ริษยา – อคติ

ริษยา – อคติ

ริษยา อคติ 

อรติ โลกนาสิกา

ความริษยา ทำโลกให้ฉิบหาย

บุคคใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความชอบกัน

เพราะความชังกัน เพราะความขลาดกลัว

เพราะความเขลา ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อม

เหมือนพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น

บุคคลใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะชอบกัน

เพราะความชังกัน เพราะความขลาดกลัว

เพราะความเขลา ยศของคนนั้นย่อมเพิ่มพูน

เหมือนพระจันทร์ข้างขึ้นฉะนั้น

 

ในประเด็นแรก จะขอพูดถึงเรื่อง ริษยา เสียก่อนความริษยามาจากคำว่า อิสสา ซึ่งเราใช้กันจนชินปากฟังกันจนชินหูว่า อิจฉา พอพูดว่าอิจฉา ก็เข้าใจกันทันที่ว่าหมายถึงความริษยา แต่ถ้าพูดว่าอิสสาก็เข้าใจกันทันที่ว่า หมายถึงความริษยา แต่ถ้าพูดว่า อิสสา น้อยคนนักจักเข้าใจ นอกจากผู้เรียนรู้ภาษาบาลีเท่านั้น ความริษยาความหมายว่าอย่างไร ความริษยานั้น โดยความหมายก็ได้แก่เห็นคนอื่นได้ดีแล้วทนอยู่ไม่ได้ คืออาการที่จิตใจเกิดความกระวนกระวายกระสับกระส่ายในเมื่อเห็นคนอื่นทำดีแล้วได้ดี พอเห็นใครหรือได้ยินข่าวว่าใครได้ดี ก็เกิดความไม่พอใจในความดีของคนนั้น นี่คือความหมายของคำว่า ริษยา

ลักษณะของความริษยา การที่เราจะดูความริษยาได้นั้น ก็ต้องดูกันที่คนมีความริษยา (คนอิจฉา) และดูที่ความริษยา เอาละ มาดูที่ความริษยากันก่อนเพราะริษยาเป็นกิเลสที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจ ก็เป็นเรื่องที่ดูกันได้ยากสักหน่อย แต่ก็ต้องใช้ความพยายามดูเพื่อให้รู้ว่า ความริษยานั้นมีลักษณะอย่างไร นักศึกษาธรรมพากันท่องบ่นจนขึ้นใจความริษยาตาไฟ ได้แก่ทนดูทนฟังความดีของคนอื่นไม่ได้ ความอิสสา (อิจฉา) ก็ได้แก่ความริษยา ความริษยาก็มีลักษณะเห็นคนอื่นได้ดีแล้วทนอยู่ไม่ได้ ทนทุรนทุรายคล้ายไฟสุมร้อนรุ่มตลอดเวลา โอกาสและจังหวะที่เราจะดูความอิจฉาริษยานั้น ก็ต้องสังเกตุดูเวลาคนเราได้รู้ได้เห็นได้ยินได้ฟัง เรื่องราวเกี่ยวกับความดีของคนอื่น จะเป็นความดีที่เห็นเกียรติยศ อิสริยยศ ปริจจารยศ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม จิตใจที่ไม่มีความริษยาครอบงำ พอได้รู้ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง เช่นนั้น พลันก็จะมีความโสมนัส หรรษา ร่าเริง ชื่นใจ ดีใจ ในความดีของคืนอื่นนั้น แต่ถ้าตรงกันข้าม คือจิตใจที่มีความริษยาครอบงำ ก็จะทำให้เกิดความกระวนกระวายกระสับกระส่าย คล้ายถูกไฟรน ทนดู ทนฟัง ความดีของคนอื่นไม่ได้ จิตใจที่มีลักษณะเช่นนี้แหละ เรียกว่าจิตใจที่มีความอิจฉาริษยา ตาไฟ เห็นใครได้ดีแล้วทนอยู่ไม่ได้

การที่เราจะสังเกตความริษยาได้ชัดเจนเพียงไรนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับแรงความริษยาด้วย ถ้าแรงความริษยามากก็สังเกตเห็นได้ง่าย แรงความริษยานั้นมี ๓ ขั้น คือ

