึ่งได้ยาทิพย์ชะโลมใจฉะนั้น
เมื่อฝูงชนทั้งหลายกลับกันหมดแล้ว  คงเหลืออยู่แต่ชายหนุ่ม “รัฐบาล”  คนเดียว  เขาไม่ยอมกลับบ้านเหมือนคนอื่น ๆ  พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าได้เข้าไปพัฒนาเปลี่ยนแปลงจิตใจของเขาเสียแล้ว  เพราะในขณะที่เขานั่งฟังเทศน์อยู่นั้น  เขาครุ่นคิดอยู่ว่า  ทำอย่างไรหนอเราจึงจะรู้ทั่วถึงซึ่งพุทธธรรมได้  และแล้วเขาก็คิดต่อไปอีกว่า  การครองชีวิตอยู่ในเพศของฆราวาสไม่มีโอกาสที่จะรู้ทั่วถึงซึ่งพุทธรรม  และประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงได้  ชีวิตของนักบวชเท่านนั้นเป็นชีวิตที่เหมาะสมกับการประพฤติชั้นสูง  ด้วยความเชื่อความเลื่อมใสอันแรงกล้าต่อพระศาสดาของเขา  เมื่อประชาชนกลับบ้านกันหมดแล้ว  เขาจึงรีบเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที  ครั้นแล้วก็กราบทูลขอบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า  พระพุทธองค์ได้ตรัสถามเขาว่า  มารดาบิดาของเธออนุญาตให้บวชแล้วหรือ ?   เขากราบทูลว่า  เรื่องนี้ยังไม่ได้แจ้งให้มารดาบิดาทราบเลย  พระศาสดารับสั่งว่า พระองค์ไม่ยอมบวชผู้ที่มารดาบิดายังไม่ได้อนุญาต   เมื่อเขาได้ทราบเช่นนั้น  จึงรับพระดำรัสของพระศาสดาไปขออนุญาตมารดาบิดาเพื่อการบวช  เขารีบกราบทูลลาพระพุทธเจ้าตรงไปยังบ้านของตนทันที  พอไปถึงได้เล่าเรื่องให้มารดาบิดาฟัง  พร้อมกับกล่าวขออนุญาตออกบวช  มารดาบิดาของเขาตกตะลึงอ้ำอึ้งพูดอะไรไม่ออกเพราะไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าบุตรสุดที่รักของตนจะคิดเช่นนี้  และแล้วมารดาบิดาชองเขาก็ไม่ยอมให้เขาบวช  พร้อมกับกล่าวออกมาด้วยความอาลัยอาวรณ์ว่า
“พ่อรัฐบาล  เจ้าเป็นบุตรสุดที่รักคนเดียวของพ่อของแม่ เป็นที่ปลื้มใจของพ่อของแม่  ลูกอยู่กับพ่อกับแม่ก็มีแต่ความสุข  ได้รับการเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอม  เจ้าต้องการอะไร  พ่อแม่ก็จัดการหาให้  พ่อแม่ตามใจเจ้าทุกอย่าง   เจ้าไม่เคยทุกข์ร้อนอะไรเลย  ทำไมลูกจึงจะหนีพ่อหนีแม่ไปบวชเสียเล่า  อย่าเลยลูกรัก ! เชื่อพ่อเชื่อแม่เถอะ  อีกประการหนึ่ง “เจ้ายังหนุ่มแน่น  ยังอยู่ในวัยกำลังเล่นกำลังกิน  กำลังสนุกสนานเพลิดเพลิน  จงยินดีในกามสุขอันเป็นยอดปรารถนาของชาวโลกเถิด  เจ้าจะต้องการอะไร  พ่อแม่ก็ทำให้ได้ทุกอย่าง  ขออย่างเดียวลูกอย่าบวชเท่านั้น  ทรัพย์สมบัติของเราก็มีพร้อมทุกอย่าง จงทำบุญไปพลางก่อน  พ่อ-แม่ไม่ต้องการให้เจ้าจากไป  ถึงเจ้าจะตายพ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะพลัดพรากจากเจ้า สำมะหาอะไรจักยอมให้เจ้าซึ่งยังมีชีวิตอยู่ออกบวชเล่าเห็นใจพ่อกับแม่เถิดลูกรัก”
ถึงแม้ว่า พ่อแม่จะพูดขอร้องต่าง ๆ อ้างเหตุผลมาประกอบด้วยประการใด ๆ ก็ตาม  เจ้าหนุ่มรัฐบาลก็ยืนกรานที่จะต้องออกบวชให้ได้  เหตุผลของมารดาบิดาไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงและกลับความตั้งใจของเขาได้  ฝ่ายพ่อแม่ทั้งสองก็ยืนยันไม่ยอมอนุญาตให้บวชท่าเดียว  เมื่อต่างฝ่ายต่างก็ยืนยันในความตั้งใจของตนอย่างเหนียวแน่นเช่นนั้น   ด้วยความตั้งใจที่จะออกบวชอย่างแน่แน่ว  ประกอบกับความน้อยใจเสียใจที่มารดาบิดาไม่ยอมอนุญาตให้บวช  รัฐบาลเจ้าหนุ่มผู้มีจิตศรัทธาอันแรงกล้าในการบวช  จึงตัดสินใจใช่ไม้ตายประท้วงมารดาบิดา  ด้วยการนอนลงพื้นดิน  ไม่ยอมกินข้าวกินน้ำและปริปากพูดอะไรกับใครทั้งนั้น  เขาตั้งใจไว้อย่างเด็ดเดี่ยวว่า  ถ้าไม่ได้ออกบวชก็จะยอมตายเสียดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป  เวลาล่วงไปได้ ๗ วัน  ทางฝ่ายมารดาบิดาเห็นว่า  ถ้าขืนปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปเช่นนี้ลูกต้องตายแน่นอน  จึงได้พร้อมใจกันเข้าประเล้าประโลมด้วยวิธีต่าง ๆ   แต่ก็ยังไม่ยอมอนุญาตให้บวชอยู่นั้นเอง  ข่าวการอดอาหารประท้วงมารดาบิดาของรัฐบาลได้แพร่สะพัดออกไปในหมู่เพื่อนฝูงของเขา  บรรดาเพื่อนฝูงพอได้ทราบข่าว  ต่างก็พากันมาปลอบใจและอ้อนวอน  ด้วยการพรรณนาถึงความสุขความสบาย  ความเพลิดเพลินเจริญใจในโลกียะวิสัย  จารไนกันไปร้อยแปดพันเก้า  เพื่อเร้าใจให้รัฐบาลเลิกล้มความตั้งใจในการบวชเสีย   แต่แล้วก็ไร้ผลไม่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์อะไรจะมาเปลี่ยนจิตใจของเขาได้เสียแล้ว   ในที่สุดเพื่อนของเขาเหล่านั้นมีความคิดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น  จึงพากันเข้าไปหามารดาบิดาของรัฐบาล  แล้วพูดให้เหตุผลว่า รัฐบาลนั้นต้องบวชแน่  ถ้าไม่ยอมให้บวชก็ต้องตายแน่อีกเหมือนกัน  