ประวัติหลวงตาชี

ภูมิหลัง
พระมหาสุรศักดิ์ ชีวานันโท (ธรรมรัตน์) เกิดเมื่อวันอังคาร ที่ ๙ มิถุนายน ตรงกับวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่บ้านโพนงาม ตำบลบ้านค้อ อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม บิดาชื่อ จันทร์ มารดาชื่อ มุน นามสกุล สุขรี เป็นตระกูลชาวนา มีพี่น้อง ๙ คน ปัจจุบันมีชีวิตอยู่ ๕ คน พระมหาสุรศักดิ์เป็นบุตรคนที่ ๔

ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ อายุ ๑๒ ปี เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลบ้านโพนงาม เปิดเป็นปีแรก เป็นนักเรียนรุ่นแรก การเรียนอยู่ในขั้นดี สอบได้ที่หนึ่งตลอด ขยันไปโรงเรียนไม่เคยขาด ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ สอบได้ประถมปีที่สอง ก็ออกจากโรงเรียนในปีนั้น เพราะอายุครบ ๑๔ ปี ตามระเบียบของประถมศึกษา เรียนต่อไปไม่ได้ ก็ต้องจำใจออกทั้ง ๆ ที่มีความรักการศึกษา

สู่ร่มผ้ากาสาวพัตร์
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ นั้นเอง ก็เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วิสาขบูชา) ที่วัดโพธิ์ไทร บ้านโพนงาม มีพระอุปัชฌายะหงษ์ สิทฺธโร เป็นพระอุปัชฌายะ

หลังจากบวชเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้ศึกษาเรียนรู้ตามประเพณี(บวชเรียน) คือเรียนรู้หนังสือธรรม(อักษรธรรม) เหมือนหนังสือพม่า ใช้สำหรับบันทึกหลักธรรมทางศาสนา ซึ่งเขียนจารลงในใบลาน วิธีเรียน ก็เรียนอ่านกันเลย ไม่ได้เรียน ก ข ก กา แบบเรียนหนังสือไทย แต่เรียนอ่านกับอาจารย์ตัวต่อตัว ถือหนังสือผูกที่จะเรียนเข้าไปกราบอาจารย์ นั่งหันหลังให้ท่าน ท่านหันหน้าเข้าหาเรา แล้วท่านก็อ่านนำ เราก็อ่านตาม ทีละหลายประโยค อ่านกลับไปกลับมา จนจำได้แล้ว ท่านก็อ่านนำต่อไป เราก็อ่านตาม เรียนเช่นนี้เป็นประจำทุกวัน วันละ ๒-๓ เวลา(ครั้ง) หรือแล้วแต่ผู้เรียน ถ้าเรียนเก่งหัวดี จำไว ก็เรียนได้มาก ถ้าหากหัวทึบ ความจำเลื่อนลอย ก็ค่อยเรียนค่อยไป หนังสือเรียนส่วนมากก็เป็นแนวการเทศน์ธรรมะ ที่พระอาจารย์รุ่นก่อนท่านแต่งไว้ เช่น บารมี ๑๐ ทัศ คาถาอุณหิสสวิชัย อานิสงส์ต่าง ๆ มีชาดก และปกรณ์ต่างๆ ในเชิงวรรณคดี วรรณกรรม ของภาคอีสาน ที่คนในยุคโบราณท่านเรียบเรียงกันไว้

เนื่องจากสามเณรศักดิ์ มีความจำค่อนข้างดี บวชเรียนเขียนอ่านประมาณ ๕-๖ เดือน ก็สามารถอ่านหนังสือธรรมได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว มีความรู้ความเข้าใจในหนังสือธรรมเป็นอย่างดี อ่านหนังสือต่าง ๆ ด้วยตนเองโดยที่อาจารย์ไม่ต้องอ่านนำไม่ต้องสอน นอกจากจะอ่านได้ดีแล้ว ยังเขียนได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