๑. ความริษยาที่มีแรงน้อย ก็เพียงแต่ทำให้ไม่พอใจ ไม่สบายใจ ในเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี แล้วความริษยาก็หายไป

๒. ความริษยามีแรงปานกลาง ไม่มีทางที่จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมในความดีของคนอื่นเป็นอันขาด

๓. ความริษยาที่มีความรุนแรง นอกจากจะไม่สนับสนุน ไม่สบายใจ ไม่ดีใจ ในความดีของคนอื่นแล้ว ยังหาอุบายทำลายความดีของคนอื่นอีกด้วย

(๑) ความริษยาเพียงเล็กน้อยนั้น เมื่อได้รับรู้ หูได้ยินเสียงสรรเสริญชมเชยความดีของคนอื่น จิตใจรู้สึก นึกคิดแต่เพียงไม่สบายใจ ระคายใจ อะไรนิดๆ หน่อยๆ แล้วความรู้สึกนั้น มันก็ค่อยระงับดับไปเอง คนที่มีจิตใจอิจฉาริษยาในระดับนี้ ก็ยังมีความพอใจให้การสนับสนุนในการทำความดีของคนอื่น โดยที่คนอื่นก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีคนริษยาเขา เพราะเขาไม่ได้แสดงออกมาให้ปรากฏทางกาย ทางวาจา นอกจากตัวของเขาเองเท่านั้น ที่จะสังเกตใจของตนเองได้ โดยปกติธรรมดาแล้ว ภายในจิตใจของปุถุชนคนที่ยังมีกิเลสห่อหุ้มแกคลุมอยู่ ดูเหมือนว่าจะมีเชื้อแห่งความริษยาอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ต่างกันอยู่ก็แต่ว่า ใครจะมีมากหรือมีน้อยเท่านั้นเอง

(๒) ความริษยาระดับปานกลาง แรงกระทบของความริษยามันมากขึ้น รุนแรงจนกระทั่งจิตใจไม่อาจทนรับได้ ต้องคอยหลบไม่อยากรู้ ไม่อยากเห็น ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากได้ฟัง ในเรื่องความดีของคนอื่น คนที่มีความริษยาในระดับนี้ จึงไม่มีความดีใจ ไม่มีความพอใจ ไม่ให้การสนับสนุน ไม่ส่งเสริม ในความดีของบุคคลอื่น แต่ถึงกระนั้นก็ตาม คนที่มีความริษยาระดับนี้ ก็ยังมีดีอยู่บ้างคือแม้จะไม่สนับสนุนความดีของคนอื่น แต่ก็ไม่หาอุบายใหนการทำลาย หรือตัดรอนความดีของใครยังให้โอกาสแต่เขาได้ทำความดีต่อไป เพียงแต่ตัวเองไม่ให้การสนับสนุนเท่านั้น

(๓) ความริษยาที่กล้าจัดแรงจัดคือความริษยาแรงกล้าความริษยาระดับนี้แหละที่เรียกว่า อิจฉาเห็นคนอื่นได้ดีแล้วทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่เพียงแต่ไม่สบายใจและไม่ให้การสนับสนุนในความดีของคนอื่นเท่านั้น แต่มันเลยเถิดเกิดเป็นความกระวนกระวาย ต้องหาอุบายทำลายตัดรอนความดีของคนอื่นอีกด้วย ข้อความที่ท่านกล่าวว่า ความริษยา ได้แก่กิริยาอาการที่เห็นคนอื่นได้ดี แล้วทนอยู่ไม่ได้ ก็หมายถึงจิตใจที่ทนอยู่ในสภาพปกติไม่ได้นั้นกระวนกระวายซัดส่ายออกไปจากสภาพปกติเดิม สภาพของจิตใจเดิมแท้นั้นเคยสงบเยือกเย็น แต่พอได้รับรู้ได้ยินได้ฟังว่าคนอื่นได้ดิบได้ดีมีเกียรติยศชื่อเสียง มีเงินมีทองเท่านั้นแหละ จิตใจไม่อาจทนอยู่ในสภาพเดิมได้ กลายเป็นความทุกข์ใจขึ้นมาแทนบางคนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ เมื่อรับรู้ว่าคนอื่นได้ดี ด้วยเหตุนี้ ด้วยเหตุนี้ คำกล่าวที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายบรรยายไว้ว่า เห็นคนอื่นได้ดีทนอยู่ไม่ได้นั้น ก็หมายถึงจิตใจทนอยู่ในสภาพเดิม คือ สงบ สะอาด สว่าง ไม่ได้นั้นเอง ที่กล่าวมาโดยย่อพอเป็นตัวอย่างนี้ เป็นลักษณะอาการของความอิจฉาริษยา

