แก่นคน

แก่นคน

แก่นคน

สารญฺจ  สารโต  ญตฺวา       อสารญฺจ  อสารโต    เต  สารํ  อธิคจฺฉนฺติ      สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา.   คนเหล่าใดเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ  และเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าไม่เป็นสาระ    ชนเหล่านั้น  มีความดำริชอบเป็นโคจร  ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ

แก่นคน ต้นไม้ในป่าธรรมชาติสร้างมามีอยู่ ๒ ชนิด คือ ไม้เนื้อแข็ง  และไม้เนื้ออ่อน  ไม้เนื้อแข็งเป็นต้นไม้ชนิดที่มีแก่น  ไม้เนื้ออ่อนเป็นต้นไม้ชนิดที่ไม่มีแก่น   ในบรรดาต้นไม้สองชนิดนี้  ต้นไม้ที่มีแก่นมีประโยชน์มาก มีค่าสูง ราคาก็แพง  ใคร ๆ ก็ต้องการ  เพราะทนทานแข็งแรง ทนแดด ทนฝน ทนลม ทนฟ้า ฝังไว้ในดินก็ทนอยู่ได้นาน แช่ไว้ในน้ำก็ไม่ผุ อยู่ได้หลายสิบปี  ที่สำคัญคือปลวกไม่กล้าแทะ  นี่แหละคือคุณค่าของไม้มีแก่น  ส่วนไม้เนื้ออ่อนไม่มีแก่นใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน  แต่ไม่มากนัก ค่าก็ไม่สูง ราคาก็ต่ำ  เพราะไม่คงทนแข็งแรง  ตากแดด  ก็ไม่ทน  ถูกฝนมากก็ไม่ได้  ร้ายไปกว่านั้น  ก็คือเป็นเหยื่อปลวกได้ดีนัก  นี่คือลักษณะไม้เนื้ออ่อน  ดังนั้น  คำว่า “แก่น”  จึงหมายถึงสิ่งที่เป็นของแท้ เป็นแก่น เป็นประธาน  เช่น แก่นพระศาสนา ก็หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา  แก่นสารก็หมายถึงสิ่งที่ตั้งมั่น สิ่งที่ถาวร สิ่งที่ไม่เหลวไหล  นี่คือความหมายของคำว่า “แก่น”  แก่นคน  ก็คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตจิตใจของคนหนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจกิเลสตัณหา  ไม้แก่นหรือแก่นไม้  มีประโยชน์แก่คนเราอย่างมหาศาล  เหลือที่จะพรรณนา  แต่ว่าต้นไม้จะมีแก่นหรือเป็นแก่นให้คนเราใช้ประโยชน์ได้ต่าง ๆ นานานั้น  มันก็ยืนหยัดต่อสู้กับดินฟ้าอากาศ  ธรรมชาติมาอย่างยืดเยื้อยาวนาน เพื่อให้มีแก่นให้เป็นแก่น  อนุเคราะห์ช่วยเหลือผู้ต้องการได้  ไม้มีแก่นสามารถอำนวยประโยชน์แก่ผู้ต้องการประโยชน์จากต้นไม้ทุกแง่ทุกมุมในทำนองเดียวกัน   คนเราถ้าพยายามฝึกฝนอบรมตนเองให้เจริญคุณธรรม  และศีลธรรมก็เป็นคนประเภทมีแก่น คือ เป็นคนมีศีลดี มีธรรมงาม   ตามหลักธรรมทางศาสนา  หลักธรรมทางศาสนานั่นแหละ  คือแก่นแท้ของคนเรา  คนที่มีศีลมีธรรมประจำจิตใจ  คนนั้นก็เป็นคนมีแก่น  คนไหนปราศจากศีลธรรม  คนนั้นก็เป็นคนไม่มีแก่น  ต้นไม้ประเภทมีแก่นเป็นต้นไม้มีคุณค่าสูง  เป็นที่ต้องการของคนทั่ว ๆ ไป ฉันใด  