ในด้านการสวดมนต์ต่าง ๆ ก็ต้องเรียนต่อจาก พระอาจารย์อีกเหมือนกัน เรียกว่าต่อหนังสือ ต่อสวดมนต์(มุขปาฐะ) เรียนปากต่อปาก พระอาจารย์ว่านำ เราก็ว่าตามท่าน ว่าซ้ำ ๆ ซาก ๆ กลับไปกลับมา พอจำได้ดี ก็เรียนต่อไป เรียนต่อสวดมนต์ ขยันประจำทุกวัน เหมือนกับการเรียนหนังสือ ใครหัวดีจำได้ไว ก็ต่อสวดมนต์ได้มาก ใครหัวขี้เท่อ ได้หน้าลืมหลังก็เรียนช้าหน่อย สามเณรศักดิ์มีความจำเป็นเยี่ยมในบรรดาพระเณรทั้งหลาย จึงง่ายในการเรียนต่อสวดมนต์ ส่วนใหญ่เรียนต่อสวดมนต์กันไปจนจบเจ็ดตำนาน จากนั้นก็ขึ้นกับความสนใจใฝ่ใจในการเรียนของแต่ละคน ถ้าใครสนใจก็เรียนต่อสวดมนต์ไปจนจบสิบสองตำนาน สามเณรศักดิ์ก็เรียนต่อสวดมนต์ไปเรื่อยๆ จนพระอาจารย์ไม่มีอะไรจะต่อให้ ก็หยุดต่อเพราะไม่มีครูสอน ข้อพิเศษที่สุดก็คือ สามเณรศักดิ์เรียนต่อสวดพระปาติโมกข์จบภายใน ๑๗ วันเป็นที่อัศจรรย์แก่บรรดาพระเณรทั้งหลาย เพราะไม่เคยมีพระเณรรูปไหนทำได้มาก่อนเช่นนี้

เมื่อเรียนหนังสือ และเรียนต่อสวดมนต์ตามประเพณีจนมีความเข้าใจอะไรต่าง ๆ ได้แล้ว ก็ไม่มีครูอาจารย์สอนอะไรอีกต่อไป หลังจากบวชเณรมาเป็นเวลา ๓-๔ ปี ก็พอดีได้ทราบข่าวว่า ทางวัดโพธิ์ศรีแก้ว บ้านคำชะอี กิ่งอำเภอคำชะอี ได้เปิดสอนเรียนนักธรรมมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

ในปีพ.ศ. ๒๔๘๖ สามเณรจึงตัดสินใจออกจากวัดบ้านโพนงาม ไปเรียนนักธรรมที่สำนักวัดโพธิ์ศรีแก้ว นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของพระพุทธศาสนา ทำให้ตื่นเต้นดีใจ เหมือนปลาได้น้ำใหม่ เข้าใจตัวเองในขณะนั้นว่า เป็นคนละคนกับแต่ก่อน ย้อนอดีต ทำให้ตั้งใจเรียนอย่างจริงจัง ด้วยหวังจะต้องสอบนักธรรมชั้นตรีให้ได้ในปีการศึกษานี้ แล้วความหวังนั้นก็เป็นความจริงขึ้นมาสมดังความปรารถนาทุกประการ คือสอบผ่านนักธรรมชั้นตรี ในสนามหลวงได้ และได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของนักเรียนทั้งหมด

เพื่อให้การเรียนการศึกษาต่อเนื่องกัน สามเณรจึงตัดสินใจไปอยู่ประจำที่วัดโพธิ์ศรีแก้วในปีถัดไป และในปีการศึกษา ๒๔๘๗ นั้นเอง ก็สอบนักธรรมชั้นโทได้ เมื่อสอบนักธรรมชั้นโทได้แล้ว ก็ไม่ได้เรียนนักธรรมชั้นเอกต่อ เพราะไม่มีครูสอน จะเรียนด้วยตนเองก็ยากลำบาก เลยพักการเรียน พอดีทางวัดให้เป็นครูสอนนักธรรมชั้นตรีช่วย เลยทำหน้าที่สอนนักธรรมชั้นตรี ตามที่ทางวัดขอร้อง เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นการชั่วคราว

อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดโพธิ์ศรีแก้ว มีพระอุปัชฌาย์ลุน เขมิโย เจ้าคณะกิ่งอำเภอคำชะอี เป็นพระอุปัชฌายะ พระลำแก้ว ญาณวโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระเพ็ง สุรกฺขิโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีฉายาว่า ชีวานนฺโท เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๘๘ เวลา ๑๖.๔๐ น.

ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๘ นี้เหมือนกัน ได้เดินทางเข้าไปศึกษาต่อที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ ตามความประสงค์ของพระอุปัชฌายะ ศึกษาอยู่วัดมหาธาตุฯ เป็นเวลา ๔-๕ ปี สอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๔ ประโยค นอกจากการเรียนประจำแล้ว ก็ได้เรียนรู้อะไรมากมายจากสำนักวัดมหาธาตุฯ ซึ่งเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงที่สุดในทุก ๆ ด้าน การปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ ขนบธรรมเนียม ระเบียบแบบแผน การเทศน์ การสอน ได้รับจากครูบาอาจารย์แห่งสำนักวัดมหาธาตุฯทุกอย่าง พร้อมที่จะออกสนามได้ทุกเมื่อ เพราะมีความพร้อมในการที่จะทำงานพระศาสนา ตั้งใจอยากจะศึกษาต่อไปให้มากกว่านี้ แต่พอดีพระอุปัชฌายะขอร้องให้กลับสำนักเดิม เพื่อช่วยทำงานการคณะสงฆ์ในอำเภอคำชะอี เพราะไม่มีพระที่มีความรู้ช่วยทำงาน ในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอที่ท่านดำรงอยู่

ชีวิตความเป็นอยู่ภายในวัดมหาธาตุฯ ขณะที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่นั้น สอนให้พระมหาสุรศักดิ์ มีน้ำอดน้ำทน เพราะลำบากในการขบฉัน ต้องช่วยตัวเองทุกอย่าง และในเวลานั้น สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติลงใหม่ ๆ ทำให้ข้าวยากหมากแพง รัฐบาลต้องออกบัตรปันส่วนในการซื้อข้าวปลาอาหาร การเป็นอยู่ของพระเณรก็เลยได้รับผลกระทบไปด้วย ต้องช่วยตัวเอง เพราะออกบิณฑบาตก็ไม่ค่อยจะได้ ต้องอดมื้อกินมื้อ บางวันก็ไม่ต้องฉัน เพราะไม่มีอะไรจะฉัน มันทรมานเอาการเหมือนกัน แต่ก็ดีทำให้รู้รสว่า ความอดคืออะไร ตั้งใจเรียนไม่ต้องท้อถอย ความสำเร็จกำลังคอยอยู่ข้างหน้า ต้องเสกคาถาบทนี้ปลุกใจตัวเองตลอดเวลา ปัญหาเรื่องความอดอยากก็ครอบงำจิตใจเราไม่ได้ เพราะถือเป็นของธรรมดา ความอดอยากสอนให้พระมหาสุรศักดิ์ มีความอดทน เข้มแข็ง หนักแน่น มั่นคง และมีน้ำใจเสียสละ รักธรรมะเป็นชีวิตจิตใจทีเดียว ธรรมะอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความปลอดภัย ตั้งใจเรียนเพียรพยายาม เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องธรรมะ แล้วนำออกประกาศเผยแผ่แก่ประชาชน เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันกันต่อไป นี่คือเสี้ยวหนึ่งของชีวิต ขณะที่ศึกษาอยู่วัดมหาธาตุฯ ไม่อาจจะลืมได้จนทุกวันน

