ผู้นำกับอำนาจ

ผู้นำกับอำนาจ

ผู้นำ  กับ  อำนาจ

 

                                                นาทิฏฺฐา  ปรโต  โทสํ                          อณํ  ถูลานิ  สพฺพโส

                                                อิสฺสโร  ปณเย  ทณฺฑํ                          สามํ  อปฺปฏิเวกฺขิยาติ.

                                ผู้หลักผู้ใหญ่เพียงแต่สงสัยว่าคนอื่นทำผิดจะมากน้อยก็ตาม  ถ้ายังไม่ได้สอบสวนให้แน่ชัดก็ไม่ควรลงโทษ

พระพุทธภาษิตบทนี้ สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง ณ ธรรมสภา วัดพระเชต วันมหาวิหาร ทรงปรารภนางจิณจมาณวิกาที่พูดใส่ร้ายพระพุทธองค์ ทำให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นความจริง ภายหลังต่อมา เมื่อประชาชนรู้ความจริงว่า นางจิณจมาณวิกาใส่ร้ายพระพุทธองค์โดยประสงค์จะทำลายพระพุทธศาสนา จึงพากันรุมประชาทัณต์จนนางถูกแผ่นดินสูบตายไป

ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้ประชุมสนทนากันถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในธรรมสภาว่า นางจิณจมาณวิกากล่าวหาพระพุทธองค์ด้วยเรื่องไม่จริง นางเป็นหญิงอันตราย ต้องการให้ประชาชนทั้งหลายหลงผิด คิดชิงชังพระศาสดา บัดนี้ นางถูกปฐพีแผ่นดินสูบตายเสียแล้ว

ฝ่ายพระบรมศาสดาเสด็จพบภิกษุทั้งหลายสนทนากันอยู่ จึงตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอกำลังสนทนาเรื่องอะไรกันอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลแล้วจึงได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่นางจิณจมาณวิกาให้ร้ายเรา แล้วถึงความพินาศไป มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน นางก็เคยให้ร้ายป้ายสีเรา แล้วก็พบกับความพินาศเช่นนี้เหมือนกัน จากนั้นก็ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกให้ภิกษุทั้งหลายได้ฟังว่า :-

เมื่อครั้งพระองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามหาปทุมกุมารบรมโพธิสัตว์ เป็นรัชทายาทแห่งกษัตริย์ปทุมนครในครั้งนั้น นางจิณจมาณวิกาเป็นพระชายาอีกองค์ของพระเจ้าปทุมราช เธอมีชื่อว่า “รัตนาวดี” ส่วนพระโพธิสัตว์ทรงเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าปทุมราชและพระนางปทุมวดี ทรงมีรูปร่างสง่างาม มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นที่รักใคร่ของประชาชนทั่วไป

ส่วนพระนางรัตนาวดีก็เป็นสาวสวยรวยเสน่ห์ เป็นพระชายาอันเป็นที่เสน่หาอย่างยิ่งของพระราชา ต่อมาไม่นาน รัตนาวดีได้มีโอกาสรู้จักคุ้นเคยกับเจ้าชายมหาปทุม เธอตกหลุมรักทันที ต้องการเจ้าชายไว้เป็นคู่อภิรมย์ ทั้งที่เธอเป็นพระชายาของพระราชาอยู่แล้ว แต่เพราะเธอมักมากในรสรัก รสเสน่หาเป็นอารมณ์

เช้าวันหนึ่ง รัตนาวดีแกล้งนอนป่วยอยู่ในห้องแล้วออกอุบายให้หญิงคนใช้ไปทูลเจ้าชายให้มาเยี่ยมภายในห้องนอน เพราะนางทราบดีว่า เจ้าชายเป็นคนหัวอ่อนว่าง่าย หากเจ้าชายทราบว่าตนป่วยไข้ไม่สบายก็จะต้องมาเยี่ยมแน่นอน และก็เป็นอย่างที่นางคาดคิดไว้ เจ้าชายพอรู้ข่าวก็รีบรุดมาเยี่ยมทันที ได้ทรงถามถึงอาการป่วยด้วยความห่วงใย ฝ่ายรัตนาวดีเมื่อเห็นเจ้าชายมาติดกับจึงรีบลุกขึ้นรับเข้ากอดเจ้าชายด้วยหมายจะยั่วยวนกวนใจให้เจ้าชายร่วมรักกับตน แต่เจ้าชายไม่ยินยอมผ่อนตาม และเตือนรัตนาวดีว่า กำลังทำสิ่งที่ไม่ควรทำ