ในระหว่างรัฐบาลบวชแต่เขายังมีชีวิตอยู่  และถ้าบวชอยู่ไม่ได้   เขาก็ต้องลาเพศออกมาอยู่บ้านตามเดิม   กันเขาไม่ได้บวชแต่ไม่มีชีวิตอยู่คือตาย   ควรจะเลือกเอาข้างไหนดี   มารดาบิดาของรัฐบาลตัดสินใจเลือกเอาข้างอนุญาตให้บวชและมีชีวิตอยู่   เพราะถ้าเขาอยู่ต่อไปไม่ได้ก็ต้องสึกออกมา  ดีกว่าไม่อนุญาตให้บวชแต่เขาตาย   แต่ได้พูดขอร้องว่าเมื่อบวชแล้วขอให้กลับมาเยี่ยมบ้านเป็นครั้งเป็นคราว  พวกเพื่อน ๆ เมื่อได้รับคำยินยอมจากมารดาบิดาของเขาเช่นนั้นแล้ว  จึงนำข่าวนั้นไปแจ้งให้รัฐบาลทราบ  พอเขาได้ทราบข่าวว่ามารดาบิดาอนุญาตให้บวชเท่านั้น  เขารู้สึกเสมือนหนึ่งได้ยาทิพย์ชะโลมใจ  ฉนั้น  เขาดีใจสุดประมาณแล้วค่อยพยุงกายลุกขึ้น  เขาตั้งใจบำรุงร่างกายให้มีกำลังพอสมควรแล้วก็รีบไปเฝ้าสมเด็จพระผู้พระภาคเจ้า  กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบโดยตลอด  เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเช่นนั้นแล้ว   ก็ทรงประทานการอุปสมบทให้เขาได้เข้าสู่ภาวะความเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา  สมตามปรารถนาที่เขาตั้งไว้แบบพลีชีวิตทีเดียว
เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่หมู่บ้านถุลละโกฏฐิตะนิคมเป็นเวลาประมาณครึ่งเดือนแล้ว   ก็เสด็จจาริกรอนแรมโปรดเวไนยสัตว์ไปตามคามนิคมชนบทโดยลำดับ  จนบรรลุถึงนครสาวัตถีประทับอยู่ในวัดเชตวันมหาวิหารอันท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย   ส่วนพระรัฐบาลก็ได้ตามเสด็จไปด้วยและในระหว่างนี้เอง  ท่านได้หลีกออกจากหมู่ไปสู่ที่วิเวก  ตั้งใจเจริญสมณธรรมคือวิปัสสนากรรมฐาน  ไม่นานนักท่านก็ได้บรรลุธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนา  กล่าวคือความเป็นพระอรหันต์  อันถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
ต่อมาภายหลัง  ท่านเห็นว่าได้ประสบผลสำเร็จในทางพระศาสนาแล้วจึงได้เข้าไปกราบทูลลาพระศาสดา  เพื่อกลับไปเยี่ยมมารดาบิดาตามที่ท่านทั้งสองขอร้องเอาไว้   พระศาสดาทรงใช้วิจารณญาณตรวจดูวาระจิตของพระรัฐบาลแล้ว   ทรงทราบชัดด้วยพระญาณของพระองค์ว่า  พระรัฐบาลได้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดแล้ว   ไม่อาจละเพศแห่งบรรพชิตกลับไปสู่ความเป็นคฤหัสถ์อย่างแน่นอน  จึงทรงประทานอนุญาตให้กลับไปเยี่ยมมารดาบิดาได้ตามประสงค์   พระรัฐบาลซึ่งบัดนี้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วได้จาริกรอนแรมไปโดยลำดับจนลุถึงหมู่บ้านถุลละโกฏฐิตะนิคมอันเป็นดินแดนแห่งมาตุภูมิของตน   ครั้นไปถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนแล้ว   แทนที่ท่านจะไปพักแรมที่บ้านของมารดาบิดา  ท่านกลับไปพักที่ “มิคาจีระ”  อันเป็นพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ  และในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นแทนที่ท่านจะไปฉันที่บ้านมารดาบิดา  ท่านกลับไปเที่ยวบิณฑบาตฉัน  อันนี้เป็นอริยประเพณีในวงศ์ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย  ในตอนเช้าวันหนึ่งพระรัฐบาลได้ออกบิณฑบาตในหมู่บ้านนั้นโดยลำดับ  จนกระทั่งถึงบ้านมารดาบิดาของท่าน   บิดาของท่านมองเห็นท่านเดินมาแต่ไกลจำไม่ได้ว่าเป็นบุตรของตน  นึกว่าเป็นพระทั่ว ๆ ไปที่ออกบิณฑบาตในตอนเช้าเป็นประจำ  และโดยเหตุที่บิดาของท่านยังมีความขุ่นเคืองอยู่ในใจไม่หาย  เพราะคิดว่าพระเป็นเหตุให้บุตรสุดที่รักคนเดียวของตนต้องออกบวช  พอเห็นพระเดินมาบิณฑบาตจึงพูดตัดพ้อต่อว่าต่าง ๆ นานา  ตามประสาของคนเสียใจ  และไม่ให้การต้อนรับอะไรทั้งสิ้น  ขณะนั้นพระรัฐบาลเดินผ่านบ้านท่านไปด้วยอาการอันสำรวม   พอดีเห็นสาวใช้ของญาติคนหนึ่งกำลังนำขนมบูดไปเททิ้ง เมื่อท่านเห็นเช่นนั้นจึงพูดกับสาวใช้คนนั้นว่า เมื่อขนมนี้จำเป็นต้องเททิ้งโดยเปล่าประโยชน์แล้ว  ก็ขอให้นำมาใส่บาตรของท่านเถิด  สาวใช้ก็ได้ปฏิบัติตามอย่างว่าง่าย   ในขณะที่เทขนมบูดลงในบาตรนั้นเอง  สาวใช้ก็จำนิมิตรที่มือ ที่เท้า  และจำเสียงของท่านได้  เธอจึงรีบกระวีกระวาดไปบอกมารดาบิดาของท่านให้ทราบ  สองสามีภรรยาฟังแล้วไม่ค่อยเชื่อนัก  แต่อดดีใจไม่ได้  ถึงกับให้สัญญากับสาวใช้คนนั้นว่า  ถ้าคำพูดของเธอเป็นความจริง  ท่านทั้งสองจะปลดเปลื้องจากความเป็นคนใช้ให้  บิดาของท่านรีบไปตามคำบอกของสาวใช้ก็ได้พบกับพระรัฐบาลกำลังนั่งฉันขนมบูดอยู่ใกล้ ๆ ฝาเรือนแห่งหนึ่ง  เมื่อไปพบบุตรในสภาพเช่นนั้น  บิดาของท่านรู้สึกเศร้าใจและเสียใจยิ่งนัก  จึงพูดขึ้นกับท่านด้วยเสียงอันดังว่า “พ่อรัฐบาล !  เป็นการสมควรแล้วหรือ  ที่พ่อต้องมานั่งกินขนมบูดข้างฝาเรือนแห่งคนอื่นเช่นนี้  บ้านของตนมี  ทำไมพ่อจึงไม่ไปกินที่บ้านเล่า  ไม่น่าเลยลูกรัก  ที่จะมาทำให้พ่อแม่พี่น้องขายหน้าเช่นนี้”
