ยิ้มหลวงตาชี
ยิ้มไว้ใจสดชื่น
อายุยืนไร้โรคา
หลวงตาชี
Yearly Archives: 2014
หลวงตาชี แสดงธรรมพรปีใหม่แก่ข้าราชการสถานทูตไทย
นาวาชีวิต
ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย! เนื่องจากเดือนธันวาคม
ชาวโลกนิยมสมมติกันว่าเป็นเดือนสุดท้ายของปี ปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน เดือนมกราคมนิยมเรียกกันว่า “ปีใหม่” ส่วนเดือนธันวาคมอันเป็นเดือนสุดท้ายของปี ก็หนีไม่พ้นจากคำว่า “ปีเก่า” เราท่านทั้งหลาย เมื่อกาลเวลา วัน-คืน เดือน-ปี หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามจักรราศีของมัน ก็สมมติเรียกกันไปตามความนิยมของชาวโลก โดยเฉพาะประชาชนชาวไทยพอถึงวันสุดท้ายของเดือนธันวาคม จะเริ่มต้นของวันที่ ๑ มกราคม ก็นิยมสมมติเรียกกันว่า “ปีเก่า-ปีใหม่” แล้วก็จัดงานเฉลิมฉลองกันเป็นการใหญ่จนกลายเป็นประเพณีตั้งชื่อกันเสียดิบดีและสวยหรูว่า “งานส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่” คล้าย ๆ ว่า ปีเก่า-ปีใหม่ มันอาลัยไยดีพอใจอะไรกะเราอย่างนั้นแหละ แต่ที่แท้แล้วมันไม่รู้เรื่องอะไรกะเราเลย นี่คือเรื่องนิยมสมมติของชาวโลก ชาวโลกก็นิยมทำอะไรกันแบบโลก ๆ เพื่อให้ชาวโลกได้ตระหนักถึงความเป็นจริงตามหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา หลวงตาจึงขอเสนอเรื่อง “นาวาชีวิต” เพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้ทุกคนดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาต่อไป พระพุทธเจ้าทรงเตือนภิกษุทั้งหลายด้วยธรรมบรรยายว่า ดูกรภิกษุ เธอจงวิดเรือลำนี้ เรือลำนี้อันเธอวิดแล้ว จักถึงฝั่งโดยเร็ว เธอตัดราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว ก็จักถึงซึ่งนิพพาน (ความดับทุกข์) นี่คือพระดำรัสตรัสเตือนภิกษุทั้งหลาย ตามธรรมบรรยายนี้พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ภิกษุตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พยายามประคับประคองนาวาชีวิตให้ดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางคือความดับทุกข์ พระองค์ทรงเปรียบชีวิตของคนเราเหมือนกับเรือ เรือจักถึงจุดหมายปลายทางคือฝั่งโน้นได้ ก็ต้องอาศัย การพาย การถ่อ การวิด การแจว แล้วเรือจึงล่องแน่วตัดกระแสลำธารไปสู่ฝั่งโน้นได้ด้วยความปลอดภัย ถ้าคนใดประมาทขาดสติปล่อยให้เรือไหลไปตามกระแสลำธาร ขาดการพาย การถ่อ การวิด การแจว แล้วแต่กระแสน้ำจะพัดพาไป ในที่สุด เรือก็จะเคว้งคว้างอัปปางอย่างไม่ต้องสงสัย ชีวิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน คนฉลาดก็สามารถนำนาวาชีวิตให้ไปสู่จุดหมายปลายทาง คือความดับทุกข์ได้ด้วยการปฏิบัติธรรม ส่วนคนไหนประมาทขาดสติ ปล่อยนาวาชีวิตเป็นไปตามบุญตามกรรม ชีวิตก็ตกต่ำเหมือนเรืออัปปางลงกลางทะเลหลวง ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงเตือนภิกษุในพระพุทธศาสนา ให้นำนาวาชีวิตลำนี้ไปสู่จุดหมายปลายทางด้วยความไม่ประมาท รีบถ่อ รีบพาย รีบวิด รีบแจว แล้วเรือชีวิตที่วิดดีแล้วนั้น ก็จะพลันถึงฝั่งแห่งความสวัสดี การนำนาวาชีวิตให้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น และปลอดภัยนั้น ต้องอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องนำทาง พระพุทธเจ้าทรงวางหลักธรรมไว้ ๔ ประการคือ ๑. สังวรปธาน เพียงระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน ๒. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป ๓. ภาวนาปธาน เพียรภาวนาให้กุศลเกิดขึ้น ๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมไป หลักธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเครื่องประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของเรา การใช้ชีวิตประจำวันถ้าขาดหลักประกันก็ไม่มีความปลอดภัย เหมือนกับการใช้เรือ ถ้าเรือขาดหางเสือเรือนั้นก็อันตราย อุบายที่จะนำนาวาชีวิตไปสู่ฝั่งแห่งความสวัสดี ข้อแรกก็คือ ความสังวรระมัดระวัง คนเราส่วนใหญ่ใช้ชีวิตประจำวันกันแบบคนประมาทขาดสติ ปล่อยให้ความชั่วกิเลสตัณหาอารมณ์ฝ่ายต่ำ ไหลทะลักเข้าไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เพราะขาดหลักประกัน คือความสังวรระวัง ดังนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อบรรดามนุษย์ทั้งหลาย จึงทรงแนะอุบายป้องกันชีวิตประจำวัน ข้อแรกว่า ให้ทุกคนใช้ความระมัดระวังสังวร ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด ก่อนจะประกอบกิจอะไรลงไป ต้องใช้สติ ระวังหน้าระวังหลังให้ดี อย่าผลีผลามทำอะไรตามกิเลสอารมณ์ชักจูง สังวรปธาน เพียรระวังป้องกัน ไม่ให้กิเลสความชั่วรั่วไหลเข้าไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ เหมือนกับคนรักษาเรือไม่ให้มีรูรั่ว เรือรั่วไม่มีความปลอดภัย ฉันใด กาย วาจา ใจ ที่ไม่สังวรระวังก็ไม่ปลอดภัย ฉันนั้นเหมือนกัน คนเรามีประตูที่จะต้องเอาใจใส่ระวังรักษาอยู่ ๓ ประตูคือ ประตูกาย เรียกกายทวาร, ประตูวาจา เรียกวจีทวาร, ประตูใจ เรียกมโนทวาร กิเลสความชั่วทั้งหลายแหล่ที่เกิดขึ้นแก่คนเรานั้น ก็เกิดขึ้นทางประตูทั้ง ๓ นี้เอง ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงเตือนให้ทุกคนปิดประตูทั้ง ๓ นี้เสีย อย่าให้กิเลสความชั่วรั่วไหลเข้าไป เพื่อความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน การป้องกันกิเลสความชั่วไม่ให้รั่วไหลเข้าไปทางกาย ทางวาจา และทางใจนั้น ก็คือการไม่ทำความชั่วทางกาย ไม่พูดชั่วทางวาจา และไม่คิดชั่วทางใจนั้นเอง คือให้มีหิริ ความละอายต่อความชั่ว โอตตัปปะ กลัวต่อผลของบาปกรรม อย่าทำความชั่ว ทั้งในที่ลับ ทั้งในที่แจ้ง เช่น จะพูดชั่ว พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดหยาบคาย พูดเหลวไหล ก็ให้เกิดความละอายแก่ใจขึ้นมา แล้วระงับปากปิดปากไว้เสียอย่าพูด เพราะการพูดชั่วไม่ดี เป็นเสนียดจัญไร ถ้าจะทำชั่ว ก็ให้เกิดความละอาย ระงับกายไว้ได้อย่าให้กายฆ่าสัตว์ อย่าลักทรัพย์ อย่าประพฤติผิดในกาม เพราะเป็นของเลวทรามนำความทุกข์มาให้ ถ้าจะคิดชั่ว ก็ให้ละอายระงับใจ อย่าโลภอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน อย่าคิดอาฆาตพยาบาทจองเวร อย่าคิดเบียดเบียนคนอื่น และสัตว์อื่น ให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน อย่าคิดผิดทำนองคลองธรรม เมื่อไม่ทำ ไม่พูด ไม่คิด ในทางทุจริตเช่นนี้เรียกว่าเป็นการระวังความชั่วไม่ให้เกิดขึ้น เมื่อความชั่วไม่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา และทางใจ คนเราก็มีกายบริสุทธิ์ มีวาจาบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ ซึ่งเรียกว่า กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีพฤติกรรมทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่เป็นพิษเป็นภัยทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น เป็นสุจริตชน คือคนดีคนบริสุทธิ์ ตามหลักของพระพุทธศาสนาเพราะฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตประจำวันเป็นหลักประกันให้นาวาชีวิตมุ่งตรงไปสู่หลักชัย คือ ความสงบสุขอันยอดปรารถนา พระพุทธศาสนาจึงวางหลัก “สังวรปธาน” ไว้เป็นอันดับแรก เพื่อให้ทุกคนใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตประจำวัน ปหานปธาน เพียรละกิเลสความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วทางกาย ทางวาจา และทางใจ ให้หมดไป ธรรมดาสามัญชนคนที่ยังมีกิเลสตัณหาห่อหุ้มจิตใจอยู่ ส่วนใหญ่ก็มักจะตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความประมาทขาดสติ จะทำ จะพูด จะคิด จะประกอบกิจอะไรลงไป ก็เป็นไปด้วยความวู่วามตามอารมณ์ชักจูง ด้วยเหตุนี้ ชีวิตประจำวันของคนประมาทขาดสติ ไม่สังวรระมัดระวังจึงเป็นดังเรือขาดหางเสือ จะแล่นไปเหนือ ไปใต้ ก็แล้วแต่กระแสลมจะพัดไป หาจุดหมายปลายทางอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็อัปปางกลางทะเลลึก คนที่ขาดการสังวรระวัง ก็เป็นดังเรือขาดหางเสือไม่มีผิด นาวาชีวิตก็ไหลไปตามยถากรรม ความชั่วเข้าครอบงำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ด้วยอำนาจของอารมณ์ เช่น อารมณ์ล่อให้รักก็รักเสียจนหลงจนลืม อารมณ์ยั่วให้โกรธก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กินไม่ได้นอนไม่หลับ อารมณ์หลอกให้หลงก็หลงเสียจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นี่คือลักษณะของคนทำอะไรตามอารมณ์ชักจูง ก็เหมือนกับเรือขาดหางเสือถูกลมพัดไปฉะนั้น แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อคนเราประมาทขาดสติ ปล่อยให้กิเลสความชั่วรั่วไหลเข้าไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ เช่นนี้ ก็ยังมีโอกาสแก้ตัวที่จะนำหลักประกันนาวาชีวิตประการที่สองมาใช้ในขั้นต่อไป นั่นคือ “ปหานปธาน” เพียรละกิเลสความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป ถือหลักว่า “เมื่อกันไม่ทัน ก็ต้องแก้” การกัน กับ การแก้ เป็นของคู่กัน เหมือนกับเรือ เมื่อเรือมันรั่วก็ต้องอุด ต้องยา การอุดเรือก็ต้องนำเอาส่วนที่เสียทิ้งไป