ฝ่ายหญิงคนใช้ หลังจากไปบอกเจ้าชายแล้ว ก็รีบรุดต่อไปทูลบอกข่าวแก่พระราชา หวังจะให้พระองค์ทรงทราบถึงอาการป่วยของรัตนาวดีผู้เป็นนาย ฝ่ายพระราชาครั้นทรงทราบแล้วก็รีบเสด็จไปโดยเร็ว ครั้นถึงแล้ว ก็ทรงเปิดประตูเสด็จเข้าไปในห้อง ได้ทอดพระเนตรเห็นภาพที่รัตนาวดีกำลังสวมกอดเจ้าชายอยู่ ทรงพิโรธจนพระวรกายสั่น ส่วนรัตนาวดีนั้นเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์คับขันเช่นนี้ก็แสร้งแต่งเรื่องโยนความผิดแก่เจ้าชาย นางกราบทูลพระราชาว่า เจ้าชายบุกรุกเข้ามาลวนลามในห้อง ส่วนเจ้าชายเมื่อถูกใส่ร้ายเช่นนี้ ก็สุดที่จะเบี่ยงบ่ายได้ รู้สึกตกพระทัย จึงกราบทูลพระราชบิดาไปว่ารัตนาวดีใส่ร้ายพระองค์ ความจริง ข้าพระองค์ตั้งใจมาเยี่ยมอาการป่วยของนางไม่ได้สร้างเรื่องอำพรางแต่อย่างใด

แต่เนื่องจากพระราชา ทรงเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดปรากฏอยู่ข้างหน้า จึงทรงเชื่อว่า ถ้อยคำของรัตนาวดีเป็นความจริง โดยไม่ทันที่จะพินิจพิจารณาให้รอบคอบ จึงรับสั่งให้ทหารจับเจ้าชายไปประหารชีวิต โดยการโยนทิ้งเหว ก่อนที่เจ้าชายจะถูกจับโยนลงสู่ก้นเหว ได้ทรงเขียนจดหมายเล่าเรื่องทั้งหมด เพื่อทูลให้พระมารดาทรงทราบ เมื่อเสร็จแล้วผูกจดหมายไว้ในชายผ้าห่มแล้วก็มอบอาภรณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่นำไปทูลถวายพระนางปทุมวดีผู้เป็นมารดา

ฝ่ายพระนางปทุมวดี เมื่อได้รับจดหมายก็ทรงเปิดอ่านข้อความที่จารึกด้วยเลือดที่เจ้าชายทรงเขียนเล่ามาทราบเรื่องโดยตลอดแล้ว ก็รีบเสด็จไปที่ห้องเจ้าชายทันที เพื่อค้นหาจดหมายที่รัตนาวดีเคยเขียนมาสารภาพรักกับเจ้าชาย เมื่อพบจดหมายสมความตั้งใจแล้วจึงนำไปทูลพระราชาให้ทรงทราบถึงความชั่วช้าของรัตนาวดี เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นหลักฐานที่พระนางปทุมวดีนำมาเปิดเผย สีพระพักตร์ของพระองค์ถึงกับเปลี่ยนไป เพราะทรงจำได้ว่าข้อความในจดหมายเป็นลายมือของรัตนาวดีเอง เมื่อเบื้องหลังอันชั่วช้าถูกตีแผ่ออกมาเช่นนี้ พระราชาจึงทรงรับสั่งให้ลงโทษประหารโดยการให้จับนางมัดโยนทิ้งลงเหวให้สาสมกับความผิด

