ตานอกใส – ตาในมืด

ตานอกใส  – ตาในมืด

ตานอกใส  – ตาในมืด
โลโภ  โทโส จ  โมโห จ     ปุริโส  ปาปเจตสํ
หึสนฺติ  อตฺตสมฺภูตา ตจสารํ  ว  สมฺผลํ
โลภะ โทสะ โมหะ  เกิดจากตัวเองย่อมเบียดเบียน  ผู้มีใจชั่ว  ดุจขุยไผ่ฆ่าตันไผ่ ฉะนั้น
ประเด็นแรกที่จะต้องทำความเข้าใจกัน  ก็คือเรื่อง “ตานอก – ตาใน”  ตาทั้งสองนี้แตกต่างกันอย่างไรและหมายถึงอะไร ?   ตานอกก็ได้แก่ตาเนื้อมีอยู่สองข้างคือข้างซ้ายและข้างขวา  ภาษาบาลีเรียกว่า “มังสะจักษุ” แปลว่าตาเนื้อ  คนทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน พูดภาษาอะไร  นับถือลัทธิศาสนาความเชื่อถืออะไร   ตามปกติธรรมดาแล้วก็มีตาสองข้างเหมือนกันทั้งนั้น  ธรรมชาติสร้างมาให้มีดวงตาสองข้างเท่ากันไม่ว่าหญิงหรือชาย  นี่คือความเป็นธรรม ความยุติธรรม  และความเสมอภาคของธรรมชาติ  มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีสองมาตรฐาน  ตานอก – ตาเนื้อ ธรรมชาติให้มาสำหรับใช้ดูสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นของภายนอกเท่านั้น  และสิ่งเหล่านั้นก็ต้องอยู่ในที่แจ้งในที่สว่างเท่านั้น  จึงอยู่ในวิสัยที่จะมองเห็นได้  แต่ถ้าอยู่ในมืด ในที่กำบัง  ตานอก – ตาเนื้อ  ก็สุดวิสัยที่จะสามารถมองเห็นได้  ต้องใช้เครื่องช่วยประเภทต่าง ๆ เช่นโคมไฟ ใช้เทียน ใช้ตะเกียง ใช้ไฟฉายช่วยจึงจะมองเห็นได้   ตานอก – ตาเนื้อมีประโยชน์แก่คนเรามาก  หากตาบอด ตามืด ตาเสีย ตาฝ้า ตาฟาง   ก็หมดทางที่จะอำนวยประโยชน์ได้  ดังนั้น  ตานอก – ตาเนื้อจึงเป็นอวัยวะสำคัญของคนเราทุกคน  จึงควรใช้ตาในทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์  อย่าใช้ตาในทางที่จะให้เกิดโทษ  และเป็นพิษเป็นภัยแก่ตนเอง  การใช้ตาให้เกิดประโยชน์ก็ต้องใช้ให้พอประมาณตามหลักฐานที่พระท่านสอนว่า “มตฺตญฺญุตา  สทา สาธุ”  ความรู้จักประมาณให้สำเร็จประโยชน์ทุกเมื่อ  หรือยึดหลักคำกลอนสอนใจของท่านเจ้าคุณพุทธทาสว่า
ปิด ปิด ตา  อย่าสอดส่าย  ให้เกินเหตุ
บางประเภท  แกล้งทำบอด  ยอดกุศล
มัวสอดรู้  สอดเห็น  จะเป็นคน
เอาไฟลน  ตนไป   ให้ไหม้พอง
เปิด เปิด ตา ให้รับแสง  แห่งพระธรรม