แล้วเอาของใหม่ใส่แทน เรือก็แล่นไปได้เช่นเคย นาวาชีวิตก็ไม่ผิดอะไรกับเรือธรรมดา พระบรมศาสดาทรงสอนให้ละความโกรธด้วยความไม่โกรธ ให้ละความชั่วด้วยความดี ให้ละความตระหนี่ด้วยการให้ ให้ละความเหลวไหลด้วยความสัตย์จริง เมื่อความชั่วมันเกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา และทางใจ มันเป็นพิษเป็นภัยทั้งแก่ตนเองและคนอื่น ก็ควรละมันให้หมด อย่าปล่อยให้มันหมักหมมอยู่ในจิตใจ เพราะความชั่วมันเป็นของบูด ของเน่า ของเหม็น ของไม่เป็นศิริมงคล ต้องละให้หมดอย่าให้เหลือไว้แม้แต่น้อยนิด ความชั่วแม้แต่น้อยนิดก็เป็นพิษเป็นภัย ทำลายจิตใจให้เสื่อมคุณภาพขาดคุณธรรม เมื่อใดเราละความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ ได้แล้ว กาย วาจา ใจ ของเราก็เหมาะสำหรับเพาะปลูกคุณงามความดี เราก็ใช้หลักประกันชีวิตประการที่สามคือ “ภาวนาปธาน” ภาวนาปธาน เพียรสร้างกุศลความดีให้เกิดขึ้นในจิตใจ บุญกุศลความดีความงามตามด้วยคุณธรรม ศีลธรรม หรือ ทาน ศีล ภาวนา เราต้องแสวงหาและหมั่นสั่งสมอบรมเพาะปลูกให้เกิดขึ้นทีละน้อยๆ อย่าปล่อยกาลเวลาให้ล่วงไปเปล่าๆ โดยที่เราไม่ได้ทำประโยชน์อะไร การอยู่ร่วมกันในสังคม เราจะต้องเป็นคนรู้จักเสียสละ ให้ทานแบ่งปันวัตถุสิ่งของ เพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์ซึ่งกันและกันตามฐานะ อย่าเป็นคนตระหนี่เห็นแก่ตัว การให้ทานเป็นการผูกไมตรีสร้างพลังแห่งความสามัคคีให้เป็นปึกแผ่น แกนสำคัญของสังคมอยู่ที่การเสียสละ สังคมใดขาดคนมีน้ำใจในการเสียสละ สังคมนั้นก็มีแต่ความระส่ำระสายวุ่นวายรวมกันไม่ติด ต่างคนต่างก็จะเอาตัวรอด ตัวใครตัวมัน กระดูกขัดมันไม่เห็นแก่ส่วนรวม ลงแบบนี้ละก็สังคมมนุษย์จะอยู่กันรอดได้อย่างไร เพราะจิตใจของคนในสังคมเต็มอัดไปด้วยความเห็นแก่ตัว ด้วยเหตุนี้ จึงควรที่ทุกคนจะต้องสร้างความดีด้วยการให้ทาน การแบ่งปัน เพื่อสร้างสรรค์จรรโลงสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันให้เกิดสันติสุข อีกประการหนึ่ง การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น จำเป็นต้องอยู่กันอย่างมีระเบียบวินัยแบบแผน เริ่มแรกก็ต้องประพฤติตนให้เป็นคนมีศีล ศีลก็ได้แก่ระเบียบวินัยนั่นเอง เราต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นคนเคารพเคร่งครัดต่อระเบียบวินัย อย่าทำอะไรตามชอบใจ ต้องยึดถือระเบียบวินัยเป็นบรรทัดฐาน การเป็นคนเคร่งครัดต่อระเบียบวินัย ควบคุมตนเองให้อยู่ในกฎกติกา ได้ชื่อว่าเป็นคนมีศีล เมื่อเป็นคนมีศีล พฤติกรรมที่แสดงออกมาทางกายทางวาจา ทางใจ ก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคม ตนเองก็ไม่เดือดร้อนนอนเป็นสุข ดังนั้น ทุกคนจึงควรประพฤติตนให้เป็นคนมีศีล เคร่งครัดต่อระเบียบวินัย จึงจะมีความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เมื่อสั่งสมอบรม ทาน ศีล ให้เกิดให้มีขึ้นในจิตใจแล้ว ก้าวต่อไปก็ควรเจริญภาวนา เพื่อให้เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง คำว่า “ภาวนา” แปลว่า การทำให้เกิดให้มีขึ้นให้เจริญขึ้น คือทำกุศล คุณงามความดี ทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้เจริญขึ้น ให้มากขึ้น ให้ถาวรมั่นคงยิ่งขึ้น การเจริญภาวนาที่ถูกต้องนั้น ก็ได้แก่การฝึกฝนอบรมจิตใจของตนนั้นเอง ฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแน่แน่วดีแล้ว สติสัมปชัญญะก็เจริญสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจิตก็ยิ่งมีกำลังแจ่มใส สะอาด สว่างยิ่งขึ้น จิตที่สงบเป็นสมาธิดีแล้วนั้น ประกอบด้วยลักษณะ ๓ ประการคือ ๑. ปริสุทโธ บริสุทธิ์ ผ่องใส สะอาด ปราศจากกิเลสที่เป็นเหตุทำให้จิตขุ่นมัว ๒. สมาหิโต เป็นจิตตั้งมั่น เข้มแข็ง หนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่มายั่วยวนชวนให้ยินดียินร้าย ๓. กัมมนีโย เป็นจิตคล่องแคล่วว่องไว รู้ทันต่ออารมณ์ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมาะแก่การทำงานเพื่อทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปสิ้นไป การสั่งสมอบรมคุณงามความดี บุญกุศล ทุกคนควรพากเพียรพยายามทำเป็นประจำในชีวิตประจำวัน เพื่อประกันนาวาชีวิตให้มีความปลอดภัย บุญกุศล คุณงามความดี ศีลธรรม คุณธรรม ที่เราสั่งสมอบรมไว้ดีแล้ว ก็ควรเอาใจใส่ดูแลรักษาไว้ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ข้อนี้ก็ต้องอาศัย อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาบุญกุศลไม่ให้เสื่อมเสียไป ทรัพย์สมบัติภายนอก คุณธรรม ศีลธรรมภายใน ที่เราแสวงหามาได้ และสั่งสมให้เกิดขึ้นแล้วนั้น ถ้าขาดการเอาใจใส่ดูแลรักษา ทรัพย์สมบัติ คุณธรรม ศีลธรรมเหล่านั้น ก็ย่อมหมดไป และเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา การเพียรรักษาบุญกุศล คุณงามความดี ที่บำเพ็ญไว้แล้วไม่ให้เสื่อมเสียไปนั้น ก็คือ พยายามทำความดีให้ทวียิ่ง ๆ ขึ้นไปนั่นเอง ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น ควรใช้หลักประกันชีวิตทั้ง ๔ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ คือ ระวังป้องกันความชั่วอย่าให้รั่วไหลเข้าไปสู่จิต, ป้องกันไม่มิดความชั่วรั่วไหลเข้าไปสู่จิตได้ ก็ควรใช้หลักที่สอง คือต้องละความชั่วนั้นให้หมดไป, ก้าวต่อไป ตั้งใจสร้างความดี, ข้อสุดท้าย ใช้วิธีรักษาความดีนั้นไม่ให้เสื่อมเสียไป การป้องกันคู่กับการแก้, การสร้างคู่กับการรักษา นี่คือหลักปรัชญา ที่จะนำนาวาชีวิตไปสู่ฝั่งแห่งความสวัสดี และมีความปลอดภัย โปรดนำไปใช้ในชีวิตประจำวันกันเถิด จะเกิดสิริมงคลส่งผลดีทั้งแก่ตนเอง และคนอื่นตลอดสังคมส่วนรวมประเทศชาติ อันนาวา ชีวิต ของเรานั้น ต้องช่วยกัน ผลักดัน อย่านิ่งเฉย ต้องรีบพาย รีบแจว อย่าละเลย ถ้าเพิกเฉย เรือจะล่ม จมกลางครัน หากทุกคน หวังก้าวหน้า ในชีวิต ก็ต้องวิด นาวา อย่าเหหัน ให้ถึงฝั่ง จุดหมาย ได้ทันควัน จุดหมายนั้น คือนาวา ต้องปลอดภัย เมื่อทุกคน สนใจ ใช้ธรรมะ แน่นอนละ ต้องถึงฝั่ง ดังมุ่งหมาย เพราะธรรมะ ย่อมชนะ ภยันตราย เราจะได้ ประสบสุข ทุกเมื่อแล