พระรัฐบาลท่านได้ตอบบิดาของท่านอย่างคมคาย  ตามแบบอย่างของผู้ได้บรรลุธรรมชั้นสูงแล้วว่า “อาตมาภาพออกบ้านเรือน  บวชเป็นพระเป็นสงฆ์แล้วจะมีเรือนมาแต่ไหน  เมื่อสักครู่นี้เอง  อาตมาได้ไปถึงเรือนของท่านแล้ว  แต่ไม่ได้รับการต้อนรับอะไรจากท่าน  ได้รับแต่การตัดพ้อต่อว่าแถมยังด่าด้วยวาจาหยาบคายเสียอีก”  บิดาของท่านเมื่อได้ฟังเช่นนั้นแล้ว  ถึงกับตกตะลึงนั่งนิ่งพูดอะไรไม่ออก  ในที่สุดเมื่อได้สติดีแล้ว  จึงออกปากนิมนต์ให้ท่านไปฉันที่เรือนของตน  แต่ท่านก็ปฏิเสธคำนิมนต์อีก  โดยบอกว่าวันนี้อาตมาฉันเรียบร้อยแล้ว  สมณะพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานี้   ฉันอาหารแต่เพียงมื้อเดียวเพียงเพื่อยังอัตภาพให้ทรงอยู่ได้เท่านั้น  บิดาของท่านจึงเปลี่ยนนิมนต์ให้ไปฉันในวันรุ่งขึ้น   ท่านจึงรับนิมนต์โดยอาการดุษณีภาพ คือรับโดยอาการนิ่ง
ความหวัง คนเราส่วนใหญ่อยู่กันได้เพราะความหวังเช่น คนจนหวังว่าจะรวย  คนป่วยหวังว่าจะหาย พวกเจ้าพวกนายหวังครองอำนาจ  พวกทาสหวังความเป็นไท  พวกโจรจัญไรหวังการปล้นจี้  พวกเจ้าหนี้หวังดอกหวังผล ฯลฯ  และมีหวังอะไรกันอีกมากมายบรรยายไม่หมด  นี้แหละคือความหวังของคนเรา  อยู่กันเพราะความหวังแท้   แต่แล้วมีใครบ้างเล่าที่สมหวัง  เห็นมีแต่คนผิดหวังกันทั้งนั้น  บางคนผิดหวังถึงกับร้องไห้ขี้มูกโป่งอยู่คนเดียวก็มี  ขอให้ทุกคนโปรดจำกันไว้ว่า  “เมื่อมีความหวัง  ความผิดหวังก็ย่อมมีเป็นของคู่กัน  ความหวังมีในที่ใด  ความผิดหวังก็มีในที่นั้น”   ในทำนองเดียวกัน “เมื่อไม่มีความหวัง  ความผิดหวังก็ไม่มี  ที่ใดไม่มีความหวัง ที่นั้นก็ไม่มีความผิดหวัง”
มารดาบิดาของพระรัฐบาลก็เช่นเดียวกับคนทั้งหลาย  เมื่อเห็นบุตรของตนกลับมาเยี่ยมบ้าน  ความหวังของมารดาบิดาก็กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง  คือหวังว่าจะให้พระลูกชายสึกออกมาสู่ความเป็นคฤหัสถ์อีก  ด้วยความหวังที่จะให้พระลูกชายสึกออกมานี้เอง  มารดาบิดาของพระรัฐบาล  เมื่อพระลูกชายจะมาฉันที่บ้านในวันรุ่งขึ้น  จึงพากันจัดงานเตรียมการชนิดต่าง ๆ ด้วยคิดว่าจะล่อใจพระรัฐบาลให้สึกออกมาจนได้  จัดการตกแต่งประดับประดาบ้านเรือนให้สวยงามเป็นพิเศษ  ขนเอาเงินเอาทองมากองไว้เป็นจำนวนมาก  และสั่งให้ภรรยาเก่า ๆ  ที่มีรูปร่างสวยงามสคราญตาของพระรัฐบาล  ให้แต่งตัวประดับประดาร่างกายด้วยชุดอันเคยเป็นที่โปรดปรานของพระรัฐบาลในสมัยก่อน  และให้จัดการปรุงอาหารให้มีรสอันประณีต  เมื่อได้เวลาฉันแล้ว  จึงให้คนใช้ไปเรียนนิมนต์ให้พระรัฐบาลทราบ
เมื่อพระรัฐบาลไปถึงบ้านก่อนที่จะลงมือฉันอาหาร  บิดาของท่านได้พูดจูงใจเพื่อให้ท่านสึกออกมาโดยอุบายและวิธีการต่าง ๆ  เช่น  พูดว่า “เงินทองที่กองอยู่เฉพาะหน้า  พร้อมทั้งทรัพย์สมบัติเหล่าอื่นอีกจำนวนมากมาย  บิดาขอมอบหมายให้ลูกปกครองแต่ผู้เดียว  ขอให้ลูกสึกออกมาเพื่อครอบครองทรัพย์สมบัติเหล่านี้  และทำบุญไปพลางเถิด”  พระรัฐบาลได้ตอบปฏิเสธความหวังของบิดาโดยสิ้นเชิง  โดยพูดออกมาเป็นหลักธรรมเพื่อเตือนใจของบิดาว่า  “ถ้าโยมพ่อจะทำตามคำของอาตมาได้  ขอให้ขนเอากองเงินกองทองเหล่านี้ไปเททิ้งเสียในแม่น้ำคงคา  เพราะทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านี้  จะเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าโศกและโทมนัสใจในภายหลัง”  ในขณะเดียวกันนั้น  บรรดาภรรยาเก่า ๆ  สวย ๆ ของท่าน  ต่างก็พากันแสดงบทบาทยั่วยุกามารมณ์  โดยการพร่ำรำพันค่อนขอดด้วยอาการต่าง ๆ  เช่น พูดว่า  นางฟ้าองค์ไหนหนอ  ที่เป็นเหตุให้ท่านต้องออกบวชประพฤติพรหมจรรย์  ท่านคงจะหลงใหลในเสน่ห์ของนางฟ้าเหล่านั้น  จนทำให้ลืมบรรดาภรรยาเก่า ๆ  ที่เคยทะนุถนอมมาแต่หนหลัง  แต่แล้วทุกคนก็ต้องผิดหวังไปตาม ๆ กัน  เพราะการประเล้าประโลมของบรรดาหญิงภรรยาเก่าเหล่านั้น  มันไม่ได้มีความหมายอะไรต่อท่านเลยแม้แต่น้อย  มันเหมือนกับอาการของคนกำลังบ้า  และท่านก็บอกแก่บรรดาภรรยาเก่าเหล่านั้นว่า  ท่านไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อนางฟ้าคนไหนดอก  แต่หากประพฤติพรหมจรรย์เพื่อเหตุผลในทางธรรม  อันคนอย่างพวกเธอยากที่จะเข้าใจกันได้  พระรัฐบาลเห็นว่าเรื่องอันไร้สาระเช่นนี้คงจะยืดเยื้อไปอีกนาน ท่านจึงพูดตัดบทกับบิดาว่า  “ถ้านิมนต์มาเพื่อให้ฉันก็จงให้ฉันเถิด  อย่าต้องให้ลำบากเพราะเรื่องอันไร้สาระเหล่านี้เลย”  บิดาของท่านจึงจำยอมถวายภัตตาหารแด่ท่านด้วยมือของตน  ครั้นพระรัฐบาลฉันเสร็จแล้ว  ท่านได้กล่าวอนุโมทนากถาตามแบบอย่างของพระอริยเจ้าทั้งหลาย  เพื่อเป็นการเปิดเผยให้เห็นจิตใจของบุคคลผู้เป็นพระอริยเจ้าแล้ว  ซึ่งเป็นจิตใจที่อยู่เหนือโลกยากต่อความคิดนึกของสามัญชน  มีใจความว่า