ยิ่งมืดค่ำ  ยิ่งเห็นชัด  ถนัดถนี
สมาธิมาก  ยิ่งเห็นชัด  ถนัดดี
นี่วิธี   เปิดตาใจ  ใช้กันมา
เรื่องของ “ตานอก – ตาเนื้อ (มังสะจักษุ) มีประโยชน์มากสำหรับคนเรา  แต่ต้องรู้จักใช้หรือใช้เป็น  และต้องรู้จักประมาณด้วย  จึงจะช่วยอำนวยประโยชน์มหาศาล  ตานอก – ตาเนื้อนี้ ก็มีสองประเภท คือ ตานอกของคนพาลสันดานชั่วประเภทหนึ่ง  และอีกประเภทหนึ่ง  คือตานอกของบัณฑิตผู้ครองชีวิตอยู่ด้วยปัญญา   ตาทั้งสองประเภทนี้ให้ผลไม่เสมอกัน  ให้ผลไม่เหมือนกันคือผลกระทบอันเกิดจากการเห็นการดูต่างกัน  ตาคนพาลให้ผลเป็นไปในทางลบ เรียกว่า “ตาเห็นธรรม – ตาเห็นความดี”  คือเห็นอะไร ดูอะไร มองอะไร  ก็เห็นธรรม เห็นความดีไปหมด  มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมเป็นความดีเหมือนกันทั้งนั้น  ไม่มีอะไรขัดนัยน์ตา เห็นอะไร มองดูอะไร  ก็สบายตา  นำมาซึ่งความสบายใจ  ต่างจากตาคนพาล เห็นอะไร มองอะไร ดูอะไร ขวางตาไปหมด  มองดูพระพุทธรูปเห็นพระพุทธรูปทุกส่วนล้วนแต่ดีทั้งนั้น  แต่เสียอยู่อย่างเดียวคือพูดไม่ได้ เห็นไหมละ หาเรื่องติจนได้ นี่แหละ ตาคนพาล ตาหาเรื่อง  อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตาคนพาล ดังนั้น  จึงขอให้ทุกคนใช้ตาที่ธรรมชาติสร้างมาให้ทั้งสองข้าง  ให้เป็นไปแต่ในทางบวกกันเถิด  อย่าใช้ตาให้เกิดโทษซึ่งเป็นไปในทางลบกันเลย
ได้พูดถึงเรื่อง “ตานอกใส” มาโดยย่อพอเป็นตัวอย่างพอสมควรแล้ว  ต่อไปก็ขอเข้าสู่ประเด็น “ตาในมืด”  เพื่อศึกษาหาความรู้ความเข้าใจ  ซึ่งเป็นจุดประสงค์ใหญ่ในเรื่องนี้ต่อไป  ก่อนอื่นก็ขอทำความเข้าใจในเรื่อง “ตาใน” เสียก่อน  ตาในนั้นหมายถึง “ปัญญาจักษุ” คือตาปัญญา  คนเราสำคัญที่ปัญญา   เพราะปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก  แสงสว่างอื่นเสมอด้วยปัญญาไม่มี  ปัญญาเป็นแก้วของนรชน  และปัญญาปกครองคนได้ดังธรรมบรรยายว่า
ปญฺญา  โลกสฺมิ  ปชฺโชโต.
ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก
นตฺถิ  ปญฺญา  สมาอาภา.
แสงสว่างอื่นเสมอด้วยปัญญาไม่มี
ปญฺญา  นรานํ  รตนํ.
ปัญญาเป็นแก้วของนรชน
ปญฺญา  เจนํ  ปสาสติ.