กลับสู่มาตุภูมิ
ดังนั้น ในกลางปี ๒๔๙๔ พระมหาสุรศักดิ์ จึงจำเป็นต้องกลับสำนักเดิม วัดโพธิ์ศรีแก้ว เพื่อสนองงานคณะสงฆ์ ซึ่งพระอุปัชฌายะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภออยู่ เนื่องจากในเขตอำเภอคำชะอี หาพระที่ได้รับการศึกษาจากส่วนกลางในระดับมหาเปรียญไม่มีเลย พระมหาสุรศักดิ์ จึงเป็นพระมหาเปรียญรูปแรกในเขตอำเภอนี้

ในเวลานั้น ทางคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรไทยได้ใช้พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.-๒๔๘๔ เป็นแม่บทในการปกครอง แบ่งการปกครองเป็น ๔ องค์การ คือ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่และองค์การสาธารณูปการ

เมื่อกลับขึ้นมาประจำวัดโพธิ์ศรีแก้ว อันเป็นสำนักเดิมแล้วก็ได้เริ่มทำงานคณะสงฆ์ประจำอำเภอคำชะอี เกือบทุกองค์การเพราะหาพระทำงานเป็นไม่ค่อยมี จึงต้องรับทำงานในหน้าที่องค์การต่าง ๆ เกือบทุกองค์การ ตั้งแต่หน้าที่องค์การปกครอง (เจ้าคณะอำเภอ) เลขานุการอำเภอ ศึกษาอำเภอ เผยแผ่อำเภอ สาธารณูปการอำเภอ เรียกว่า ทำงานนอกหน้าที่ คือไม่ใช่หน้าที่ของตน แต่ไปรับทำหน้าที่แทน เพื่อให้งานคณะสงฆ์ งานพระศาสนาดำเนินไปด้วยดี

นอกจากงานในตำแหน่งต่าง ๆ แล้ว ก็ต้องทำหน้าที่เป็นครูสอนนักธรรมประจำสำนักเรียนวัดโพธิ์ศรีแก้วด้วย อันนี้เป็นการทำงานในหน้าที่โดยตรง เนื่องจากใน ๒-๓ ปีแรกหาครูช่วยไม่ได้ จึงต้องรับหน้าที่สอนคนเดียว ตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี โท เอก และธรรมศึกษาด้วย ต้องเปิดสอนทั้งภาคเช้า – ภาคบ่าย ทำงานหนักแต่ก็ทำได้ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมีใจรักในการทำงาน เพื่อรับใช้ทางศาสนารับใช้พระพุทธเจ้า

งานเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ในด้านการเผยแผ่พระศาสนา อบรมศีลธรรมแก่ประชาชนก็ทำเป็นประจำทั้งภายในวัด และภายนอกวัด ตลอดจนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตอำเภอคำชะอี และอำเภอต่างๆ ในระหว่างที่พระมหาสุรศักดิ์ ชีวานันโท มาประจำทำงานพระศาสนาเผยแผ่อบรมศีลธรรมประจำวัดโพธิ์ศรีแก้วนั้น ทำให้ประชาชนชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ต่างก็มีความสนใจตื่นตัวในการพากันเข้าวัด ฟังธรรม จำศีล เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ วันพระแต่ละวัน มีศรัทธาสาธุชนหนู่มสาว อุบาสก อุบาสิกา เข้าวัดฟังธรรม รักษาอุโบสถศีล เพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยลำดับ นับว่า เป็นยุคทองของพระศาสนาก็ว่าได้ไม่มีผิด ทุกคนครองชีวิตอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งพระธรรม ส่วนพระภิกษุสามเณรก็มีความตื่นตัวในการศึกษาเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ ท่านพระมหาสุรศักดิ์ มีความตั้งใจจะสร้างพระสร้างเณร และสร้างคน เพื่อให้เป็นกำลังในการทำงาน พระศาสนาในกาลข้างหน้าจึงได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด กำลังสติปัญญา เพื่องานพระศาสนาแบบอุทิศชีวิตทีเดียว