ฝ่ายเจ้าชายมหาปทุม เมื่อถูกจับโยนทิ้งไปไม่ถึงก้นเหว ร่างไปติดค้างอยู่บนพุ่มไม้ใหญ่ เมื่อพระองค์ได้สติก็ค่อยๆไต่ลงไปตามกิ่งไม้จนถึงก้นเหว ได้รอดตายอย่างปาฏิหาริย์ ในที่สุด เจ้าชายมหาปทุมก็ได้อธิษฐานใจออกบวชเป็นดาบส รักษาอุโบสถ ปฏิบัติธรรมอยู่ในอาศรมสถาน ณ กลางป่าใหญ่ใกล้ภูเขานั้นเอง

ต่อมา พระราชาพร้อมด้วยบริวารได้เดินประพาสป่าเพื่อหาความสำราญในการชมธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรได้เสด็จมาถึงอาศรมท่านดาบส ทรงเห็นปฏิปทาอาจาระของดาบสแล้วทรงเลื่อมใสจึงเสด็จเข้าไปใกล้เพื่อสนทนาได้ทรงไต่ถามถึงความเป็นมา จึงทรงทราบว่า ดาบสท่านนี้ ก็คือเจ้าชายมหาปทุมโอรสของพระองค์นั้นเอง พระราชาทรงร้อนพระทัยที่พระองค์ลงโทษความผิด โดยไม่ได้ทรงพิจารณาให้รอบคอบก่อน พระองค์ไม่ทรงถือหลัก “ใคร่ครวญก่อนแล้ว จึงทำดีกว่า” ทรงทำผิดในพระโอรส ปรากฏว่าทำให้ร้อนพระทัยในภายหลัง

พระราชาทรงขออภัยเจ้าชาย และทรงเชิญเจ้าชายให้กลับพระนคร เพื่อสืบราชสมบัติ แต่เจ้าชายทูลปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า อำนาจวาสนาเป็นที่มาแห่งความกังวล มีโทษและมีทุกข์ยาวนาน เป็นมูลฐานแห่งจองเวร ทรงยืนยันถึงความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตตามแบบของนักบวชเป็นดาบส เพื่อลิ้มรสแห่งความสงบอยู่ในป่าต่อไป จนกว่าชีวิตจะหาไม่

ท่านมหาปทุมดาบสถวายพระพร ขอโอกาสแสดงธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติของผู้นำแด่พระราชามีใจความว่า “ผู้ใหญ่เพียงสงสัยว่า ผู้น้อยทำความผิดจะมากหรือน้อยก็ตามถ้ายังไม่ได้สอบสวนทวนให้รู้แน่ชัด ไม่ควรลงโทษ” หมายความว่า ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจรัฐอำนาจเงิน ถ้าจะลงโทษผู้น้อยผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สงสัยว่าเขาทำผิด ควรสอบสวนให้เห็นความผิดของเขาให้แน่นนอนเสียก่อน อย่าได้ลงโทษไปตามอำนาจแห่ง “อคติ” อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ :-

๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักเพราะชอบ เช่น เมื่อมีคน คณะบุคคล หรือพรรคพวกที่ตนรักที่ตนชอบใจ-พอใจ โปรดปราน ทำความผิด ประพฤติทุจริต ผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฏหมาย แทนที่จะลงโทษตามความผิดที่กระทำลงไป กลับไม่ทำเพราะมี “ฉันทาคติ” ลำเอียง เพราะรักใคร่พอใจในคนนั้น คณะนั้น พวกนั้น แม้จะทำความผิดอย่างไร ก็ใช้อำนาจของตนที่มีอยู่ว่าไม่ผิด นี่แหละคือ “ฉันทาคติ” ลำเอียงเพราะชอบ

๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะเกลียด เพราะชัง เช่น เมื่อคนไหน พวกไหน พรรคไหน คนของใครที่ตนเกลียดชังแม้จะทำความดีเป็นประโยชน์แก่สังคมแก่ชาติบ้านเมืองก็ไม่ยอมรับว่าทำความดี แต่ในทางตรงกันข้าม พวกเขาเหล่านั้นทั้งๆที่ไม่มีความผิดกลับหาเรื่องใส่ร้ายป้ายสี ตีไข่ใส่ความว่าทำผิด อย่างนี้เรียกว่า ผู้นำใช้อำนาจด้วย “โทสาคติ” ลำเอียงเพราะความเกลียดชัง

๓. ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว เพราะขลาด เช่น คนที่มีอำนาจเงิน อำนาจรัฐ มีอิทธิพล มีพวกพ้อง มียศมีตำแหน่ง ประพฤติทุจริต ผิดกฏหมาย ผิดศีลธรรม ถ้าว่าตามความถูกต้อง ตามความจริงแล้ว พฤติกรรมเช่นนี้จะต้องถูกลงโทษ แต่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจไม่กล้าลงโทษ เพราะกลัวคนที่ทำผิดนั้นมีอิทธิพล มีพวกพ้องบริวาร อันธพาลคอยคุ้มกัน เลยไม่กล้าลงโทษคนทำผิด เพราะขี้ขลาดตาขาว “ภยาคติ” ขลาดกลัว

๔. โมหาคติ ลำเอียงเพราะไม่รู้ เพราะเขลา เบาปัญญา เช่น เวลาใครมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ขอให้ผู้มีอำนาจช่วยวินิจฉัยแก้ไขปัญหา แต่เนื่องจากผู้ใหญ่ไร้ปัญญาไม่เข้าใจในการวินิจฉัยปัญหาให้สอดคล้อง ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็ทำในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เกี่ยวข้อง คนถูกกลับเป็นคนผิด คนผิดกลับเป็นคนถูก อย่างนี้เรียกว่า “โมหาคติ” ลำเอียงเพราะเขลา คือโง่เขลาเบาปัญญาแก้ปัญหาไม่ตรงกับความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ผู้นำควรระมัดระวังให้จงหนัก!

เรื่อง “ผู้นำกับอำนาจ” เป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคม สังคมมนุษย์ทุกระดับชั้นจะดำเนินไปด้วยความสงบสุข ปราศจากปัญหาน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวง มันก็ขึ้นอยู่กับผู้นำในสังคมใช้อำนาจถูกต้องชอบธรรม ถ้าผู้นำทุกระดับขั้นใช้อำนาจที่ตนมีอยู่ให้ถูกต้องสอดคล้องด้วยเหตุผลและชอบธรรมแล้ว รับรองทุกคนที่อาศัยอยู่ในสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน จะได้รับความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความเสมอภาคโดยทั่วกัน ทั้งนี้ ก็เพราะผู้นำใช้อำนาจปราศจากอคติ คือไม่มีความลำเอียง ด้วยอำนาจฉันทา โทสา ภยา โมหาคติ ผิดก็ว่ากันไปตามผิด ถูกก็ว่ากันไปตามถูก ใครทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ ไม่ยกเว้นว่าจะเป็นใคร ทำผิดต้องถูกลงโทษเสมอเหมือนกันหมด ดังนั้น ผู้นำทุกระดับขั้น ก่อนจะลงโทษใครควรใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบ อย่าผลีผลามทำอะไรตามอารมณ์ชักจูงเพราะสิ่งที่ทำลงไปแล้ว ทำคืนไม่ได้ ทำผิดแล้ว จะเสียใจในภายหลัง