“จงมาดูอัตภาพอันวิจิตร  มีกายเป็นแผลคุ้มกันอยู่กระสับกระส่าย  เป็นที่กระหายของชนเป็นอันมาก  ไม่มีความมั่นคงและยั่งยืน
“จงมาดูรูปอันวิตรด้วยเครื่องประดับ  มีแต่โครงกระดูกที่มีซ้อนอยู่ภายใน  อันมีหนังห่อหุ้มไว้  งามอยู่ด้วยชุดเสื้อผ้า  เท้าที่ย้อมทาด้วยสีแดงสด  หน้าที่ไล้ด้วยแป้ง  ผมที่แต่งด้วยครีม  ตาที่เยิ้มด้วยยาหยอด  เหล่านี้พอจะหลอกคนโง่ให้หลงได้  แต่จะหลอกคนผู้แสวงหานิพพานไม่ได้เลย”
“ร่างกายที่เปื่อยเน่า  หากแต่ประดับไว้ด้วยเครื่องอลังการประดุจดังหีบศพ  ดูภายนอกก็งามดี  แต่ผีตายนอนอยู่ข้างใน  พอจะหลอกคนโง่ให้หลงใหลได้  แต่ไม่สามารถหลอกคนผู้แสวงหานิพพานได้เลย  เจ้าทั้งหลายเหมือนพรานเนื้อที่วางบ่วงดักเนื้อไว้  แต่เนื้อคือเราไม่หลงติดบ่วง  กินแต่เหยื่อแล้วก็ไป  ท่ามกลางความคร่ำครวญและเสียใจของพรานเนื้อ”
จบธรรมิกถาอนุโมทนาแล้ว   พระรัฐบาลก็กลับไปสู่มิคาจีระ พระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะตามเคย  ทิ้งความอาลัยอาวรณ์และความงุนงงสงสัยอัศจรรย์ใจไว้ให้แก่มารดาบิดาและภรรยาเก่าของท่าน  อาศัยโคนไม้แห่งหนึ่งในมิคาจีระพระราชอุทยานเพื่อพักผ่อนในเวลากลางวัน  ในขณะที่พระรัฐบาลพักอยู่ที่มิคาจีระพระราชอุทยานนี้เอง  พระเจ้าโกรัพยะได้ทราบข่าวการมาของท่านจากพนักงานรักษาพระราชอุทยาน  พระองค์ทรงมีความสนพระทัยในเรื่องราวของพระรัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว  พอได้ทราบข่าวจึงพร้อมด้วยราชบริพารเสด็จไปหาพระรัฐบาลถึงที่พัก  เมื่อเสด็จไปถึงทรงมีพระราชปฏิสันถารพอสมควรแล้ว  โดยที่พระองค์ทรงประหลาดพระทัยในการบวชของพระรัฐบาล  เพราะว่าตามที่พระองค์ทรงเข้าพระทัยมาแต่ก่อนนั้น  คนบางจำพวกที่ออกบวชนั้น  ก็เพราะความเสื่อม ๔ ประการ คือ  ความเสื่อมเพราะชรา  ๑  ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้ ๑  ความเสื่อมจากโภคทรัพย์  ๑  ความเสื่อมจากญาติ  ๑  แล้วทรงอธิบายต่อไปว่า
ที่ว่าเสื่อมเพราะชรานั้น  คือคนบางคนแก่เฒ่าชราแล้ว  กำลังวังชาก็ลดน้อยถอยลงตามลำดับ  คิดว่าจะทำมาหาเลี้ยงชีพต่อไปก็ไม่ไหว  จึงตัดสินใจออกบวช
ที่ว่าเสื่อมเพราะความเจ็บไข้นั้น  คือคนบางคนก็เป็นคนขี้โรค  ๓  วันดี  ๔  วันไข้  โรคภัยเบียดเบียนเป็นประจำ  ขืนอยู่ในฆราวาสก็ไม่สามารถประกอบการงานหาเลี้ยงชีวิตให้เป็นสุขต่อไปไม่ได้  เมื่อคิดเช่นนี้แล้วก็ออกบวช
ที่ว่าเสื่อมจากโภคทรัพย์นั้น  คือคนบางคนเคยมีฐานะร่ำรวย  เงินทองไหลมาเทมา  จะทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา  ครั้นต่อมาฐานะทางการเงินทรุดหนักทำอะไรมีแต่ขาดทุน  กลับเป็นคนยากจน  เข้าในหลักเศรษฐีตกยาก  จะทำอะไรก็มีแต่ความเสื่อม  เกิดความเอือมระอาในการที่จะปรับปรุงพยุงฐานะของตน ให้ดีขึ้นดังแต่ก่อน  อ่อนอกอ่อนใจในการอยู่ครองเรือน  เลยต้องออกบวช
ที่ว่าเสื่อมเพราะญาตินั้น  คนบางคนเคยมีญาติพี่น้องมิตรสหายพร้อมทั้งบริวารชนมากมาย  จะย่างกรายไปทางไหน  จะทำอะไร  ก็มีคนเสนอหน้ามารับใช้เหมือนกับเทพเจ้า  ครั้นเวลาต่อมา  คนเหล่านั้นก็ค่อยหายหน้ากันไปทีละคนสองคน  จนในที่สุดก็อยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย  คล้ายกับคนไร้ญาติขาดมิตร  ทำให้รู้สึกหงุดหงิดและว้าเหว่หดหู่ใจ  มองไปทางไหนก็ไม่เห็นที่พึ่งได้  เลยหมดกำลังใจในการสร้างหลักฐานต่อไป  จึงตัดสินใจออกบวช
ครั้นแล้วพระเจ้าโกรัพยะได้ตรัสถามพระรัฐบาลว่า  ก็พระคุณเจ้าไม่ได้ตกอยู่ในสภาพแห่งความเสื่อม ๔ ประการนั้นเลย  เพราะพระคุณเจ้ายังหนุ่มแน่น  มีผมดำสนิท  ร่างกายก็สมบูรณ์แข็งแรง  ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน  เป็นบุตรของคฤหบดีผู้มั่งคั่ง  พรั่งพร้อมไปด้วยทรัพย์สมบัติ  มีญาติมิตรบริวารปานประหนึ่งเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์  แต่ทำไมพระคุณเจ้าจึงออกบวชเล่า  ท่านได้รู้ได้เห็น  หรือได้ฟังธรรมะอะไรจากใคร  โปรดแจ้งให้โยมหายข้อข้องใจด้วยเถิดพระคุณเจ้า