ปญฺญาปกครองคนได้
ในข้อที่ว่า “ตาในมืด” นั้น  ก็หมายถึงคนที่ไม่มีปัญญานี้นั้นเอง  คนเราถ้าขาดปัญญาเสียอย่าง  ก็ไม่ต่างอะไรกับพร้าไม่มีคม  พร้าจะใช้ประโยชน์ได้ก็อยู่ที่คม  ถ้าพร้าขาดคมพร้าไม่มีคม  พร้านั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร  เพราะใช้อะไรไม่ได้มีไว้ก็รกที่รกทาง  วางไว้ที่ไหนก็เกะกะ  พระท่านจึงสอนว่า  คนไม่มีปัญญา  พร้าไม่มีคม  สังคมไหนก็ไม่ต้องการ  เพราะฉะนั้น  หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา  พระพุทธองค์จึงทรงสอนคนทั้งหลายในโลกให้มีปัญญา  เพราะปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก  คำว่า “โลก” ในที่นี้  ก็ชี้ไปที่มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลกนั้นเอง  ไม่ได้หมายเอาโลกคือแผ่นดิน  แต่หมายเอาคนที่อาศัยอยู่ในโลกคือแผ่นดินนั้น  เกิดมาในโลกกับเขาทั้งทีต้องมีปัญญาจึงจะครองชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี  ถ้าไม่มีปัญญาก็อยู่ในโลกกับเขาลำบาก  ถ้าอยากจะเป็นคนมีปัญญาก็ต้องยึดหลักปรัชญา  คือหัวใจของบัณฑิต ๔ คือ “สุ. จิ.ปุ.ลิ.” สุ.= สุตะฟัง, จิ= จินตะ คิด, ปุ.=ปุจฉา ถาม, ลิ.=ลิขิตะ เขียนไว้ใช้ทฤษฎีนี้  มีปัญญาแน่นอน  ตามโศลกคำกลอนว่า
สุ.จิ.ปุ.ลิ. วินิมุตฺโต  กถํ  โส  ปณฺฑิโต  ภเว
สุ.จิ.ปุ.ลิ. สุสมฺปนฺโน      ปณฺฑิโตติ  ปวุจฺจติ.
บุคคลปราศจากการฟัง,การคิด,การถาม,และการเขียน (บันทึกไว้) จะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร  ส่วนผู้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติคือการฟัง,การคิด,การถาม,และการเขียน – บันทึกไว้ นั่นแหละ ท่านเรียกว่าบัณฑิต (ผู้มีปัญญา)
นี่คือวิธีเพาะปลูกปัญญาตามหลักของพระพุทธศาสนา  ซึ่งพระพุทธเจ้าของเราทรงสอนไว้ที่สมบูรณ์ที่สุด (ครบวงจร) เพาะปลูกปัญญาทางหูใช้หูฟัง ตั้งสติ ตั้งใจให้มั่นคง ส่งกระแสจิตไปตามเสียงเทศน์,เสียงผู้สอน – ผู้บอก อย่าให้จิตวอกแวกแหกคอกไปที่อื่น ขณะที่ฟัง  ถ้าตั้งใจใหมีสติในการฟัง  ย่อมได้รับผลจากการฟังในขณะนั้นและเดี๋ยวนั้น คือ
ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง
สิ่งใดเคยฟังแล้วแต่ไม่เข้าใจชัด  ย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด
บรรเทาความสงสัยได้
ทำความเห็นผิดให้เห็นถูกต้องได้
จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส
นี่แหละวิธีเพาะปลูกปัญญาทางหูใช้หูให้เกิดปัญญา  อย่าปล่อยไว้ให้เป็นหูกะทะ  แน่นอนละ ถ้าปล่อยปละละเลยเพิกเฉยในการฟัง  ก็มีหวังเป็นหูกะทะ  อยู่ในภาวะอย่างนั้นจนวันตาย  น่าเสียดายจริง ๆ  อย่าปล่อยทิ้งให้เป็นหูกะทะกันเลย  ท่านผู้รักความเจริญทั้งหลาย  ที่กล่าวมาโดยย่อนี้  เป็นวิธีเพาะปลูกปัญญาทางหู คือการฟัง (สุตะ)
วิธีต่อไปคือ จิ. จินตะ การคิด  การคิดนี้ก็เป็นวิธีเพาะปลูกปัญญาอีกวิธีหนึ่ง  ซึ่งตรงกับทางหลุดพ้นข้อที่ ๓ ที่กล่าวไว้ในวิมุตตายนสูตรคือการใคร่ครวญพิจารณาอันเป็นลักษณะของการคิด  เมื่อใช้สติพินิจพิจารณาใคร่ครวญถูกต้องโดยอุบายอันแยบคายแล้ว  ก็ก่อให้เกิดปัญญานำไปทำลายกิเลสตัณหา  ให้วิมุตติหลุดพ้นจากความทุกข์ได้  นี่คือวิธีเพาะปลูกปัญญาด้วยการคิด (จินตะ)