คนที่มีจิตใจเต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรมศีลธรรมก็เป็นที่ต้องการของคนในสังคม  ฉันนั้นเหมือนกัน  ธรรมะที่จะทำให้คนมีแก่นสารนั้น เรียกว่า “สาระธรรม”  มีอยู่ด้วยกัน ๕ ข้อ คือ  ๑. สัทธาสาระ แก่นคือศรัทธา ความเชื่อ  ๒. สีลสาระ แก่นคือศีล  ๓. สุตสาระ แก่นคือการสดับตรับฟัง  ๔. จาคสาระ แก่นคือการเสียสละ  ๕. ปัญญาสาระ แก่นคือปัญญา  ความเชื่อมั่นคง  ดำรงมั่นในศีล  หมั่นฟังเป็นอาจิณ  ความชั่วทั้งสิ้นต้องสละไป  จะมีชัยต้องมีปัญญา  สัทธาสาระ  แก่นคือศรัทธา ความเชื่อ ศรัทธาที่แปลว่า ความเชื่อนั้น  ท่านผู้รู้ – วิญญูชน  ได้ให้ความหมายไว้ถึง ๔ อย่าง คือ  ๑. กัมมสัทธา เชื่อกรรมคือการกระทำ  ๒. วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม  ๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าทุกคนมีกรรมเป็นของ ๆ ตน  ๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า  กัมมสัทธา  เชื่อกรรมคือการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจของตน  คนเราจะชั่วจะดี จะมี จะจน  ไม่ใช่เกิดจากสิ่งอื่น หรือสิ่งลึกลับมหัศจรรย์อะไรทั้งนั้นเป็นผู้บันดาล  กรรมคือการกระทำของเรานั่นแหละ  เป็นผู้บันดาล คิดดี พูดดี ทำดี ก็เป็นคนดี มีความสุข  ถ้าคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว  ก็เป็นคนชั่ว มีความทุกข์  มีความเดือดร้อนตลอดเวลา  ดังนั้น เมื่อเราเชื่อกรรมการกระทำของตนเช่นนี้  เราจึงควรเลือกคิด เลือกพูด เลือกทำ แต่กรรมที่ดี  จะได้เป็นสิริมงคลส่งผลให้มีความสุขในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ  นี่คือ “กัมมสัทธา” เชื่อกรรม  วิปากสัทธา  เชื่อผลของกรรมคือการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ คือทำ พูด คิดอย่างไร  ก็ย่อมได้รับผล อย่างนั้น  ทำดี พูดดี คิดดี ก็ได้รับผลดี  ถ้าทำชั่ว พูดชั่ว  คิดชั่ว  ก็ได้รับผลชั่ว  หว่านพืชเช่นไร  ได้ผลเช่นนั้น  นี่คือความหมาย “วิปากสัทธา” เชื่อผลของกรรม  กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน คือคนเราเมื่อทำกรรมอะไรลงไปแล้ว  กรรมนั้นก็ต้องเป็นของ ๆ เรา จะยกกรรมที่เราทำให้คนอื่นไม่ได้  ใครทำก็ต้องเป็นของคนนั้น  นี่คือความหมาย “กัมมัสสกตาสัทธา” เชื่อว่ามีกรรมเป็นของ ๆ ตน  ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้พระตถาคตเจ้า  คือเชื่อธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า  พระองค์ทรงสอนอย่างไร  ก็เป็นอย่างนั้นไม่แปรผันเป็นอย่างอื่นไปได้  การเชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้านั่นแหละ  