พระรัฐบาลได้ถวายพระพรถึงสาเหตุที่ตนต้องออกบวชในพระพุทธศาสนา  แด่พระเจ้าโกรัพยะว่า  มหาบพิตร  การที่อาตมาต้องออกบวชนั้น  ไม่ใช่เพราะความแก่ชรา  ไม่ใช่เพราะโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน  และไม่ใช่เพราะความยากจน  ทั้งมิใช่เพราะความสิ้นญาติขาดมิตร  แต่อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งสิ้น  แต่เหตุที่อาตมาต้องออกบวชนั้น  เพราะอาตมาได้ฟังหัวข้อธรรมะ ๔ ประการ จากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อฟังหัวข้อธรรมะนั้นแล้ว  ทำให้มองเห็นความไม่แน่นอนในโลก  เห็นโลกเต็มไปด้วยความทุกข์อันน่าสะพรึงกลัว  ไตร่ตรองดูแล้วไม่เห็นมีอะไรแม้แต่นิดเดียวที่เป็นตัวของตัวเอง  โลกนี้คือทะเลแห่งความทุกข์  โลกนี้เต็มไปด้วยมายาแห่งความหลอกหลอน  ซึ่งคนเขลาหลงไหลกันอยู่  เมื่อรู้เห็นเช่นนี้  อาตมาจึงต้องออกบวชในพระธรรมวินัยของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  เพื่อหนีความทุกข์ในวัฏฏสงสาร  หลักธรรมที่อาตมาฟังนั้น  ท่านเรียกว่าธรรมุเทศมี  ๔ ประการ คือ
โลกคือหมู่สัตว์  ถูกชรานำเข้าไปไม่มีความยั่งยืน
โลกคือหมู่สัตว์  ไม่มีอะไรเป็นสิ่งต้านทาน  ไม่มีอำนาจยิ่งใหญ่ในตัวเอง
โลกคือหมู่สัตว์  ไม่มีอะไรเป็นของ ๆ ตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป
โลกคือหมู่สัตว์  พร่องอยู่เป็นนิตย์  ไม่รู้จักอิ่มเป็นทาสแห่งตัณหา
แล้วท่านได้อรรถาธิบายถวายแด่พระราชา  โดยยกเอาองค์พระราชาเป็นตัวอย่าง มีใจความว่า
ดูกรมหาบพิตร  ในสมัยที่มหาบพิตรมีพระชนมายุ ๒๐-๒๕ พระพรรษา   พระองค์ทรงสามารถในเพลงอาวุธต่าง ๆ เช่น เพลงช้าง เพลงม้า เพลงรถ เพลงธนู   ทรงกระทำได้คล่องแคล่วว่องไว  ทรงมีกำลังทางพระเพลาและพระพาหา   มีพระกำลังทางกายอันสามารถ  เคยผ่านสงครามมาแล้วอย่างโชกโชน   บางครั้งทรงประทับทำเพลงอาวุธอยู่บนคอคชสารเป็นเวลาหลายชั่วโมงก็มิทรงเหน็ดเหนื่อย  แต่มาบัดนี้พระองค์มีพระชนมายุ ๘๐ พระพรรษาแล้ว  ไม่สามารถจะทรงมีพละกำลังเช่นแต่ก่อนเลย   ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจาก  เจริญสู่ความเสื่อมพระกำลังลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ  จะลุกจะดำเนินก็งก ๆ เงิ่น ๆ เสด็จพระราชดำเนินไปไหนมาไหนแทบไม่ไหว  อวัยวะ ผิวพรรณ สีสรรทุกส่วน  ล้วนเปลี่ยนแปลงไปหมดสิ้น   พระเกษาเคยดำสนิทก็เปลี่ยนมาเป็นสีขาว   ผิวพรรณเคยเปล่งปลั่งเต่งตึง  ก็กลับหย่อนยานเหี่ยวย่นปนตกกละ   พระเนตรทั้งคู่เคยแจ่มใสมองได้ไกลเหมือนตามิคะ  ก็กลายเป็นขุ่นมัวฝ้าฟาง   พระทนต์เคยแน่นหนากลับโยกคลอนล่วงหลุด  ต้องใช้ฟันสมมติฟันปลอมแทน  นี้แหละคือความหมายของคำว่า “โลกคือหมู่สัตว์  ถูกชรานำเข้าไปไม่ยั่งยืน”
ดูกรมหาบพิตร  บางครั้งบางสมัยพระองค์เคยทรงประชวรหนัก  บรรดาพระมเหสีสนมกำนัลไน  พระราชปิโยรส  และเหล่าข้าราชบริพาร  พากันแวดล้อมพระองค์อย่างพร้อมพรั่ง  และพร้อมแล้วที่จะยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อพระองค์ในเมื่อพระองค์รับสั่ง  แต่ไม่มีใครเลยสักคนเดียวที่พระองค์จะขอร้องให้เขาเหล่านั้นมาช่วยแบ่งเบาความเจ็บปวดแทนพระองค์ได้เลย  พระองค์ต้องทนเสวยความเจ็บปวดทุกขเวทนานั้นด้วยพระองค์เอง  พระราชสมบัติของพระองค์จำนวนมากมายนับไม่ถ้วน  แต่จะนำเอามาถ่ายถอนซื้อเอาความเจ็บปวดทุกขเวทนาก็ป่วยการ  อีกทั้งกำลังทัพของพระองค์ทุกเหล่า  พลช้าง พลม้า พลรถ พลบทจรเดินเท้า  ซึ่งพระองค์ทรงฝึกมาแล้วอย่างช่ำชอง  แต่จะนำมาประลองยุทธกับกองทัพพระยามัจจุราชอันมีความแก่และความตายเป็นนายทัพ  ย่อมไม่มีทางจะต้านทานได้  มีแต่จะปราชัยพ่ายแพ้ในที่สุด  นี้แลคือความจริงในข้อที่กล่าวว่า “โลกไม่มีผู้ต้านทาน  ไม่มีอำนาจอันยิ่งใหญ่ในตัวเอง”
ดูกรมหาบพิตร  ในชีวิตปัจจุบันนี้  พระองค์ทรงบริบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ศฤงคารทั้งที่เป็นสวิญาณกะทรัพย์  และอวิญญาณกะทรัพย์นับจำนวนไม่ถ้วนทีเดียว  พระองค์จะทรงปรารถนาอะไรในพื้นพิภพนี้  ก็คงเป็นไปตามพระราชประสงค์นั้นทุกประการ  แต่พระองค์จะทรงปรารถนาให้พระมเหสี พระราชโอรส – ธิดา  ตลอดจนสนมกำนัลใน  ข้าราชบริพาร  และพระราชสมบัติ  ให้เป็นของพระองค์ต่อไปในโลกเบื้องหน้านั้น  ย่อมเป็นไปไม่ได้  สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น  ต่อไปก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของคนอื่น   ส่วนพระองค์เองก็คงเป็นไปตามยถากรรมตามธรรมะข้อที่ว่า “โลกไม่มีอะไรเป็นของตน  จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป”