อีกวิธีหนึ่งก็คือ ปุ.= ปุจฉา ได้แก่การถาม  การถามเป็นวิธีหนึ่ง  ซึ่งเป็นการเพาะปลูกปัญญาให้เกิดขึ้น  ตัวอย่างเช่นถามว่า คำว่า “อนิจจัง,ทุกขัง,อนัตตา”  ที่พูดกันมาบ่อย ๆ นั้น  มันหมายความว่าอย่างไร ?  ก็ได้รับคำอธิบายว่า ในเรื่องของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ที่ท่องจำกันมา จำกันมา แบบนกแก้วนกขุนทองนั้น  ความหมายที่แท้จริงนั้น  อนิจจัง สรรพสิ่งทั้งหลายหลายในโลก  มันเป็นของไม่เทียงมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกขณะ ไม่เคยอยู่นิ่งเลย  อุปมา – อุปไมย เช่นการไหลของกระแสน้ำในลำธารมันไหลของมันติดต่อกันไปไม่ขาดสาย  ลักษณะเช่นนี้แหละเรียกว่า “อนิจจัง”  ไม่เทียงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ส่วน “ทุกขัง” แปลว่าทนอยู่ไม่ได้ ดับไปตลอดเวลา  หมายความว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในโลก  มันก็ตกอยู่ในสภาพของ “ทุกขัง” ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้  เพราะมันดับไปอยู่ทุกขณะ  สิ่งใดเป็น “อนิจจัง” สิ่งนั้นมันก็ต้องเป็น “ทุกขัง” แน่ ๆ  ส่วน “อนัตตา” นั้น ท่านอธิบายวา สิ่งใดเป็น “อนิจจัง,ทุกขัง” สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนเป็น “อนัตตา” คือบังคับบัญชามันไม่ได้  มันไม่อยู่ในอำนาจของใคร ข้อความในธรรมุเทศท่านกล่าวไว้ว่า “โลกคือหมู่สัตว์ไม่มีอะไรเป็นเครื่องต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน”  มีใครบังคับบัญชาไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายได้ไหม  ไม่ได้แน่นอน  นี่คือคำสอนในข้อที่ว่า “อนัตตา” เมื่อได้ฟังคำอธิบายในเรื่องของ “อนิจจัง,ทุกขัง,อนัตตา” แล้ว  ความลังเลสังสัยอันเป็นปัญหาก็หมดไป  ปัญญาความรู้ความเข้าใจก็เข้ามาแทนที่  นี่คือ “ปุ. ปุจฉา” ฟังแล้ว คิดแล้ว  แต่ยังไม่เข้าใจ ยังลังเลสงสัยก็ให้ถามทันที  ถามแล้วได้ฟังคำอธิบาย  ก็หายข้อสงสัย  นี้เรียกว่าปัญญาเกิดขึ้นจากการถาม  เมื่อมีปัญญาเกิดจากการฟัง,เกิดจากการคิด,เกิดจากการถามแล้ว  กลัวจะลืม  ก็ให้เขียนไว้ ให้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน  หากมีความต้องการเมื่อไรก็เปิดอ่านทบทวนได้ทันที ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีทันสมัยก็เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ง่ายที่สุด  แต่อย่าให้เข้าหลักคำพังเพยว่า “ความรู้อยู่ในตำราก็แล้วกัน”
สรุปแล้ว บ่อเกิดปัญญาคือ สุ. จิ. ปุ. ลิ. นี้เอง
สุ.= สุตะ การฟัง ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา
จิ.= จินตะ การคิด คิดโดยอุบายแยบคาย ได้ปัญญา
ปุ. = ปุจฉา การถาม  ได้รับฟังคำอธิบายที่ดี ก็มีปัญญา
ลิ. = ลิขิต เขียนไว้ ช่วยให้ได้ปัญญา
ปัญญาเกิดจากการฟัง เรียกว่า สุตะมะยะปัญญา
ปัญญาเกิดจากการคิด เรียกว่า จินตะมะยะปัญญา
ปัญญาเกิดจากการถามในปัญหาอันลึกซึ้งเช่นโมฆราชมานพทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้า  เมื่อพระพุทธองค์ทรงตอบปัญหาจบโมฆราชมานพก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  ในขั้นนี้ก็จัดเข้าในข้อ “ภาวนามยปัญญา” ได้เช่นกัน  หันกลับมาสู่ประเด็นในเรื่องของ “ตาในมืด” อีกครั้ง “ตาใน” ได้แก่ “ปัญญาจักษุ” ตาปัญญา เมื่อมีปัญญาอยู่แล้วเช่นนี้  ทำไมตาในจึงมืด  เพราะปัญญาเป็นแสงสว่างในโลกอยู่แล้ว  จะมืดได้อย่างไรหรือมีปัจจัยอย่างอื่นทำให้ตาในมืด  ปัญหานี้ก็เป็นประเด็นที่น่าคิดอยู่เหมือนกันในเมื่อตาใน ได้แก่ “ปัญญาจักษุ” มันก็ไม่น่าจะมืด
ในประเด็นนี้ ถ้าอธิบายในลักษณะอุปมา – อุปไมย ก็อาจจะเข้าใจง่ายขึ้น เช่นดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ โดยธรรมชาติแล้ว  ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ก็มีแสงสว่างในตัวอยู่แล้ว  ทำไมบางครั้งบางคราวดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จึงมืดมิดไปเล่า? อ๋อ ! ที่บางครั้งบางคราวดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ต้องมืดมิดอับแสงไปนั้น  เพราะดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ถูกก้อนเมฆใหญ่ปกปิดเอาไว้  ก็เลยทำให้ไม่มีแสงสว่างส่องลงมาสู่โลกมนุษย์ ดังพุทธภาษิตว่า
โย  จ ปุพฺเพ ปมชฺชิตฺวา        ปจฺฉา  โส  นปฺปมชฺชติ
โสมํ  โลกํ  ปภาเสติ  อพฺภา  มุตฺโตว  จนฺทิมา.
ผู้ในประมาทในกาลก่อน  ตอนหลังไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่ายังโลกนี้ให้สว่าง  เหมือนพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอก  ส่องแสงสว่างมาสู่โลก ฉะนั้น
ได้ความว่า  พระจันทร์ พระอาทิตย์ ตามปกติก็แสงสว่าง  แต่ถ้าขณะใด พระจันทร์ พระอาทิตย์ถูกเมฆหมอกปกคลุมจนมิด  ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ก็ไม่มีแสงสว่างปรากฏออกมา  แต่ว่าแสงสว่างของดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ไม่ได้หายไปไหน  ยังคงมีอยู่ในดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์นั้นเอง  แต่ถูกเมฆหมอกปิดบังเอาไว้  ทันใดที่เมฆหมอกเคลื่อนออกพ้นดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ แสงสว่างก็จะปรากฏออกมาทันทีทันควัน   น่าอัศจรรย์ไหมละ  โยม !
เรื่องของ “ตาในมืด”  ก็ทำนองเดียวกันกับดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์  ตาใน “ปัญญาจักษุ” ตาปัญญา ตามธรรมดาก็สว่างไสว   ไม่ได้มืดมิดแต่ประการใด  แต่ถ้าขณะใด ตาในถูกกิเลสประเภท ความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้าครอบงำ  ก็ทำให้ตาในมืดมิด  ชนิดไม่รู้อรรถไม่เห็นธรรม  กิเลสคือความโลภ ความโกรธ  ความหลง ครอบงำนรชนเมื่อไร  ความมืดมิดก็ย่อมมีเมื่อนั้น เดี๋ยวนั้น ทันที ทันควัน  ดังประพันธ์พุทธภาษิตที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า
ลุทฺโธ อตฺถํ  น  ชานาติ    ลุทฺโธ  ธมฺมํ  น  ปสฺสติ
อนฺธตมํ  ตทา  โหติ  ยํ  โลโภ  สหเต  นรํ.