ในการเจริญสมาธิภาวนา พระมหาสุรศักดิ์ ก็ได้ทำการสอนด้วยตนเอง เพราะตอนศึกษาอยู่วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ นั้น ก็ได้เรียนฝึกหัดการเจริญสมาธิภาวนา จากพระอาจารย์ภัททันตะ วิลาสเถระ วัดดอนยานนาวา จากหลวงพ่อสด (พระมงคลเทพมุนี) วัดปากน้ำภาษีเจริญ และจากพระอาจารย์สุข (พระภาวนาภิรามเถระ) วัดระฆังฯ และได้ศึกษาพระอภิธรรม จากอาจารย์สาย สายเกษม ชาวพม่า สอนอยู่ที่วัดระฆังฯ จบ ๙ ปริเฉท เป็นเหตุให้มีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานพอสมควร ดังนั้น เมื่อกลับขึ้นมาประจำสำนักเดิมจึงส่งเสริมให้พระเณร อุบาสก อุบาสิกา ประชาชนชาวบ้านทั่วไป ให้มีความสนใจในการเจริญสมาธิภาวนา ซึ่งเป็นนโยบายของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) สมณศักดิ์ในเวลานั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ต้องการให้พระเณร ตลอดประชาชนชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ได้ปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักของมหาสติปัฏฐาน

พระมหาสุรศักดิ์ ชีวานันโท ได้สร้างสำนักวิปัสสนาขึ้นแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นป่าธรรมชาติ เหมาะกับการเจริญสมาธิภาวนา ไม่ห่างจากหมู่บ้านและวัดเก่ามากนัก มีคนสนใจในการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นประจำ กิจการก็ดำเนินไปด้วยความราบรื่น ทำให้คนตื่นตัวในการปฏิบัติธรรม นำวิถีชีวิตเข้าสู่ความเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ละทิ้งประเพณีเชื่อผีเชื่อเจ้า หันหน้าเข้าหาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึกทางจิตใจเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ นับว่าพระธรรมได้สาดแสงเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนให้พ้นจากความงมงาย ด้วยอุบายแห่งการปฏิบัติวิปัสสนา

สนองงานคณะสงฆ์
พระมหาสุรศักดิ์ ชีวานันโท ได้สนองงานคณะสงฆ์ในองค์การ ต่าง ๆ ที่วัดโพธิ์ศรีแก้ว อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม เป็นเวลา ๙ ปีเศษ งานที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่ง มีดังนี้

พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ประจำสำนักเรียนวัดโพธิ์ศรีแก้ว
พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นศึกษาอำเภอคำชะอี
พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นตรีจังหวัดนครพนม
พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นเจ้าคณะอำเภอคำชะอี และเป็นอุปัชฌายะ
พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีแก้ว

ผลงานการศึกษาแผนกธรรมดีเด่น
พ.ศ. ๒๔๙๗ นักเรียนสำนักเรียนวัดโพธิ์ศรีแก้วได้ที่หนึ่งของภาค
พ.ศ.๒๔๙๘ นักเรียนสำนักเรียนวัดโพธิ์ศรีแก้วได้ที่หนึ่งของประเทศ

พระมหาสุรศักดิ์ ชีวานันโท ทำงานคณะสงฆ์ประจำตำแหน่งต่างๆ ในเขตอำเภอคำชะอี เป็นเวลา ๙ ปีเศษ ในช่วงระยะเวลานี้เอง ที่พระภิกษุสามเณรตลอดถึงประชาชนชาวบ้านทั่ว ๆ ไป มีความตื่นตัวสนใจในการฟังธรรม จำศีล ให้ทาน ทำการเจริญสมาธิภาวนา เพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกปี งานในด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ ก็ดำเนินไปอย่างกว้างไกล และได้ผลเป็นที่น่าภูมิใจ เพราะคนทั่วไปใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา พระมหาสุรศักดิ์ ได้ส่งพระเณรไปศึกษาตามสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงในจังหวัดต่าง ๆ และนำลงไปฝากเรียนที่กรุงเทพฯ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะได้พระเณรที่มีการศึกษาดีมาช่วยงานพระศาสนาในกาลข้างหน้า ตามความตั้งใจของพระมหาสุรศักดิ์ในข้อที่ว่า สร้างพระเณรให้มีปัญญา แล้วพระศาสนาก็จะเจริญรุ่งเรือง