ที่นี้ก็หันมาดูอาการของคนมีความริษยาอีกที่ว่าคนที่มีความอิจฉาริษยาภายในจิตใจนั้น มีอาการเป็นอย่างไรบ้าง กิริยาท่าทางหรืออาการของคนที่มีความริษยาในใจต้องสังเกตดูกันเวลาคนๆ นั้นได้รู้ได้เห็นได้ยินได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับความดี ความชอบของคนอื่น หรือจิตที่มีคนเล่าถึงคนงามความดีของคนอื่น พูดกันแบบเข้าใจกันง่ายๆ ก็คือเวลานำเอาความดีของคนอื่นมาเป็นเครื่องทดสอบดู จึงจะรู้ว่าเขามีความริษยาหรือไม่ ตัวอย่างเช่น

ในกรณีที่เขาได้ฟังข่าวว่าคนนั่น คนนี่ ได้ลาภ ได้ยศ ได้รับสรรเสริญ มีความสุข คนที่มีความริษยาในจิตใจ ก็มักจะแสดงกิริยาท่าทาง หรือพูดออกมาในลักษณะที่ไม่พอใจกับข่าวที่ได้ยินได้ฟังนั้นทันที เพื่อให้รู้แน่แก่ใจ เราลองทดสอบดูก็ได้ เช่นบอกให้เขารู้ว่า ใครคนใดคนหนึ่งที่เขารู้จักกันดี และทำงานอยู่ด้วยกันได้ขึ้นเงินเดือนเลื่อนตำแหน่ง เมื่อเล่าให้เขาฟังเช่นนั้นแล้วเขาจะมีความรู้สึกและแสดงอาการกิริยาออกมาอย่างไร ถ้าเขามีอาการเป็นปกติและแสดงออกมาในทำนองว่า คนเราเมื่อทำดีก็ย่อมได้รับผลดีเป็นสิ่งตอบแทน มันเป็นบุญวาสนาของเขา เขาได้ขึ้นเงินเดือนเลื่อนตำแหน่ง ก็เหมาะสมกับผลงานที่เขาได้ทำแล้ว ขอแสดงความดีใจและอนุโมทนาด้วย ขอให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด ถ้าอย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเขาไม่มีความริษยา หรือหากจะมีอยู่บ้างก็ไม่พอใจในทำนองว่า คนอย่างนี้ มันได้ขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่งอย่างไรนะ แม้แต่ตัวมันเอง ก็ยังปกครองตนเองไม่ได้ แล้วจะปกครองคนอื่นได้อย่างไร ขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่งให้กับคนประเภทนี้นี่เล่า บ้านเมืองมันจึงเน่าเป็นถังขยะ และอะไรอีกหลายอย่างที่เขาแสดงออกมาโดยความไม่พอใจ นี่แหละคือคนมีความริษยา ขนานแท้ความริษยาระดับนี้แหละ ที่เป็นเหตุทำให้โลกฉิบหาย