ดูกรมหาบพิตร  ปัจจุบันนี้  พระองค์ครอบครองราชสมบัติในแว่นแคว้นกุรุรัฐอันเจริญรุ่งเรืองอยู่แล้ว  เมื่อมีราชบุรุษอันควรเชื่อถือได้เข้ามาเสนอแนะให้พระองค์ขยายอาณาเขตดินแดน  เพื่อเถลิงอำนาจในดินแดนอื่น ๆ ทั่วทิศานุทิศ  และราชบุรุษก็กราบทูลว่า พระองค์สามารถชนะและครอบครองดินแดนนั้น ๆ โดยไม่ยาก  พระองค์ก็ทรงปรารถนาเช่นนั้นทั้ง ๆ ที่พระองค์ก็ทรงมีกุรุรัฐครอบครองอยู่แล้ว   แต่ก็ทรงปรารถนาขยายอาณาเขตออกไปเรื่อย ๆ จากรัฐหนึ่งสู่อีกรัฐหนึ่ง  จากรัฐนี้ไปสู่รัฐนั้น  จากรัฐนั้นไปสู่รัฐโน้น  จากรัฐโน้นไปสู่รัฐนู้น  จากหนึ่งเป็นสองจากสองเป็นสาม   จากสามเป็นสี่  จากสี่เป็นห้า  จากห้าเป็นหก  เรื่อยไปไม่จำกัดขอบเขต   ความอยากได้  อยากมี  และอยากเป็นของมนุษย์ไม่มีวันสิ้นสุด  หาเวลาพอ  หาเวลาเต็ม และหาเวลาอิ่มไม่ได้เลย  อยากจนกระทั่งถึงวันตาย  ก่อนตายยังสั่งคนภายหลังให้เขาทำศพอย่างนั้นอย่างนี้อีก  นี้แหละคือความจริงในข้อที่ว่า “โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์  ไม่รู้อิ่ม  เป็นทาสแห่งตัณหา”
พระรัฐบาลได้จบการสนทนากับพระเจ้าโกรัพยะลงด้วยการเน้นหนัก  ในหลักธรรมุเทศเป็นใจความอันมีสาระน่าศึกษาว่า
มนุษย์ส่วนมากในโลก  มีจิตใจเต็มอัดไปด้วยความอยากมากไปด้วยความลุ่มหลงมัวเมา  เมื่อมีทรัพย์แล้วก็หลงไหลติดในทรัพย์  ไม่ยอมให้ไม่ยอมเสียสละ  เหมือนกับมดแดงหวงรัง   บางคนบางพวกซ้ำยังแสวงหาและสะสมทรัพย์ด้วยความโลภจัด   ได้เท่าไรก็ไม่พอ  มีเท่าไรก็ไม่อิ่ม  เป็นเท่าไรก็ไม่สมอยาก  เหมือนกับเปรตจำพวกท้องเท่าภูเขาปากเท่ารูเข็ม  แม้จะกินอะไรเข้าไปมันก็ไม่ทันกับความต้องการ  น่าสงสาร อนิจจา !   ความอยากของมนุษย์  จะอยากกันไปถึงไหนเล่า?  บางคนได้เป็นใหญ่เป็นโตขนาดผู้ปกครองรัฐปกครองประเทศ  แต่ก็ยังปรารถนาความยิ่งใหญ่เหนือความยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก  ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักเต็ม  คนทุกระดับชั้นยกเว้นพระอรหันต์  แม้เขาจะเข้าถึงความตาย  ก็ไม่หายจากความทะยานอยาก  ตายไปทั้ง ๆ ที่มีความอยากความหิว  และความไม่อิ่มในสิ่งทั้งหลายนั้นเอง  สมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความอิ่มในกามทั้งหลาย   ไม่มีในโลก”
มนุษย์ทุกรูปทุกนามไม่เลือกหน้า  ไม่ว่าพระราชา มหาอำมาตย์  เศรษฐี  คฤหบดี  หนุ่มแก่ ยากจน คนพาล และบัณฑิต  ล้วนแล้วแต่ต้องตายไปจากโลกนี้ด้วยกันทั้งนั้น   ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์กว่ากันเลย  และทั้งไม่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์อะไรจะมาต้านทานได้ด้วย  จำต้องจากสิ่งทั้งปวงไป  เหลืออยู่ก็แต่ความโศกเศร้าเสียใจอาลัยอาวรณ์และเสียงร้องไห้คร่ำครวญของมวลญาติผู้อยู่ข้างหลังเท่านั้น   ที่เป็นสัญญลักษณ์ของความตาย  และก็ตายไปในลักษณะที่เหลืออยู่แต่ผ้าพันกาย  ไม่มีสมบัติอะไรติดตัวไปเลย  แม้ญาติจะจัดให้บ้างด้วยความรักก็เอาไปใช้ไม่ได้  นอกจากจะเป็นเหยื่อแห่งไฟบนเชิงตะกอนเท่านั้น  ทุกคนต้องละทิ้งทรัพย์สมบัติและความยิ่งใหญ่ไว้  เป็นสมบัติที่คนอื่นจะต้องแย่งชิงกันครอบครองต่อไป  ส่วนตัวเองก็ไปตามยถากรรมปราศจากผู้ติดตามใด ๆ ทั้งสิ้น
ภายใต้อำนาจแห่งชราและมรณะนั้น   ทรัพย์สมบัติและอำนาจความยิ่งใหญ่ย่อมไม่มีความหมายอะไร เวลาแห่งชีวิตมีน้อยไม่มีนิมิตเครื่องหมายอะไรบอกเวลาห่งชีวิตไว้ว่า  ใครจะตายในเวลาไหน วัน เดือน ปีอะไร  และที่ไหน  ด้วยโรคอะไร  คนทุกคนทั้งโง่และฉลาด  นักปราชญ์และคนพาล  ร่ำรวยและยากจน  เกิดในตระกูลสูงตระกูลต่ำ  ล้วนแล้วแต่จะต้องเผชิญหน้าต่อชราและมรณะเช่นเดียวกัน  ต่างกันอยู่ก็เฉพาะในด้านจิตใจเท่านั้น  คือคนโง่เผชิญหน้ากับชราและมรณะด้วยความขยาดหวาดกลัว  บางคนถึงกับร้องไห้ไม่อยากแก่ไม่อยากตายก็มีถมไป  แต่อย่าลืมว่าพระยามัจจุราชไม่เคยใจอ่อนและคิดสงสารผู้ใด  แม้ผู้นั้นจะร้องไห้น้ำตาแทบเป็นสายเลือดก็ตาม  พระองค์ปฏิบัติหน้าที่อันเที่ยงตรงและยุติธรรมที่สุด  คำสั่งของพระองค์เป็นประกาศิตอันใคร ๆ จะคัดค้านมิได้  ส่วนคนฉลาดปราชญ์ผู้รอบรู้มีภูมิปัญญาสูงรู้เท่าทันความเป็นไปแห่งชีวิต  ย่อมไม่คิดหวาดหวั่นพรั่นพรึงต่ออำนาจของชราและมรณะ  ย่อมเผชิญหน้ากับพระยามัจจุราชด้วยความองอาจและกล้าหาญ  ทั้งนี้ก็เพราะคนฉลาดมีปัญญา  คนโง่ขาดปัญญา  ดังนั้น   ปัญญาจึงประเสริฐกว่าทรัพย์  เพราะทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้
เพราะขาดปัญญาอันรู้เท่าทันความเป็นจริงของสังขาร  มนุษย์ส่วนมากจึงพากันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารภพแล้วภพเล่า   โดยที่ไม่รู้จักเบื้องต้นเบื้องปลายของชีวิต  แล้วก็พากันมัวเมาลุ่มหลงทำบาปทำกรรมนานาชนิด  ซึ่งก็ต้องเดือดร้อนเพราะกรรมของตนทั้งในปัจจุบันและอนาคต   เพราะคนขาดปัญญาอีกเช่นกัน  จึงทำให้มองไม่เห็นโทษของกามคุณอันเต็มไปด้วยมายาแห่งความหลอกหลอนชวนให้พิสวาท  พวกคนพาลพากันติดอยู่ในรสชาติอย่างถอนตัวไม่ขึ้น  คนมีปัญญาเท่านั้นจึงจะมองเห็นโทษของกามคุณ  และดำเนินชีวิตอยู่ในโลกด้วยความรู้เท่าทัน  ละความยินดีและความยินร้ายในกามคุณนั้นเสีย  จิตใจก็เป็นอิสระเหนือโลกียะอารมณ์ทั้งปวง  นั้นแลคือจุดหมายอันสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนา
พระเจ้าโกรัพยะทรงสดับธรรมเทศนาของพระเถระด้วยความพอพระทัย  และทรงอัศจรรย์ยิ่งนัก  เพราะข้อความอันประกอบด้วยอรรถด้วยธรรมเช่นนี้  พระองค์ไม่เคยสดับมาจากใครแต่ก่อนเลย  พระองค์ทรงน้อมรับหลักธรรมุเทศของพระพุทธเจ้า  ซึ่งพระรัฐบาลนำมาแสดงครั้งนี้ว่า  เป็นสัจธรรมซึ่งไม่เคยมีปรากฏในลัทธิคำสอนของศาสดาองค์ใดมาก่อนเลย  พระเจ้าโกรัพยะเมื่อได้ทรงสดับธรรมีกถาจบลงแล้ว  พระองค์ก็ทรงหายข้อข้องใจในการออกบวชโดยประการทั้งปวง   พระองค์ได้ทรงกล่าวรับรองธรรมเทศนาของพระเถระว่าเหมือนหงายของที่คว่ำ  เปิดของที่ปิด  บอกทางให้แก่คนหลงทาง  ชูดวงประทีปในที่มืด  เพื่อให้คนตาดีมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ฉนั้น  จากนั้นพระองค์ก็ทรงลาพระเถระ  เสด็จนิวัตสู่พระราชนิเวศของพระองค์พร้อมทั้งราชบริพาร
ข้อที่ควรสนใจ  เรื่องการบวช  พระเจ้าโกรัพยะทรงเข้าพระทัยว่า  การบวชของคนส่วนมากเนื่องมาจากสาเหตุแห่งความพลาดหวังในทางโลก  ฉนั้นการบวชจึงไม่มีความหมายอะไร  เพราะเป็นที่รวมของคนผิดหวัง  แต่ในกรณีการบวชของพระรัฐบาลนั้น  เท่าที่พระองค์ทรงทราบ  พระรัฐบาลไม่เคยมีความพลาดหวังและผิดหวังในเรื่องอะไรมาก่อนเลย  มิหนำซ้ำยังสมบูรณ์ด้วยกามสุขทุกอย่าง  แต่ถึงกระนั้นพระรัฐบาลก็ยังละทิ้งสมบัติออกบวช  โดยที่ไม่มีความอาลัยในสมบัติเหล่านั้นเลย  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระองค์สนพระทัยในการบวช  พระรัฐบาลได้ชี้แจงเหตุผลในการบวชถวายพระเจ้าโกรัพยะในลักษณะที่ถูกต้องว่า  การบวชนั้นเป็นไปในลักษณะที่มีความหมายอันสูงส่ง  คือบวชเพราะมองเห็นโทษทุกข์ภัยในวัฏฏสงสาร  บวชเพื่อแสวงหาทางรอดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง  บวชเพื่อกำจัดความเมาบรรเทาความหิวกระหาย  ทำลายความอาลัยในกามคุณ  ตัดความวิ่งวุ่นในวัฏฏสงสาร  เผาผลาญตัณหามิให้เหลือ  อันไม่มีเชื้อแห่งความทะยานอยาก  นี่คือเหตุผลที่พระรัฐบาลต้องออกบวช  เรื่องนี้น่าจะเป็นข้อสังเกตของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย  คือควรจะพากันมองการบวชในทัศนะที่ถูกต้อง  และในความหมายที่สูง  ไม่ใช่มองการบวชในความหมายที่เหยียบย่ำ  การบวชเป็นวิธีชักฟอกจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด  มิใช่เป็นถังขยะสำหรับรวบรวมสิ่งสกปรกโสโครก  คนที่มองการบวชในแง่ดี  เมื่อบวชเข้ามาก็มีคุณค่าควรแก่การสักการบูชา  ถ้ายังไม่ได้บวชก็เป็นคนมีความเห็นอันถูกต้อง  เป็นสัมมาทิฏฐิ  ส่วนคนที่มองการบวชในแง่ร้าย   เมื่อบวชเข้ามาก็ทำให้พระศาสนามัวหมอง  ถ้ายังไม่ได้บวชก็เป็นคนมิจฉาทิฏฐิมีความเห็นผิดจากครองธรรม  เป็นกรรมอันหนัก  โปรดพากันสังวรให้ดี
บ่อที่ถมไม่เต็ม   ในหลักธรรมุเทศ ๔ ประการ ข้อสุดท้ายที่ว่า “โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์  ไม่รู้จักอิ่มเป็นทาสแห่งตัณหา”  ธรรมะข้อนี้สูงเกือบจะสุดเอื้อมทีเดียว  แต่ก็ขอให้ทุกคนเอื้อมกันดู  อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการถ่วงความอยากของตนไว้  อย่าให้มันวิ่งออกหน้าจนมองไม่เห็น
ตามวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์  มวลมนุษย์ทั้งหลายในโลกได้ดิ้นรนต่อสู้เพื่ออิสระภาพ  เพื่อความเป็นไทให้หลุดพ้นจากความเป็นทาส  เรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย  และก็ได้ผลสำเร็จบ้างตามสมควร  จนในปัจจุบันทุกวันนี้  เรื่องความเป็นทาสของมนุษย์ยังมีเหลืออยู่น้อยมาก  แต่นั่นก็เป็นเพียงความหลุดพ้นจากความเป็นทาสทางร่างกายและความเป็นทาสของคนอื่นเท่านั้น   ส่วนความเป็นทาสทางจิตใจของตนเอง  หรือความเป็นทาสแห่งกิเลสตัณหานั้น เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะปรากฏนักในประวัติศาสตร์ทางโลก  มีปรากฏชัดอยู่ก็แต่ในประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ระบุว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงดิ้นรนต่อสู้เพื่อความหลุดพ้นจากความเป็นทาสของกิเลส  และก็ทรงประสบผลสำเร็จอันใหญ่หลวง   ดังที่ปรากฏเป็นผลงานของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวโลกอยู่ในปัจจุบันนี้   ด้วยเหตุนี้  พระองค์จึงตรัสว่า “โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์  