ปฏิบัติธรรมขั้นอุกฤษฎ์
ในพรรษาปี พ.ศ.๒๕๐๗ พระมหาสุรศักดิ์ ชีวานันโท ได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่สำนักวิเวกอาศรม ชลบุรี ซึ่งเป็นสำนักปฏิบัติวิปัสสนาโดยเฉพาะ มีพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ เป็นพระวิปัสสนาจารย์ให้การสอน การอบรม การทดสอบอารมณ์เป็นประจำ การปฏิบัติวิปัสสนาครั้งนี้ นับว่าได้กัลยาณมิตรที่ดี คือพระอาจารย์ดีมีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ ทำให้การปฏิบัติ วิปัสสนาก้าวหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง สติ สมาธิ ปัญญา ก็ได้รับการพัฒนา ตามหลักของมหาสติปัฏฐาน เป็นการดำเนินตามศีล สมาธิ ปัญญา แบบครบวงจร

เป็นเวลา ๖ เดือนเศษ ที่พระมหาสุรศักดิ์ ขังตัวเองอยู่ในห้องปฏิบัติกรรมฐาน โดยไม่มีการติดต่อกับบุคคลภายนอก นอกจากพระอาจารย์ผู้สอน ผู้ทดสอบอารมณ์ วันละครั้ง หรือหลายครั้ง ถ้ามีปัญหาจะถามอาจารย์ เป็นการปฏิบัติแบบติวเข้ม (อุกฤษฎ์) จำวัดเฉพาะกลางคืน ๒-๓ ชั่วโมง ฉันอาหารมื้อเดียว โดยออกบิณฑบาต แล้วกลับมาฉันในบาตร ฉันน้อย นอนน้อย พูดน้อย ปฏิบัติมาก ทำความเพียรมาก ระยะเวลา ๖ เดือนเศษ เป็นเหตุทำให้อินทรีย์ห้า คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พัฒนาเจริญขึ้นตามลำดับ นับอยู่ในขั้นที่เรียกว่า รู้ว่าอะไร เป็นอะไร เป็นที่พอใจของพระอาจารย์ผู้สอน ผู้ทดสอบอารมณ์ สมควรจะได้เรียนรู้วิชาครูในขั้นต่อไป

ในเมื่อพระอาจารย์เห็นสมควรให้ศึกษาวิชาครู เพื่อเรียนรู้วิธีสอน วิธีสอบอารมณ์ต่อไป จึงได้เข้ารับการอบรมศึกษาวิชาครูจากพระอาจารย์ผู้ชำนาญในภาคปฏิบัติและมีความสันทัดจัดเจนในเชิงการสอน จนมีความรู้ความเข้าใจแนวการสอน และการสอบอารมณ์ ตลอดการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับโยคีผู้ปฏิบัติ เมื่อพระอาจารย์ทดสอบจนเป็นที่แน่ใจแล้ว จึงได้รับมอบหมายให้ช่วยสอนโยคีที่เข้ามาปฏิบัติวิปัสสนาในสำนักวิเวกอาศรม เพื่อเป็นการทดลอง พระมหาสุรศักดิ์ ก็ทำหน้าที่การสอนโยคีได้ดี เป็นที่ไว้วางใจของพระอาจารย์อาสภเถระ พระอาจารย์ใหญ่ประจำสำนักวิเวกอาศรม

พระวิปัสสนาจารย์
ต่อมา ปี พ.ศ.-๒๕๐๙ ทางสำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มาขอนิมนต์พระวิปัสสนาจารย์ไปสอนที่นั่น พระอาจารย์อาสภเถระจึงส่งพระมหาสุรศักดิ์ ชีวานันโท ไปเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนา ประจำสำนักวัดเขาแก้ว ตามที่ทางโน้นขอมา วัดเขาแก้วเป็นวัดที่มีเนื้อที่กว้างขวางประมาณ ๒๐๐ ไร่ ตั้งอยู่ในเชิงเขา เป็นวัดเก่าแก่ มีโรงเรียนราษฎร์ของวัด มีพระเณรจากที่ต่าง ๆ มาเรียนกันมาก ในปีการศึกษาหนึ่ง ๆ ก็ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ รูป