โทษของความริษยา ธรรมภาษิตที่ตั้งไว้เป็นหัวข้อข้างต้นนั้น ชี้บอกถึงโทษของความริษยาว่า ความริษยาทำโลกให้ฉิบหาย หมายความว่า ความริษยามีอำนาจสามารถทำลายความสงบสุขคนเราให้หมดไป คนที่มีความริษยาเกาะกินใจ มักจะเป็นคนมีกรรมคือเวลาเห็นคนอื่นได้ดีแล้ว จิตใจของเขามันไม่มีความสุขกลับมีความทุกข์ต่างๆ นานา คิดหาอุบายทำลายความดีของคนอื่น นี่แสดงให้เห็นว่า ความริษยาเผาผลาญความสุขให้หมดไปบางทีก็ทำลายชีวิตของคนที่ตนอิจฉาให้ฉิบหายทำลายสังสมที่อยู่ร่วมกัน ดังนี้ ท่านจึงกล่าวว่า ความริษยายังโลกให้ฉิบหาย คนทั่วไปเขามีความสุขความสบาย ในเวลาเห็นคนอื่นเขาได้ดีเห็นเขาได้ขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง ก็รู้จักแสดงมุทิตาปรารถนาให้เขามีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป นี่คื่อจิตใจของคนที่ไม่มีความริษยา ส่วนคนที่มีความอิจฉาริษยาเกาะกินหัวใจ เห็นใครเขาได้ดีแล้ว มันเหมือนเอาหนามแหลมๆ มาทิ่มแทงหัวใจ …..เวรกรรมแท้ๆ…..นี่แหละคือความริษยาทำลายความสุข

นอกจากทำลายความสุขแล้ว ความริษยายังทำลายศักดิ์ศรีอีกด้วย ช่วยกดคนให้ต่ำ ปราศจากเกียรติยศและศักดิ์ศรี มีคนเคยทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมคนบางงคนในโลกนี้ จึงเป็นคนด้อยยศ หมดศักดิ์ศรี ไม่มียศศักิด์ เป็นผู้น้อยก็ไม่มีใครรัก เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครเคารพ เป็นผู้เสมอกันก็ไม่มีใครนับถือ พระพุทธองค์ทรงตอบว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเขาเป็นคนมีความอิฉาในความดีของคนอื่น เห็นคนอื่นได้ดีทนอยู่ไม่ได้ แล้วก็หาอุบายทำลายความดีคนอื่นในทุกรูปแบบด้วยเหตุนี้ เขาจึงเป็นคนไม่มีศักดิ์ศรี เพราะเขาไม่รักความดี แล้วจะมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร เพราะศักดิ์ศรีนั้น ย่อมมีได้เฉพาะคนมีจิตใจสูง มีคุณธรรม คนจิตใจต่ำถูกครอบงำด้วยยความริษยา ,,,,สมควรที่จะได้รับเกียรติยศ ศักดิ์ศรีไม่ศักดิ์ศรีเป็นคุณธรรมความดีอย่างหนึ่งพึงได้มาด้วยการทำความดี ก็คนที่อิจฉาตาไฟ ไม่มีแม้แต่ความพอใจ ดีใจ ในความดีของคนอื่น แล้วอย่างนี้ เขาจะเป็นคนมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร เพราะเขาไม่พอใจในความดี ศักดิ์ศรีมีได้เฉพราะคนที่รักความดี พอใจในความดีเท่านั้น คนที่อิจฉาตาไฟจิตใจเต็มอัดไปด้วยความอิจฉาริษยา จึงเป็นคนที่ปราศจากเกียรติยศ อิสริยยศ บริวารยศ หมดความเป็นใหญ่ ไร้ศักดิ์ศรี ไม่มีบริวาร ความอิจฉาริษยาทำลายศักดิ์ศรีของคนเราด้วยอาการอย่างนี้

นอกจากนี้ ความอิฉาริษยายังทำลายหมู่คณะสังคมประเทศชาติ ให้พินาศล่มจมอีกด้วย ความริษยาเป็นตัวเสนียดจัญโร เกิดขึ้นที่ไหน มีในสังคมใด อยู่ในประเทศชาติใด ก็ฉิบหายทุกอย่าง ไม่ต่างอะไรกับไฟประลัยกัลป์ล้างโลก เราจะสังเกตเห็นว่า หมู่ใดคณะใดสังคมใดประเทศชาติใด ก็ฉิบหายทุกอย่าง ไม่ต่างอะไรกับไฟประลัยกัลป์ล้างโลก เราจะสังเกตเห็นว่า หมู่ใด คณะใด สังคมใดประเทศชาติใด มีคนอิจฉาตาไฟ ไม่พอใจ ไม่ดีใจ ในความดีของคนอื่น เห็นคนอื่นทำดีได้ดี แทนที่จะพอใจให้การสนับสนุน กลับมีความอิจฉาตาร้อน บั่นทองความดีของเขาด้วยวิธีการต่างๆ หมู่นั้นคณะนั้นสังคนนั้นประเทศชาตินั้น ก็พลันถึงความฉิบหายในทุกๆ ด้าน เพราะพวกอิจฉาตาไฟมีจิตใจโหดร้าย มุ่งทำลายคนดีและความดีของคนอื่นเป็นนิสัย มนุษย์พวกนี้อยู่ที่ไหนก็ทำลายล้างผลาญที่นั้น (ความริษยายังโลกให้ฉิบหาย)  เอาละ! ได้พูดเรื่องความอิจฉาริษยามาพอสมควรแล้ว