ไม่รู้จักอิ่มเป็นทาสแห่งตัณหา”  อันมีความหมายว่า บรรดามนุษย์ทั้งหลายยกเว้นพระอริยเจ้าเสียแล้ว  ล้วนตกเป็นทาสแห่งความอยากอันเป็นกิเลสภายในจิตใจของตนเองทั้งนั้น  ข้อนี้เป็นความจริงทีเดียว   มนุษย์เรานี้ทุกคนเป็นนักวิ่งมาราธอนด้วยกันทั้งนั้น  หมายความว่า ทุกคนวิ่งไล่กวดความอยากของตนเองอย่างน่าสงสาร  ความอยากมันเป็นนายที่โหดร้ายทารุณที่สุด  มันใช้ให้เราไล่กวดมันอย่างไม่เลือกเวลาสถานที่  สิ่งที่อยากนั้นมันก็มีมากมายก่ายกอง  อยากมีนั่น อยากมีนี่  อยากเป็นนั่น  อยากเป็นนี่   มีนั่นมีนี่  เป็นนั่น เป็นนี่แล้ว  ก็อยากมีอยากเป็นยิ่ง ๆ ขึ้นไป  เมื่ออยากอะไรขึ้นมาเราก็ต้องรับใช้มันอย่างหัวชุกหัวชุน  รับใช้มันเสร็จแล้วคิดว่าจะพอก็เปล่า   พอสมอยากอย่างนั้นแล้ว  ก็เปลี่ยนไปอยากอย่างอื่นอีก  เป็นอยู่อย่างนี้แหละจนกว่าจะตาย  ตายแล้วจะหมดความอยากหรือเปล่าก็ไม่รู้  เห็นหรือยังว่า  กิเลสมันบังคับใช้เราขนาดไหน   ถ้ายังมองไม่เห็นก็โปรดติดตามต่อไป  กิเลสทางตามันใช้ให้เราดู  ดูแล้วไม่ดูเปล่า  มันใช้ให้เรารักให้เราเกลียด   พอความรักมันเกิดขึ้นความรักนั้นมันใช้ให้เราวิ่งตามมัน  ไม่ว่าเวลาไหน  พอความรักมันใช้แล้ว  เจ้าตัวจะต้องวิ่งรับใช้มัน  ค่ำคืนดึกดื่น บุกป่าผ่าดงลงความรักมันใช้แล้วต้องสนองมันทันที  ไม่เคยหวาดหวั่นต่ออุปสรรค์อันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น   บางครั้งความรักมันชักให้วิ่งเข้าไปหาความตาย  บางรายวิงหนีพ่อหนีแม่แหวกประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษ  นี้แหละคืออำนาจของความรักละ  มันเป็นนายที่ร้ายกาจสามารถบังคับคนที่หลงไหลในมันให้รับใช้มันเสมือนทาสในเรือนเบี้ย  นอกจากนี้  ความรักยังบังคับให้มนุษย์รบราฆ่าฟันแย่งชิงกันเหมือนสุนัขในฤดูผสมพันธุ์  เช่น นิยายรามเกียรติตอนชิงนางสีดาเป็นตัวอย่าง  ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  ชี้ให้เห็นความรักที่ปราศจากคุณธรรม  ถ้าความรักที่มีคุณธรรมแฝงอยู่ก็พอทำเนา  แต่ก็ทำเอาคนที่รักให้เซ่ออยู่ตลอดเวลา
ส่วนกิเลสทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ  ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับทางตา  มนุษย์ปุถุชนทุกคนพยายามดิ้นรนแสวงหาสิ่งทั้งหลายมาสนองความอยากของตน  แต่แล้วมันก็ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักเต็มสักที  แผ่นดินที่เป็นหลุมเป็นบ่อ   แม้จะลึกและกว้างขนาดไหน   ก็ไม่พ้นจากความพยายามของมนุษย์ที่จะถมให้มันเต็มได้  แต่มันน่าอนาถใจที่ความอยากของคน  ถมเท่าไร ๆ ก็ไม่รู้จักคำว่า “เต็ม”   อนึ่ง  ความอยากนั้นมันใช้ให้คนเราวิ่งอย่างไม่เป็นระเบียบเสียด้วย  คือวิ่งอย่างไม่มีกติกาสัญญา  วิ่งเปะปะออกนอกลู่นอกทางไปตามความอยาก  ดูแล้วมันสับสนกันไปหมด  บางทีก็วิ่งเป็นเส้นขนานกันไป  คือมันอยากคนละอย่าง  แล้วต่างคนต่างก็วิ่งไปตามความอยากของตน  แต่บางทีความอยากมันก็ใช้ให้คนเราวิ่งเป็นเส้นบรรจบ  คือคนหลายคนเกิดความอยากในสิ่งเดียวกัน  ต่างก็วิ่งไขว่คว้าในสิ่งนั้น  ในที่สุดก็วิ่งไปชนกันเข้า  ดังในกรณีที่มีเรื่องพิพากแย่งชิงคนรักหรือทรัพย์สมบัติของกันเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายต่าง ๆ  บางรายถึงกับฆ่ากันตาย  นี้แลคือเดชแห่ง “ความอยาก”  โปรดจำกันไว้ที่หน้าที่หลังระวังอย่าวิ่งไปชนกันเข้า  เพราะเหตุแห่งความอยาก
ท่านผู้อ่านผู้ฟังทั้งหลาย  แล้วพวกเราจะทำอย่างไรกันดีละ  เพราะทุกคนต่างก็ยังมีความอยากอยู่  ทุกคนยังต้องแสวงหาทรัพย์สมบัติมาเลี้ยงตนและครอบครัว  ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่จะอยู่เฉย ๆ โดยไม่ต้องทำอะไร  หากใครทำตนเช่นนั้นก็จะถูกหาว่าเอาเปรียบสังคม  แล้วจะทำกันอย่างไรดีเรื่องนี้ขอเสนอแนะว่า  ท่านทั้งหลายพยายามทำงานกันไปเถอะ  ทำเท่าไรไม่ว่า  ขยันเท่าไรยิ่งดี  ขออย่างเดียวอย่าให้ความอยากมันวิ่งออกหน้าก็แล้วกัน  จงทำงานให้เป็นงาน  ให้ถืองานเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำ  การทำงานตามหน้าที่นั้นแล  คือการปฏิบัติธรรมะไปในตัว  การทำงานเพื่อให้งานสำเร็จ  และทำงานตามหน้าที่นั้น   กิเลสตัณหามันวิ่งออกหน้าไม่ได้   ในขณะเดียวกันปัญญาก็เป็นผู้นำทาง  เมื่อปัญญาออกหน้าหรือปัญญานำทางแล้ว  ทำงานไปเถอะ  เจ้าความอยากไม่มีโอกาสโผล่หัวแล้วเราก็ไม่ต้องกลัว  เจ้าความอยากอันเคยเป็นนายที่ทารุณโหดร้ายนั้น  มันจะต้องสิ้นลงในโอกาสใดโอกาสหนึ่งอย่างแน่นอน   นี้แลคือที่สุดแห่งทุกข์ตามหลักของพระพุทธศาสนา

  • Client: Citroën