ดังเรื่องของพระเจ้าปทุมมหาราชที่ทรงอาชญาให้ประหารชีวิตพระราชโอรสของพระองค์ โดยไม่ทรงพิจารณาให้รอบคอบ เพียงแต่ทรงสดับคำฟ้องของพระชายาว่า เจ้าชายลวนลามก็ทรงทำตามทันที ทั้งที่ยังไม่ได้ทรงสอบสวนทวนถามหาเหตุผลอะไรเลย ก็ทรงรับสั่งให้จัดการสถานหนักทันที ตามที่พระทัยเดือดดาล เพราะเหตุการณ์ที่พระชายาถูกเจ้าชายลวนลาม นี่แหละเรียกว่าเป็นการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน แต่ในเรื่องนี้เผอิญว่าเจ้าชายที่ถูกพระราชบิดารับสั่งให้ประหารชีวิต เนื่องจากพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ไม่ได้ทำผิดตามข้อกล่าวหา เวลาถูกเจ้าหน้าที่มัดผลักลงเหว แต่ไม่ถึงฆาตเลยไปติดที่พุ่มไม้รอดตายไปได้ แล้วก็มองเห็นความไม่เป็นธรรมในสังคม จึงตัดสินใจบวชเป็นดาบสปฏิบัติธรรมต่อมา พระราชาได้พบพระดาบสเกิดเลื่อมใสในปฏิปทาของพระดาบส ได้ฟังธรรมและสนทนาปราศัยความเป็นไปของพระดาบส สุดท้ายกลายเป็นพระโอรสของตน จึงขอให้พระดาบสกลับไปครองราชสมบัติ แต่พระดาบสปฏิเสธขอครองเพศดาบสต่อไป แล้วให้อภัยพระราชาผู้พระบิดา ในที่สุด พระดาบสก็ไปสู่พรหมโลก  บรรดาผู้นำทั้งหลายควรใช้หลักว่า ผู้ใหญ่เมื่อสงสัยว่าคนอื่นทำผิดมากหรือน้อยก็ตามถ้ายังไม่ได้สอบสวนให้แน่ชัดก็ไม่ควรลงโทษ

ในสังคมมนุษย์ยุคปัจจุบันทุกวันนี้ เรื่องของผู้นำกับอำนาจมันเป็นเรื่องประหลาดที่จะไม่น่าจะเกิดขึ้นในสังคมยุคนี้ แต่มันก็มีให้เห็นอยู่โดยทั่วไป นั่นก็คือผู้นำในระดับสูงที่มีหน้าที่มีตำแหน่งในการบริหารประเทศชาติบ้านเมืองมักจะพากันใช้อำนาจในทางให้โทษมากกว่าในทางให้คุณ เพราะความสำคัญผิด เห็นผิด เข้าใจผิดว่า พวกตนมีอำนาจอยู่ในมือแล้ว จะทำอะไรก็ได้ตามความชอบใจ ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ไม่มีอะไรที่คนมีอำนาจทำไม่ได้ นี่แหละผู้นำที่มีอำนาจพวกเขามักจะพากันคิดเช่นนี้ทั้งนั้น พวกเขาถือว่าเมื่อมีอำนาจแล้วใครจะกล้ามาแหยม เพราะอำนาจเป็นใหญ่ในโลก ดังนั้น ขณะใด เมื่อใด พวกไหนมีอำนาจแล้ว พวกนั้นก็เป็นใหญ่ในโลก แล้วพวกเขาจะทำอะไรก็ได้ตามความพอใจ ทำเรื่องผิดให้เป็นถูก ทำเรื่องถูกให้เป็นเรื่องผิดก็ได้ ใครจะกล้ามาขัดขวาง…ว่าเข้านั่น…เห็นไหมล่ะ!

สังคมไทยของเราทุกวันนี้ บรรดาผู้นำซึ่งมีอำนาจในระดับสูงแต่ว่ามีจิตใจต่ำถูกครอบงำด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ทิฏฐิมานะ อิจฉาริษยา นินทาว่าร้ายและอคติ พวกผู้นำเหล่านี้มักจะพากันใช้อำนาจไม่เป็นธรรมไม่ใช้ธรรมเป็นอำนาจ การใช้อำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะคนที่ใช้อำนาจมักเป็นคนที่ขาดเหตุผล ทำอะไรลงไปด้วยความผลุนผลัน ถูกกิเลสประเภทต่างๆ ผลักดันแล้วก็ทำลงไป โดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบ ชอบคิด ชอบพูด ชอบทำอะไรตามใจตนเอง การคิด การพูด การทำอะไรตามใจตนเอง ก็คือการทำ การพูด การคิด ตามฤทธิ์ของกิเลสตัณหานั้นเอง เมื่อผู้นำใช้อำนาจในทางที่ผิดอันเกิดจากฤทธิ์ของกิเลสตัณหาก็นำพาให้คนในสังคมได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆนานา ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทุกวันนี้

หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา สำหรับผู้หลักผู้ใหญ่จะนำไปใช้ในฐานะเป็นผู้นำของสังคมทุกระดับนั้นก็ได้แก่ “พรหมวิหารธรรม” ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, ธรรมประจำใจของผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่, ธรรมของผู้นำ มีอยู่ ๔ ประการคือ : –

๑. เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข

๒. กรุณา ความสงสารต้องการช่วยให้คนอื่นพ้นทุกข์

๓. มุทิตา ความพลอยดีใจในเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี

๔. อุเบกขา มีใจเป็นกลางไม่เข้าข้างอคติ

ผู้นำของสังคมทุกระดับ ต้องเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจในการปกครองหมู่คณะให้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น และมีความสุขความเจริญ ความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ผู้นำแต่ละระดับจึงจำเป็นต้องใช้ธรรมเป็นอำนาจ อย่าใช้อำนาจไม่เป็นธรรมเพราะการใช้ธรรมเป็นอำนาจ ความผิดพลาดจะไม่เกิดขึ้นในการพิจารณา คดีความต่างๆ ในทางสังคม เพราะคำว่า “ธรรม” นั้น ได้แก่ความดี, ความถูกต้อง, ความจริง ดังนั้น ผู้นำที่ใช้ธรรมเป็นอำนาจ อำนาจนั้นจึงเป็นอำนาจที่ดี ที่ถูกต้อง, ที่เป็นความจริง เป็นสิ่งที่ทุกคนให้การยอมรับ สนับสนุน ในสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน เป็นการสร้างสรรค์คนในสังคมให้มีความรักกันบนพื้นฐานความเป็นธรรม ความยุติธรรม และความเสมอภาค

ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้นำในสังคมนิยมใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ในการพิจารณา อรรถคดีความต่างๆในทางเข้าข้างอคติ มีความลำเอียงเพราะชอบ (ฉันทาคติ) ลำเอียงเพราะชัง (โทสาคติ) ลำเอียงเพราะกลัว (ภยาคติ) ลำเอียงเพราะเขลา (โมหาคติ) การใช้อำนาจไม่เป็นธรรมนั้นนำแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน บั่นทอนความสงบสุข ของคนในสังคมให้หมดไป เหลือไว้แต่ปัญหานานาประการเป็นการทำลายสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันในทุกๆ ด้านปานประหนึ่งนรกอเวจี เพราะมีคนไม่ดีเป็นผู้นำของสังคม มีรสนิยมในการใช้อำนาจอย่างไม่มีมาตรฐาน ดังเหตุการณ์ในสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ผู้นำไทยผู้ใหญ่ในสังคม ที่ทำการบริหารบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ พวกผู้นำเหล่านี้เป็นผู้นำที่ขาดธรรมประจำใจ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เป็นผู้นำแทนที่จะแก้ปัญหา ความทุกข์ ความเดือดร้อนของประชาชน กลับเป็นคนสร้างปัญหาเสียเอง นี้แหละเขาเรียกกันว่าผู้นำที่ใช้แต่พระเดช (อำนาจ) อย่างเดียว ไม่เคยมีพระคุณต่อประชาชนเลย