ต่อไป ก็เข้าสู่ประเด็นเรื่อง อคติ สังคมมนุษย์ในโลกปัจจุบัน มันเป็นสังคมแห่ง อคติ คือความลำเอียงเป็นสังคมแห่งความไม่เที่ยงตรง มีความลำเอียงมากขึ้นเป็นลำดับ นับแต่สังคมส่วนย่อยถึงสังคมส่วนรวม ตลอดจนสังคมโลก คือคนในสังคมมีคำนิยมในความลำเอียง (อคติ) ในการปฏิบัติหน้าที่ของตนแทนที่จะยึดเหตุผล และความถูกต้องชอบธรรมเป็นหลัก ก็มักจะมีอคติความลำเอียงเข้าข้างนั้น เข้าข้างนี้ เพราะมีความชอบ ความชัง ความขลาด และความเขลาเป็นปัจจัย ในทางพระพุทธศาสนาเรียกความลำเอียงว่า อคติ มี ๔ อย่าง คื่อ

๑. ลำเอียงเพราะชอบ     เรียกว่า             ฉันทาคติ

๒. ลำเอียงเพราะชัง                   เรียกว่า             โทสาคติ

๓. ลำเอียงเพราะกลัว     เรียกว่า             ภยาคติ

๔. ลำเอียงเพราะเขลา    เรียกว่า             โมหาคติ

อคติทั้ง ๔ นี้ ไม่ควารประพฤติเลย

มนุษย์ในสังคมโลกปัจจุบันพากันประพฤติคนเป็นคนประเภท ลำเอียง ไม่เที่ยงตรง คือเอียงซ้าย เอียงขวา เอียงหน้า เอียงหลัง เอียงข้างนั้น เอียงข้างนี้ แทนที่จะพากันประพฤติตนเป็นคน ตรง กลับไม่เอาไม่ชอบ ไปชอบแบบเอียงๆ ไม่เที่ยง ไม่ตรง ตกลงสังคมโลกส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสังคมไทยก็เต็มไปด้วยคนลำเอียง หาคนตรงลำบาก ยากเหมือนหาความเมตตาจากคนไร้น้ำใจ คนใจดำมนุษย์เป็นสัตว์สังคมนิยมอยู่กันเป็นหมู่ เป็นคณะเป็นสังคม ในการอยู่ร่วมกันเช่นนั้น ข้อสำคัญจะต้องมีเครื่องประสานสังคมให้มีความร่มเย็นเป็นสุข สิ่งที่จะประสานสังคมให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขนั้น ก็คือความเป็นธรรม ความยุติธรรม และความเสมอภาค

แต่มนุษย์ส่วนมากในปัจจุบัน กลับพากันประพฤติตนเป็นคน ลำเอียง โดยเฉพาะในสังคมไทยในปัจจุบันทุกวันนี้มากไปด้วยคนลำเอียง บางคนลำเอียงเพราะความชอบกัน บางคนลำเอียงเพราะความชัง บางคนลำเอียงเพราะความขลาด บางคนลำเอียงเพราะความเขลาเบาปัญญา เมื่อคนในสังคมมีความลำเอียงกันมากๆ ก็ยากที่จะอยู่ร่วมกันโดยความสงบสุข และปลอดภัยโดยเฉพาะถ้าผู้ใหญ่ที่เป็นหัวหน้าหมู่ หัวหน้าคณะเป็นผู้นำสังคมแต่ละดับชั้น ตั้งแต่สังคมส่วนย่อยในครอบครัวถึงสังคมส่วนรวมสังคมประเทศชาติตลอดสังคมโลก เป็นคนมีอคติลำเอียงด้วยแล้ว แน่นอน สังคมมนุษย์ก็จะเต็มไปด้วยความวุ่นวายเอารัดเอาเปรียบเหยียบย่ำทำลายกัน หาความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตประจำวันได้ยาก ขอฝากท่านผู้เป็นใหญ่ในสังคมไทยเรานำเอาไปทำการบ้านด้วย