คนโลภย่อมไม่รู้อรรถ  คนโลภย่อมไม่เห็นธรรม
ความโลภครอบงำนรชนเมื่อไร  ความมืดมิดย่อมมีเมื่อนั้น
กุทฺโธ  อตฺถํ  น  ชานาติ  กุทฺโธ  ธมฺมํ น ปสฺสติ
อนฺธตมํ  ตทา  โหติ  ยํ  โกโธ  สหเต  นรํ.
คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ  คนโกรธย่อมไม่เห็นธรรม  ความโกรธ
ครอบงำนรชนเมื่อไร  ความมืดตื้อย่อมมีเมื่อนั้น
มุฬฺโห  อตฺถํ  น  ชานาติ   มุฬฺโห  ธมฺมํ  น  ปสฺสติ
อนฺธตมํ  ตทา  โหติ   ยํ  โมโห  สหเต  นรํ.
คนหลงย่อมไม่รู้อรรถ  คนหลงย่อมไม่เห็นธรรม ความหลง
ครอบงำนรชนเมื่อไร  ความมืดตื้อย่อมมีเมื่อนั้น
โลโภ  โทโส  จ  โมโห จ       ปุริสํ  ปาปเจตสํ
หึสนฺติ   อตฺตสมฺภูตา         ตจสารํวสมฺผลํ.
โลภะ โทสะ โมหะ เกิดจากตัวเอง ย่อมเบียดเบียนผู้มี
ใจชั่ว  ดุจขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่ (ให้ตายไป) ฉะนั้น
ตาใน (ปัญญาจักษุ) โดยธรรมชาติก็มีความสว่างอยู่แล้วก็จริง  แต่พอถูกกิเลสความเศร้าหมองทั้ง ๓ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เข้าครอบงำบีดบัง  แสงสว่างแห่งปัญญาก็ปรากฏออกมาไม่ได้  ความจริงแสงสว่างแห่งปัญญานั้นไม่ได้หายไปไหนมีอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ถูกความมืดของกิเลสทั้ง ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ ห่อหุ้มปกคลุมไว้เท่านั้นเอง  เมื่อใดกิเลสทั้ง ๓ ถูกกำจัดออกจากจิตใจ  แสงสว่างสดใสของปัญญาก็ปรากฏออกมา  ทันทีทันควันเหมือนดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ พ้นจากเมฆหมอกส่องแสงสว่างลงมาสู่โลกมนุษย์ ฉะนั้น
การที่จะกำจัดเมฆหมอกแห่งปัญญา คือ กิเลสตัณหาให้หมดไปจากจิตใจนั้น  หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา  พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เจริญจิตภาวนา  ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ มีสติตามกำหนด ตามรู้ ความเห็นกายเป็นกาย เห็นกายในกาย เนือง ๆ อยู่  มีความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน มีสัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อมมีสติระลึกรู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อย่าให้เกิดความยินดียินร้าย  มีสติตามกำหนด ตามรู้ ตามเห็น เวทนาเป็นเวทนา  เห็นเวทนาในเวทนา เนือง ๆ อยู่  มีความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน มีสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม มีสติระลึกรู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  อย่าให้เกิดความยินดียินร้าย  มีสติตามกำหนด ตามรู้ ตามเห็นจิตเป็นจิต เห็นจิตในจิตเนือง ๆ อยู่  มีความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน  มีสัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อม  มีสติระลึกรู้เท่าทันอารมณ์ที่กระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  อย่าให้เกิดความยินดียินร้าย  มีสติตามกำหนด ตามรู้ ตามเห็นธรรมเป็นธรรม เห็นธรรมในธรรม เนือง ๆ อยู่ มีความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน มีสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม มีสติระลึกรู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  อย่าให้เกิดความยินดียินร้าย
เมื่อมีสติตามกำหนด ตามรู้ ตามเห็น กาย,เวทนา,จิต,ธรรม  ตามนัยที่กล่าวมานี้เป็นนิจ  จิตก็จะหยั่งลงสู่ความสงบ ความสะอาด ความสว่าง อันเป็นทางก่อให้เกิดปัญญา ทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากจิตใจ ตาใน คือ “ปัญญาจักษุ” ก็จะสว่างไสวตลอดเวลา  เหมือนท้องฟ้าปราศจากก้อนเมฆใหญ่  ท้องฟ้าก็แจ่มใสเป็นนิจนิรันดร์
แต่เมื่อใดที่กิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลง จรเข้ามาครอบงำ  ก็ทำให้จิตเดิมแท้ที่ผ่องใสสะอาดนั้น พลันก็มืดมิดไปทันทีทันใด เหมือนท้องฟ้าที่แจ่มใส แต่ทันใดที่ถูกก้อนเมฆมหึมาปกคลุมเข้า ก็ทำเอาท้องฟ้าที่โปร่งใส ดำมืดไปทันทีทันควัน ฉันนั้นเหมือกัน ความสะอาดผ่องใสของจิตใจไม่ได้หายไปไหน  ยังมีอยู่ที่จิตใจของนั้นเองเพราะธรรมชาติของจิตใจมีความผ่องใสสะอาดอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองหมดความผ่องใสไปนั้น  ก็เพราะกิเลส ความเศร้าหมองคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ห่อหุ้มปกคลุมเอาไว้ ทันทีที่กิเลสคือ โลภะ โทสะ และโมหะ ถูกกำจัดออกไป จิตใจที่ผ่องใสก็ปรากฏออกมาทันทีในขณะนั้นเดี๋ยวนั้นเหมือนดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ที่มืดมิดเพราะถูกเมฆหมอกก้อนมหึมาปกเอาไว้  ทันใดที่ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์พ้นจากก้อนเมฆใหญ่ แสงจันทร์ แสงอาทิตย์ ก็ส่องลงมาสู่โลกให้สว่างไสวฉันใดก็ฉันนั้น
เมื่อจิตใจปราศจากกิเลสอันเป็นเหตุทำให้จิตใจเศร้าหมองแล้ว  จิตใจก็ผ่องใสทำให้ “ตาในสว่าง”  ไม่มืดไม่บอดอีกแล้ว  ต่อไปก็เข้าสู่ประเด็น “ตานอกใส – ตาในสว่าง”  การที่นำเรื่องนี้เสนอท่านทั้งหลายก็มีจุดมุ่งหมายต้องการให้ท่านทั้งหลายได้มีตาทั้งสองสอดคล้องประสานกันคือ ตานอกก็ต้องใส ตาในก็ต้องสว่าง ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการครองชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสงบสุข และปลอดภัยในชีวิตประจำวัน  ตานอกได้แก่ “มังสะจักษุ” ตาเนื้อก็ต้องใสไม่บอด ไม่มืด ไม่ฝ้า ไม่ฟาง ใช้มองดูอะไรได้ทุกอย่างทางภายนอกตามที่ต้องการ  ตาในอันได้แก่ “ปัญญาจักษุ” ตาปัญญา ทั้งสุตามยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา  กำจัดกิเลสตัณหา คือ โลภะ โทสะ โมหะ ออกจากจิตใจ ตาในก็สว่างไสวตลอดเวลา