ผู้นำที่ดีตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ต้องมี “พรหมวิหารธรรม” เป็นเรือนใจ คือมีเมตตา ความรักใคร่ปรารถนา ให้คนอื่นและสัตว์อื่นมีความสุข จะคิดอะไรก็ให้คิดด้วยเมตตา จะพูดอะไรก็ให้พูดด้วยเมตตา จะทำอะไรก็ให้ทำด้วยเมตตา ปรารถนาให้เพื่อนเกิด, แก่, เจ็บ, ตายด้วยกันมีแต่ความสุข ปราศจากความทุกข์นานาสารพัน จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ก็ให้ทำ ให้พูด ให้คิด ด้วยกรุณา มีความสงสารต้องการช่วยเหลือเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันให้พ้นจากความทุกข์ จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ก็ให้ทำ ให้พูด ให้คิด ด้วยมุทิตา มีความพลอยดีใจในเมื่อเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันได้ดีมีความสุข ความเจริญ ก็ขอให้พวกเขาเหล่านั้นได้ดี มีความสุข ความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ข้อนี้มีความสำคัญที่สุด ที่ผู้นำทุกระดับจะต้องแสดงออกซึ่งความพอใจ ความดีใจ ในเมื่อเห็นคนอื่นทำดีแล้วได้ดี อย่ามีความอิจฉาริษาในความดีของพวกเขาเป็นอันขาด อย่าใช้อำนาจในการทำลายความดีของคนอื่น ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นในสังคมของผู้นำบ้าอำนาจในปัจจุบัน ข้อสุดท้าย จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ก็ให้ทำ ให้พูด ให้คิดด้วยอุเบกขา คือให้ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความเสมอภาคแก่ทุกคนซึ่งเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บตาย ด้วยกัน นี่แหละท่านผู้อ่านผู้ฟังทั้งหลาย เรื่องของผู้นำกับอำนาจ นำมาเสนอท่านทั้งหลายก็จบเพียงเท่านี้แล…. ขอย้ำให้ผู้นำทั้งหลายใช้ธรรมเป็นอำนาจกันเถิด จะเกิดศิริมงคลส่งผลให้สังคมมีแต่ความสงบสุข ทุกประการ

เป็นผู้นำ                                ใช้อำนาจ               ขาดเหตุผล

จะส่งผล                                ให้เสียหาย            ในภายหลัง

อย่าด่วนใช้                            ทำอะไร                 ให้ระวัง

จะสมหวัง                             ใช้ปัญญา               ค่ามากมี

อันผู้นำ                  กับอำนาจ              ปราชญ์เตือนตัก

ให้รู้จัก                                   ใช้มัน                     นั่นแหละดี

ถ้าด่วนใช้                              ให้ผลร้าย               ในทันที

คิดให้ดี                                   เสียก่อน                 จะผ่อนคลาย

ถ้าผู้นำ                   ใช้อำนาจ               ขาดธรรมะ

องค์พุทธะ                             ตรัสว่า                    จะเสียหาย

เมื่อขาดธรรม                       นำมา                      เป็นอุบาย

ผลเสียหาย                            จะตามมา              ในทันที

อันผู้นำ                  ใช้อำนาจ               ขาดเหตุผล

จะส่งผล                                ทุกอย่าง                 ทางไม่ดี

เกิดเสนียด                             จัญไร                     และอัปรีย์

เพราะผู้มี                               อำนาจ                    ขาดปัญญา

ด้วยเหตุนี้              ปราชญ์เมธี           จึงเตือนตัก

ให้ตระหนัก                          ใช้ปัญญา               แก้ปัญหา

อย่าด่วนใช้                            อำนาจ                    ขาดวิจารณา

ใช้ปัญญา                               เสียก่อน                 นั่นแหละดี

เมื่อผู้นำ                 ใช้ปัญญา               พาพ้นผิด

เพราะพิชิต                           มารร้าย                  ให้พ่ายหนี

ใช้อำนาจ                               ในทาง                   สร้างสรรค์ดี

ก็เป็นศรี                                 เป็นศักดิ์                เพราะรักธรรม

เป็นผู้นำ                                ใช้ธรรม                 นำชีวิต

เป็นนิมิต                               แสงสว่าง              ทางชักนำ

ใช้อำนาจ                               ในทางดี                 มีพระธรรม

ก็จะนำ                                   สู่ทาง                      สร้างปัญญา

ขอเชิญชวน          มวลผู้นำ                นำมาคิด

เพื่อพิชิต                                มารร้าย                  คลายปัญหา

ครองชีวิต                              ร่วมกัน                  ด้วยปัญญา

สิ้นปัญหา                              ทุกอย่าง                 สงบเย็น ฯ