เพื่อฝากให้ทุกท่านเข้าใจในเรื่องอคติลำเอียงง่ายเพราะความชังมาเป็นตัวอย่าง ลำเอียงเพราะความชังนั้นพอชอบใคร พอใจใคร พวกไหน พรรคไหนแล้ว แม้คนเหล่านั้น พวกนั้นพรรคนั้นจะประพฤติชั่ว ทำตัวเลวทรามอย่างไร ก็ไม่เป็นไร ยังให้ความชอบ ความพอใจ ให้การสนับสนุนไม่เลิกลา ใครจะว่าชั่วว่าเลวอย่างไรก็ยังพอใจยังชอบ นี่คือลักษณะของอคติลำเอียงเพราะความชอบส่วนอคติลำเอียงเพราะชัง ก็ทำนองเดียวกันพอได้ชังใคร หมู่ใหนคณะไหน พรรคพวกไหนแล้ว เขาก็ชังจนเข้ากระดูกดำ แม้คนนั้น หมู่นั้นคณะนั้น พรรคนั้นพวกนั้น จะทำดีอย่างไร จะทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมประเทศชาติบ้านเมืองได้ดีอย่างไร ก็ไม่ยอมรับไม่เห็นดีด้วย เพราะความเกลียด ความชังมันบังคับไม่ให้เห็นดีเห็นชอบ ทำดีก็ไม่ว่าดี แต่ถ้าเกิดไปทำชั่วทำผิดนิดเดียว หรือไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ก็หาเรื่องกระพือให้ลือกระฉ่อนไปทั่วบ้านทั่วเมือง นี่คือเรื่องอคติความลำเอียงเพราะความเกลียดความชัง

จนกระทั่งมีนิทานปรำปราเล่าสืบๆ กันมาว่า มีพ่อตาคนหนึ่งซึ่มมีลูกเขยสองคนคือเขยใหญ่กับเขยเล็ก พ่อตาคนนี้มีอคติลำเอียงในลูกเขยทั้งสองมองเขยใหญ่ด้วยความชอบใจ พอใจ ไม่ว่าเขยใหญ่จะทำอะไร พ่อตาก็เห็นดีเห็นชอบด้วย ช่วยสนับสนุนด้วยความชอบใจ พอใจ เขยใหญ่ทำผิดอย่างไรก็ว่าถูกว่าดี แต่ในขณะเดียวกัน ก็หันไปมองเขยเล็กด้วยความชิงชัง มันช่างขวางหูขวางตาเสียเหลือกำลัง ตั้งแต่เขยเล็กเข้ามาเป็นสมาชิกภายในบ้านสร้างความรำคาญให้พ่อตาเหลือที่จะรรรณนา ไม่ว่าเขยเล็กจะทำดีอย่างไรก็ไม่เป็นที่ชอบใจพอใจของพ่อตาสักอย่าง ทั้งที่การงานต่างๆ เขยเล็กก็ทำดียิ่งกว่าเขยใหญ่ แต่ทำไมพ่อตาจึงไม่ชอบใจ ไม่พอใจเอาเสียเลย นี่แหละที่ท่านเรียกว่า โทสา คติ ลำเอียงเพราะชัง ในเมื่อความเกลียดชังมันผังแน่นอยู่ในจิตใยเสียแล้ว ทำดีอย่างไรก็ว่าไม่ดีทั้งนั้น ถูกตำหนิทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะมองด้วยความเกลียดชัง