เป็นความเชื่อที่ดีที่สุด  ถูกต้องที่สุด  คนเราทำอะไรลงไป  ต้องอาศัยศรัทธาความเชื่อเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ลงมือทำในสิ่งนั้น ๆ ได้  ถ้าไม่มีศรัทธาความเชื่อแล้ว  คนเราก็ทำอะไรไม่ได้  ดังนั้น  ศรัทธา ความเชื่อจึงเป็นเสมือนหนึ่งว่า เพื่อน คอยเตือนให้คนเราทำอะไรให้สำเร็จได้  ขาดเพื่อนก็เหมือนขาดปัจจัยสำคัญไป  ทำอะไรลงไปก็ไม่ประสบผลสำเร็จ  ด้วยเหตุนี้  คนเราจึงจำเป็นต้องมีศรัทธาเป็นเพื่อนคอยเตือนตลอดเวลา สทฺธา  ทุติยา  ปุริสสฺส  โหติ. ศรัทธาเป็นเพื่อนที่สองของคน  คนเราที่ลงมือทำอะไรให้ดำเนินไปได้นั้น  เพราะมีศรัทธาเป็นเพื่อนคอยเตือนให้ทำงานตามหน้าที่  ไม่ผัดวันประกันเวลาในการทำงาน ต้องทำงานให้ต่อเนือง ทำสม่ำเสมอไม่ขาดสาย  ผลสุดท้ายงานก็สำเร็จด้วยดี  เพราะมีศรัทธาเป็นเพื่อนและศรัทธานั้นก็ต้องเป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาด้วยจึงจะเป็นศรัทธาที่แท้จริง คือ “สัทธาญาณสัมปยุต” ศรัทธาประกอบด้วยปัญญาศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ  ประโยชน์ตน ประโยชน์คนอื่น  ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์อนาคต  ประโยชน์อย่างยิ่ง คือนิพพานความดับทุกข์  ถ้าศรัทธาตั้งมั่นแล้ว  ก็สำเร็จได้ทั้งนั้น  ด้วยเหตุนี้  คนที่มีศรัทธาตั้งมั่นแล้ว  จึงเป็นคนมีแก่น  เพราะไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค จิตใจหนักแน่นมั่นคง  ประกอบกิจอะไรลงไปก็สำเร็จได้  ศรัทธาจึงเป็นแก่นคน (สัทธาสาระ)  สีลสาระ  แก่นคือศีล  ศีลได้แก่พฤติกรรมทางกาย ทางวาจา เรียบร้อย  พฤติกรรมทางกายไม่เป็นโทษแก่ใคร ๆ พฤติกรรมทางวาจาก็ไม่เป็นภัยแก่คนอื่น  เรียกว่าเป็นคนมีศีล คนมีศีลเป็นคนมีแก่นเพราะมีกายสุจริต มีวาจาสุจริต  คนมีกายสุจริต  มีวาจาสุจริตเป็นคนมีแก่น  สีละแปลว่าปกติ สีละแปลว่าเย็น  สีละแปลว่าหนักแน่นมั่นคง  คนมีศีลมีปกติ มีวาจาปกติ ไม่ทำชั่วทางกาย ไม่พูดชั่วทางวาจา ดังนั้น  ศีลจึงเป็นแก่นของคน (แก่นคน) แก่นคนคือศีล   คนมีศีล สิ้นวุ่นวาย หายเดือดร้อน  จะหลับนอน ก็เป็นสุข ทุกข์ห่างเหิน  ทำอะไร จิตใจ ใฝ่เพลิดเพลิน  สุขเจริญ เป็นนิรันดร์ ไม่ผันแปร  สุตะสาระ แก่นคือการสดับตรับฟังธรรมะคำสอนในทางพระพุทธศาสนา การฟังมาก เป็นการเรียนรู้ทางโสตะ ประสาท  ทำให้คนเรามีความรู้ มีความเข้าใจมากในเรื่องต่าง ๆ ที่ได้ฟังมาจึงทำให้เป็นพหูสูต  คงแก่เรียน การฟังนั้นเป็นเหตุให้ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง สิ่งใดเคยฟังแล้ว  แต่ไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด ถ้ามีความเห็นผิดมาก่อน  ก็ทำให้มีความเห็นถูกต้องได้เพราะการฟัง  บรรเทาความสงสัยต่าง ๆ เสียได้  จิตใจของผู้ฟังย่อมผ่องใส  ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา  สุตะ การสดับตรับฟัง จึงเป็นแก่นคน  คนเราจะเป็นคนฉลาด เป็นนักปราชญ์ผู้มีปัญญา  ต้องอาศัยการฟังเป็นปัจจัยสำคัญ  ถ้าปราศจากสุตะการฟังเสียแล้ว  คนเราจะเป็นคนฉลาด เป็นปราชญ์มีปัญญาได้อย่างไร  เมื่อไม่มีความฉลาด ไม่มีความเปรื่องปราดด้วยสติปัญญาแล้ว  จะเป็นคนมีแก่นกันได้อย่างไร  ใครต้องการเป็นคนมีแก่นก็ต้องมีใจหนักแน่นในการสดับตรับฟัง  สดับตรับฟังมากเท่าไร  แก่นคนก็แข็งแรงมากเท่านั้น  นี่คือ “แก่นคน” ในข้อที่ว่า “สุตสาระ”  แก่นคือการฟังนำมาเสนอท่านทั้งหลายโดยย่อพอเป็นตัวอย่างในทางศึกษาหาความรู้ต่อไป  จาคะสาระ  แก่นคือการเสียสละ บริจาค  จาคะมีสองความหมาย คือเสียสละภายนอก ได้แก่การบริจาควัตถุสิ่งของต่าง ๆ เพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์แก่คนอื่น  ตามกำลังความสามารถที่จะทำได้  อย่าให้เกินกำลัง ให้รู้จักประมาณในการบริจาค  เพราะความรู้จักประมาณยังประโยชน์ให้สำเร็จ  คนตกทุกข์ได้ยากยังมีอยู่มากในสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน  ต้องอาศัยคนผู้มีน้ำใจ  เมตตากรุณาสงสารสงเคราะห์คนเหล่านั้นให้พวกเขามีความเป็นอยู่อย่างไม่ต้องทนทรมานมากจนเกินไป  นี่คือการเสียสละภายนอก  คือการบริจาควัตถุสิ่งของเท่าที่จะทำได้ตามกำลังความสามารถ  อีกความหมายหนึ่งของ “จาคะ” คือการเสียสละภายใน การเสียสละภายในเป็นเรื่องสำคัญมาก  แต่หากไม่ค่อยจะมีการพูดถึงกัน  พากันพูดถึงแต่การเสียสละภายนอก  จึงขอบอกว่า การเสียสละภายนอกจะเกิดจะมีขึ้นได้  ก็ต้องอาศัยการเสียสละภายในเป็นปัจจัยผลักดัน  เช่นคนจะให้วัตถุสิ่งของได้ก็ต้องเสียสละภายใน คือ “มัจฉริยะ” ความตระหนี่เห็นแก่ตัวเสียก่อน  จึงจะให้วัตถุสิ่งของได้ ดังนั้น  การเสียสละภายในจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าการเสียสละภายนอก  การเสียสละภายใน ได้แก่การเสียสละอะไร ?  การเสียสละภายในนั้น  ได้แก่การเสียสละความชั่ว ความไม่ดี กิเลสตัณหาอันฝังแน่นอยู่ภายในจิตใจออกไป  อย่าให้ความชั่วกิเลสตัณหาเหล่านั้น  ฝังแน่นอยู่ภายในจิตใจอีกต่อไป  กิเลสประเภท ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทิฎฐิมานะ  อิจฉาริษยา นินทาว่าร้าย ความชั่วทั้งหลายเหล่านี้  เป็นสิ่งไม่ดี  เป็นของบูดของเน่าของเหม็น  ของไม่เป็นสิริมงคล ของไม่ดีเหล่านี้  อย่าปล่อยไว้ให้มันหมักมันดองอยู่ในจิตใจ เพราะถ้าปล่อยให้กิเลสความเศร้าหมองเหล่านี้ หมักดองอยู่ในจิตใจ จิตใจก็จะเศร้าหมองไปด้วยกิเลสตัณหาอารมณ์ฝ่ายต่ำเหล่านั้นด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสียสละกิเลสประเภท ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทิฏฐิมานะ อิจฉาริษยา นินทาว่าร้าย ให้หายไปจากจิตใจ อย่าปล่อยไว้ให้มันทำลายจิตใจอีกต่อไป เมื่อสละกิเลสทั้งหลายออกไปจากจิตใจได้แล้ว จิตใจก็จะมีแต่แก่น ดังนั้น จาคสาระ จึงเป็นแก่นของคน คนไหนมี “จาคะสาระ” คนนั้นก็เป็นคนมีแก่น ได้พูดถึงการเสียสละมาพอสมควรแล้วต่อไป ก็ขอเข้าสู่ประเด็น “ปัญญาสาระ” แก่นคือปัญญา  ปัญญาสาระ แก่นคือปัญญา แก่นคนข้อสุดท้ายคือ ปัญญา ทำไมปัญญาจึงเป็นแก่นคน ปัญญาที่เป็นแก่นคน ก็เพราะปัญญาเป็นแสงสว่างของคนในโลก แสงสว่างอื่นเสมอด้วยปัญญาไม่มี ปัญญาเป็นแก้วของนรชน ปัญญาปกครองคนได้ ปญฺญา  โลกสฺมิ  ปชฺโชโต. ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก นตฺถิ  ปญฺญาสมา  อาภา. แสงสว่างอื่นเสมอด้วยปัญญาไม่มี ปญฺญา  นรานํ  รตนํ. ปัญญาเป็นแก้วของนรชน ปญฺญา  เจนํ  ปสาสติ. ปัญญาปกครองคนได้  คนเราจะครองชีวิตอยู่ในโลกให้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ และมีความปลอดภัยได้ ต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ปัญญานั้นแหละเป็นแสงสว่างนำทางให้คนเราดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้อง ถ้าขาดปัญญาก็อุปมาเหมือนอยู่ในที่มืดมองไม่เห็นทิศทางเคว้งคว้างไปตามกรรม ดังนั้น ปัญญาจึงเป็นแสงสว่างในโลก เป็นแสงสว่างของคนที่อาศัยอยู่ในโลก คนที่อาศัยอยู่ในโลก ต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ชีวิตจึงจะพบกับความสว่างมองเห็นทางดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้องชอบธรรม  การมีชีวิตอยู่ในโลกทุกวันนี้ ต้องอยู่กันด้วยปัญญา ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา เป็นชีวิตอันประเสริฐ เกิดมาเป็นคนกับเขาทั้งชาติต้องเป็นคนฉลาด ครองชีวิตอยู่ด้วยปัญญา แสงสว่างอื่นเสมอด้วยปัญญาไม่มี ไม่มีแสงสว่างอะไรเสมอด้วยปัญญา พระอาทิตย์ส่องแสงสว่างในเวลากลางวัน พระจันทร์ส่องแสงสว่างในเวลากลางคืน แสงสว่างอื่น ๆ ก็ส่องแสงสว่างในขอบเขตจำกัด ข้อสำคัญแสงสว่างอันเกิดจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ จากประทีปโคมไฟ แสงสว่างจากกระแสไฟฟ้าเหล่านี้ ไม่สามารถส่องเข้าไปสู่จิตใจอันมืดบอดไปด้วยกิเลสตัณหาของคนเราได้ นอกจากแสงสว่างคือปัญญาเท่านั้น ที่จะส่องเข้าไปสู่จติใจอันมืดบอด ด้วยกิเลสตัณหาของคนเราได้ ดังนั้น แสงสว่างอื่นจึงเสมอด้วยปัญญาไม่มี ปัญญาเป็นแก้วของนรชน คนที่มีปัญญาเป็นคนที่มีแก้วสารพัดนึก คือจะนึกเอาอะไรก็ได้ตามความปรารถนา ดำดิน บินบน ล่องหน หายตัว ทุกวันนี้ก็มีให้เห็นกันอยู่แล้ว ส่งยานอวกาศไปสำรวจนอกโลก นานกันเป็นเดือนเป็นปี ก็มีให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ท้ายที่สุดพระพุทธองค์ทรงย้ำว่า ปัญญาปกครองคนได้ คนมีปัญญาจะปกครองตนเองก็ได้ ปกครองคนอื่นก็ไม่มีปัญหา ที่มีปัญหากันอยู่ทุกวันนี้ เพราะใช้คนปกครองคน ไม่ใช้ปัญญาปกครองจึงเกิดปัญหา ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการให้เกิดปัญหาในการปกครอง ก็ตัองใช้ปัญญาปกครองคน อย่าใช้คนปกครอง ถ้าใช้คนปกครองคนก็จะหนีไม่พ้นจากปัญหา พระศาสดาตรัสว่า “ปัญญาปกครองคนได้” โปรดจำกันไว้ให้ดี แล้วใช้ปัญญาปกครองคนกันต่อไป สังคมจึงจะไร้ปัญหา ที่กล่าวมานี้ คือเรื่องของ “ปัญญาสาระ” แก่นปัญญา แก่นคนข้อสุดท้ายได้แก่ปัญญา ใครมีปัญญาดังกล่าวมา คนนั้นก็มีแก่น  แก่นคนคืออะไร? แก่นคนได้แก่ “สาระธรรม” ๕ ประการ คือ สัทธาสาระ แก่นคือศรัทธา, สีลสาระ, แก่นคือศีล, สุตะสาระ แก่นคือการสดับตรับฟัง, จาคะสาระ แก่นคือการเสียสละ, ปัญญาสาระ แก่นคือปัญญา คนไหนประพฤติปฏิบัติทั้ง ๕ ข้อนี้ ให้สมบูรณ์บริบูรณ์ดี คนนั้นก็เป็นคนมีแก่น ดังนั้น ธรรมทั้ง ๕ ประการ คือ สัทธา, สีละ, สุตะ, จาคะ, และปัญญา จึงเป็นแก่นคน   หนึ่งให้มี  ศรัทธา  อย่าประมาท    อย่าให้ขาด  เมื่อให้ทาน   การกุศล  ศรัทธาช่วย  อวยสุข  ให้ทุกคน   จะเกิดผล เพราะศรัทธา พานำทาง   จะทำใด ไตร่ตรอง ถึงสองชั้น  อย่าผลุนผลัน เชื่อง่าย ไร้เหตุผล  จะทำบุญ สุนทาน การคบคน  อย่าลุกลน จะถูกหลอก บอกให้จำ   ลิงหลอกเจ้า เข้าตำรา นั่นน่าคิด  ควรพินิจ คำโบราณ ท่านขานไข  คนหน้าไหว้ หลังหลอก ท่านบอกไว้  อย่าตายใจ เชื่อตาม คำของมัน   คิดให้ดี อย่าผลีผลาม จะงามหน้า  ใช้ปัญญา ถี่ถ้วน ควรไต่ถาม  หาเหตุผล เสียก่อน ก่อนทำตาม  ศรัทธางาม อย่างนี้ ดีนักแล    ข้อที่สอง ต้องรักษา ศีลห้าด้วย  เอาศีลช่วย ปราบกิเลส เหตุเศร้าหมอง  ควรรักษา กายวาจา อย่าคะนอง  ปราบจองหอง ด้วยศีล สิ้นหยาบคาย     กาย-วาจา ถ้ายังหยาบ ปราบเสียบ้าง  เอาศีลล้าง หยาบคาย หายเศร้าหมอง  คนมีศีล กายดี เหมือนสีทอง  วาจาผ่อง พูดจา ก็น่าฟัง        รักษากาย  วาจา อย่าประมาท  พุทโธวาท สอนไว้ ในหมวดศีล  ให้ชำระ กาย-วาจา อันราคิน  ด้วยองค์ศีล ให้สะอาด ปราชญ์นิยม       คนมีศีล สิ้นวุ่นวาย หายเดือดร้อน  จะหลับนอน ก็เป็นสุข ทุกข์ห่างเหิน  ทำอะไร จิตใจ ใฝ่เพลิดเพลิน  สุขเจริญ เป็นนิรันดร์ ไม่ผันแปร       ข้อที่สาม หมั่นสดับ รับโอวาท  อย่าให้ขาด การฟังธรรม พระพร่ำสอน  ฟังแล้วจำ ขึ้นใจ ให้แน่นอน  ฟังไว้ก่อน นั่นแหละดี มีปัญญา      ฟังให้ดี มีปัญญา สมาธิ   หมั่นดำริ ตามหลัก แห่งมรรคผล  ฟังอะไร ใฝ่ใจ ให้แยบยล  เป็นมงคล มีปัญญา พารุ่งเรือง       ฟังให้มาก ถ้าอยากรู้ เมื่อครูสอน  อย่าง่วงนอน ตั้งใจ ใฝ่ศึกษา  จะฟังเทศน์ ฟังธรรม ให้นำพา  เกิดปัญญา ก็เพราะฟัง ตั้งใจจริง        คนฟังมาก คงแก่เรียน เพียรอุตส่าห์  มีปัญญา ทรงจำ ในคำสอน  ดำเนินงาน ด้วยปัญญา ให้อาทร  หายเดือดร้อน เพราะการฟัง ดีจังเอย        ข้อที่สี่ มีจาคะ สละออก  พระท่านบอก ให้ทำทาน การกุศล  สละทรัพย์ ทำบุญ อุดหนุนคน  ได้กุศล เพราะทำทาน การแบ่งบัน   ก่อนจะให้ ใจดี มีฉันทะ   เสียสละ ปัจจัย ไม่หวงแหน  เพื่อแลกเปลี่ยน ความดี มีมาแทน  อันเป็นแก่น ที่นิรันดร์ ไม่ผันแปร       สละทรัพย์  ภายนอก ออกสงเคราะห์  ทำให้เหมาะ พอประมาณ การช่วยเหลือ  ให้ด้วยจิต สงสาร การจุนเจือ  เราช่วยเหลือ เขาดีใจ ใฝ่ขอบคุณ        นี่คือให้ สิ่งภายนอก บอกให้รู้  ส่วนศัตรู ภายใน ใจสถุล  ต้องสละ มันไป ให้สมดุล  จิตใจขุ่น มัวหมอง ต้องละมัน         ควรสละ สิ่งภายใน จิตใจชั่ว  ความหมองมัว ในใจ ให้ละเสีย  อย่าปล่อยไว้ ทำใจ ให้อ่อนเพลีย  ละมันเสีย ใจสะอาด ปราศมลทิน         ข้อที่ห้า ปัญญาดี มีสาระ   ข้อนี้ละ ยิ่งสำคัญ ชั้นหัวแถว  จะทำงาน เรื่องใด ให้เข้าแนว  ก็ต้องแล้ว แต่ปัญญา พานำทาง         ปัญญาดี มีไว้ ใช้ประโยชน์  ทำลายโทษ ทุกอย่าง ให้ห่างหนี  จะหนีทุกข์ พบสุขได้ หายราคี  ปัญญาดี จึงจะถึง ซึ่งนิพพาน        ปัญญาเกิด คราใด ใจเป็นพระ  ย่อมชนะ กิเลสมาร ที่ผลาญเผา  ทำลายชั่ว ตัวโมหา พามัวเมา  ไม่โศกเศร้า หายห่วง พ้นบ่วงมาร   โปรดใฝ่หา ปัญญา อย่าเกียจคร้าน  เพื่อปราบมาร ภายใน ให้สาปสูญ  กิเลสร้าย ภายใน ไม่พอกพูน  เพราะสมบูรณ์ ด้วยปัญญา พารุ่งเรือง        ขณะใด มีปัญญา พารุ่งโรจน์  ไม่มีโทษ ไม่มีภัย ไกลสงสาร  จะคิดอ่าน เรื่องใด ใจสำราญ  พบนิพพาน สุขสันต์ นิรันดร         สาระธรรม ที่กล่าวมา ห้าข้อนี้   เป็นของดี มีสาระ พระท่านสอน  ควรใฝ่หา สาระธรรม ตามคำกลอน  ที่กล่าวสอน มาแต่ต้น จนสุดท้าย        สัทธา-ศีล สุตะ และจาคะ  ข้อหนึ่งละ คือปัญญา พาทีไข  ทั้งห้านี้ เป็นของดี ไม่มีภัย   โปรดจำไว้ แล้วทำตาม งามจริงเอย  นอกจาก “สาระธรรม” ดังที่กล่าวมานี้  จะเป็นแก่นของคนแล้วธรรมอื่น ๆ  ธรรมหมวดอื่น ๆ ทั้งหมด  ก็ล้วนเป็นแก่นของคนทั้งนั้น  คุณธรรม ศีลธรรม  