เมื่อตาทั้งสอง คือ ตานอก “ตาเนื้อ” ก็ใส ตาใน “ตาปัญญา” ก็สว่าง  ก็เป็นทางให้คนเราครองชีวิตอยู่ในสังคมโลกด้วยด้วยความสงบสุข และปลอดภัย  ในบรรดาตาทั้งสองคือตานอกและตาในนั้น  ตาที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ก็คือตาในอันได้แก่ “ปัญญาจักษุ” ตาปัญญานั้นเอง  คนเราถ้ามีตาปัญญาสว่าง แม้ตานอก “มังสะจักษุ” ตาเนื้อจะพิการเป็นตาบอด ตามืดอย่างไร  ก็สามารถครองชีวิตอยู่ได้ด้วยความสงบสุข และปลอดภัยไม่มีปัญหาอะไร  ตัวอย่างเช่นพระจักษุบาล แม้ตานอกคือ “มังสะจักษุ” ตาเนื้อของท่านจะบอด  แต่ตาใน “ปัญญาจักษุ” ตาปัญญาของสว่างไสวได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  ครองชีวิตอยู่ด้วยความสงบสุขทุกประการ  นี่แหละ “ปัญญาจักษุ” ตาปัญญามีค่ายิ่งกว่าตาเนื้ออย่างนี้
เพื่อเป็นการเตือนจิตสะกิตใจท่านทั้งหลาย  ขอให้ทุกคนพากันประพฤติตนเป็นคนประเภท “ตานอกใส – ตาในสว่าง” นั่นแหละดีที่สุด  ซึงมนุษย์ทุกคนควรถือว่าเป็นเรื่องที่เราจะละเลยเพิกเฉยไม่ได้เป็นอันขาด  เกิดมาเป็นคนกับเขาทั้งชาติอย่าเป็นคนประมาทปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามบุญตามกรรมเพราะความประมาทเป็นทางแห่งความตาย  และคนประมาทแล้ว ก็เหมือนคนตายแล้ว มีชีวิตอยู่ก็เฉพาะลมหายใจเข้า – ออกเท่านั้น  ไม่มีประโยชน์อะไรทั้งแก่ตนเอง  และสังคมส่วนรวม  ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนทั้งในโลกนี้ และอนาคตข้างหน้า  อย่าลืมประเด็นที่ว่า “ตานอกใส – ตาในสว่าง” อันเป็นทางให้เกิดศิริมงคลส่งผลให้มีความสงบสุขในที่ทุกสถานและในกาลทุกเมื่อตลอดไป
อันตานอก  คือตาเนื้อ  ถ้าแจ่มใส
ย่อมใช้ได้   มองดู   รู้ทุกอย่าง
ไม่เหมือนกับ   ตามืด   และตาฟาง
มองทุกอย่าง   เห็นผิด   จากความจริง
เมื่อตานอก  คือตาเนื้อ  นั้นสดใส
มองอะไร   เห็นได้   ไปทุกสิ่ง
ไม่เห็นผิด   ไปจาก   ความเป็นจริง
เห็นทุกสิ่ง   จริงแท้   ไม่แปรผัน
ตานอกใส  มีค่า   น่าชูเชิด
ก่อให้เกิด   คุณค่า   อย่างน่าอัศจรรย์
มองอะไร   เห็นได้   อย่างฉับพลัน
อัศจรรย์    ส่งผล   ดัลบันดาล
อันตาใน  ตาปัญญา  ถ้าสว่าง
ก็เป็นทาง   ให้เกิดผล  มหาศาล
ตาปัญญา   เป็นปัจจัย  ใช้ประหาร
กิเลสมาร   น้อย – ใหญ่  ให้หมดไป
มีตาใน   สว่าง   สร้างความสุข
ทำลายทุกข์   ทุกอย่าง  ให้จางหาย
กำจัดโลภ  โกรธ – หลง  ให้ละลาย
กิเลสร้าย  ถูกทำลาย  เพราะปัญญา
ตาในนั้น คือปัญญา  ตาวิเศษ
พระท่านเทศน์  ตาปัญญา  แก้ปัญหา
กิเลสร้าย  ทั้งหลาย  ที่เกิดมา
ตาปัญญา  แก้ได้   ในทันที
ตาปัญญา คือตาใน  ใสสว่าง
พระกล่าวอ้าง  มีไว้   ใช้ปราบผี
กิเลสร้าย  ทั้งหลาย  บรรดามี
ตาปัญญา  ใช้ปราบผี  ได้ทันควัน ฯ