ความลำเอียงเพราะชอบเพราะชังดังตัวอย่างที่กล่าวมานี้ชี้ให้เห็นว่า คนเราไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไร ถ้าขาดความเป็นธรรมความยุติธรรม และความเสมอภาคเสียอย่าง ปัญหาต่างๆ ก็เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะในสังคมเมืองไทยของเราในเวลานี้ ก็หนีไม่พ้นเรื่อง อคติ ลำเอียงมีให้เห็นทั่วไปในสังคมบ้านเมือง เรื่องความลำเอียงเพราะชอบเพราะชังนี้โดดเด่นมาก จึงขอฝากท่านทั้งหลายผู้รับผิดชอบในบ้านเมืองคิดกันให้ดี บางที่อาจจะพบแสงสว่างทางปัญญายุติปัญหาเรื่อง อคติ ลงได้บ้าง

เป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ในสังคมไทยของเราเวลานี้ มันมีตัวเสนียดจัญไรอยู่สองตัวคือ ริษยา กับ อคติ ตัวอุบาทว์จัญไรสองตัวนี้แหละที่มันคอยบั่นทอนความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย ไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า แต่ว่ากลับลากให้ถอยหลังเข้ารถเข้าพงเข้าสู่ดงแห่งความมืดบอดทางจิตใจ ไปไม่รอดแน่ๆ ถ้าไม่แก้โรคอิจฉาริษยาตาไฟ เห็นใครทำดีได้ดีแล้วทนอยู่ไม่ได้ หาอุบายทำลายความดีของคนอื่นและโรค อคติ ความลำเอียงเพราะชอบเพราะชังที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจให้หมดไป ถ้าตัวเสนียดจัญไรทั้งสองตัว คือความอิจฉาริษยา และอคติ เพราะชอบเพราะชัง พังทะลายหายไปจากจิตใจของคนในสังคมไทย เมื่อไรความรักความสามัคคี ความดีใจพอใจในความดีของคนอื่น ก็จะฟื้นกลับคืนมาทันที ทันควันนั่นคือประกันให้สังคมไทยอันเป็นที่รักของเราทั้งหลายได้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข ทุกประการ ขอเราท่านทั้งหลายทำลายความอิจฉาริษยาและอคติ ให้หมดไปจากจิตใจกันเถิด จะเกิดความร่มเย็นเป็นนิรันดร

ริษยา             อคติ              ดำริผิด

มันเป็นพิษ                 เป็นภัย                     ร้ายนักหนา

สังคมใน                    มีคน              ขี้อิจฉา

รับรองว่า                  สังคมนั้น         พลันล่มจม

สังคมใด          มากไป           ด้วยคนชั่ว

ประพฤติตัว               อิจฉา             น่าขื่นขม

คิดทำลาย                 คนอาศัย         ในสังคม

ให้ล่มจม                   วายวอด         ตลอดไป

ริษยา             พาคน            ให้มืดบอด

โง่สุดยอด                  เห็นเขาดี        ไม่ดีใจ

หาอุบาย                   ทำลายเขา       อยู่ร่ำไป

คนจัญไร                   อิจฉา                       ค่าไม่มี

ด้วยเหตุนี้       ปราชญ์เมธี      จึงเตือนตัก

ให้รู้จัก                     ดีใจ               ในคนดี

ให้โอกาส                  เวลา              เขาทำดี

ให้ทวี                      ยิ่งขึ้นไป         ในทางธรรม

อคติ              ลำเอียง          ไม่เที่ยงตรง

ไม่ดำรง                    ตนอยู่            คู่กับธรรม

เพราะความชอบ          ความชัง         คอยชักนำ

จึงกระทำ                  หน้าที่            มีขลาดเขลา

อคติ              ทั้งสี่              มีฉันทา

มีโทสา                     ภยา              โมหาเขลา

ทั้งสี่นี้                      ทำคน            ให้อับเฉา

คนโศกเศร้า               เพราะลำเอียง  ไม่เที่ยงตรง

ขอเชิญชวน     มวลประชา      พากันคิด

อย่าทำผิด                 เพราะลำเอียง  ให้เที่ยงตรง

ให้ทุกคน                  ประพฤติตน     ให้มั่นคง

ให้ดำรง                    ตนอยู่            คู่หลักธรรม ฯ