จริยธรรมทั้งหลายที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงบรรยายไว้ในพระไตรปิฎก  ล้วนแล้วแต่เป็นแก่นของคนสำหรับผู้ที่นำไปประพฤติปฏิบัติตาม  เพราะธรรมะคำสอนของพระตถาคตเจ้าจะเป็นประโยชน์แก่ใครก็เฉพาะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้น   พหูนํ   วต   อตฺถาย   อุปฺปชฺชนฺติ  ตถาคตา   อิตฺถีนํ  ปุริสานญฺจ     เย  เต  สาสนการกา.  การอุบัติขึ้นของพระตถาคตเจ้า  จะเป็นประโยชน์แก่คนหมู่มากคือบุรุษและสตรี  ก็เฉพาะผู้ปฏิบัติตามคำ สอนเท่านั้น  แก่นคน  ที่สำคัญที่สุดก็สรุปลงที่ ศีล สมาธิ  และปัญญานั้นเอง  เพราะศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา  ซึ่งมาจากอริยมรรคมีองค์แปด คือ สัมมาทิฎฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมา       กัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ  สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ  จัดเป็นหมวดศีล  สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ   จัดเป็นหมวดสมาธิ  สัมมาทิฎฐิ, สัมมาสังกัปปะ  จัดเป็นหมวดปัญญา  ผู้ปฏิบัติตาม ศีล สมาธิ ปัญญา  ให้สมบูรณ์บริบูรณ์ดีแล้วจึงได้ชื่อว่าเป็นคนมีแก่นที่แท้จริง ดังนั้น  แก่นแท้ แก่นจริง ๆ ของคนเรา  จึงได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา  สรุปแก่นคน  จึงได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา  ดังที่ได้กล่าวมาโดยย่อพอเป็นตัวอย่างนี้แล  ใครต้องการเป็นคนมีแก่น  และเป็นแก่นที่แท้จริง มั่นคง ถาวร  ก็ต้องสมาทานตั้งมั่นประพฤติปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด  อันได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา  ดังบรรยายมานี้แล   สัทธา-ศีล สุตะ และจาคะ  อีกข้อละ คือปัญญา พาทีไข  หากพระธรรม ห้าข้อนี้ มีในใจ  ของคนใด นั่นแหละ คือแก่นคน   คนมีแก่น แสนประเสริฐ เลิศมนุษย์  มีจิตใจ บริสุทธิ์ ไม่ขุ่นข้น  กิเลสใหญ่ ทั้งหลาย ไม่ระคน  เขาเป็นคน ควรเชิดชู และบูชา   แก่นของคน เกิดจากผล การทำดี  การพูดดี การคิดดี มีที่มา  การทำดี พูดดี ด้วยวาจา  เป็นที่มา แก่นคน โปรดสนใจ   คนมีแก่น แสนดี มีคุณค่า  เป็นสง่า มีคำ น่าสนใจ  ทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร  ก็เป็นไป แต่ในทาง สร้างความดี   ด้วยเหตุนี้ ปราชญ์-เมธี จึงเตือนตัก  ให้ทุกคน รู้จัก ทำความดี  เพราะจะทำ ให้เรา มีศักดิ์ศรี  เป็นคนดี ของสังคม นิยมธรรม   เมื่อพระธรรม เป็นแก่นคน ดังกล่าวนี้  จึงขอให้ คนดี มีพระธรรม  เพื่อส่งเสริม จิตใจ ให้ชื่นฉ่ำ  ในพระธรรม ตลอดกาล เป็นนิจเทอญ