เมื่อไปอยู่ประจำที่สำนักวัดเขาแก้วใหม่ ๆ ยังไม่ค่อยรู้จักใคร ก็ไปฝากตัวเป็นศิษย์เจ้าอาวาส คือหลวงพ่อกัน เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในระแวกนั้น วันหนึ่ง ๆ มีคนทั่วสารทิศมาหาให้ท่านช่วยเหลือ ใครมีปัญหามีทุกข์ในเรื่องอะไรก็มาขอให้ท่านช่วยในเรื่องนั้น ๆ ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังในทางไสยศาสตร์ เวทมนต์ กลคาถา แต่ว่าพระมหาสุรศักดิ์ไปสอนวิปัสสนาอันเป็นเรืองของพุทธศาสตร์ ก็สามารถอยู่ได้ในท่ามกลางดงเครื่องรางของขลัง เทศน์ธรรมะให้คนฟัง ดังไปคนละอย่างต่างจากหลวงพ่อกัน สำนักวิปัสสนาวัดเขาแก้ว ครั้งแรกมี พระอาจารย์อินทะวังสะเถระ พระชาวพม่าสอนมาก่อน ตอนหลังท่านกลับประเทศพม่า ก็มีพระอาจารย์หงษ์ทอง มาสอนต่อ แต่ไม่นานก็ถูกธิดาพระยามารใช้บ่วงคล้องคอ พอมาถึงวาระของพระมหาสุรศักดิ์มาเป็นอาจารย์ พวกชาววัดชาวบ้านทั้งหลายก็ทำนายกันล่วงหน้าว่า ก็คงเหมือนกับที่แล้วๆ มา

แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ คาดผิดไม่เป็นตามข่าว พระมหาสุรศักดิ์ไม่ใช่พระประเภท ลิงโง่ ลิงโลเล แต่เป็นพระใจเพชรที่เจียระไน รู้ว่าอะไร เป็นอะไรจึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะตกเป็นเหยื่อของมาร ยิ่งอยู่ไปนาน การสอนวิปัสสนา การเทศน์ธรรมะอบรมชาวบ้านทั่วไป ก็ยิ่งทำให้คนและพระมั่นใจในความฉลาด เสียสละหนักแน่น มั่นคง ของพระมหาสุรศักดิ์ หนัก ๆ เข้าคนที่ไม่เคยเข้าวัดก็เข้าวัด คนที่ไม่เคยฟังเทศน์ก็ฟังเทศน์เป็นเหตุให้คนเข้ามาปฏิบัติวิปัสสนาเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยลำดับ ต้องสร้างห้องปฏิบัติวิปัสสนาเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผู้คนที่สนใจในการปฏิบัติ ทั้งชาววัดชาวบ้านต่างก็ให้ความร่วมมือร่วมใจกันเป็นอย่างดี

ในช่วงระยะเวลาที่ประจำอยู่วัดเขาแก้วนั้น นอกจากการสอนวิปัสสนาแล้ว พระมหาสุรศักดิ์ ยังต้องเทศน์ให้ชาวบ้านฟังเป็นประจำทุกวันพระ มีคนสนใจในการฟังเทศน์เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน เป็นประวัติการณ์ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่เคยมีพระรูปไหนมาเทศน์สอนคนพยุหะให้เข้าวัดได้เลย ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ แต่ประหลาดที่ชาวพยุหะสนใจฟังธรรมะจากเสียงเทศน์ของพระมหาสุรศักดิ์ ชีวานันโท ทำให้คนหายโง่ไปตาม ๆ กัน แม้แต่หลวงพ่อกันซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทางไสยศาสตร์ ก็ยังประกาศให้คนไปฟังเทศน์จากพระมหาสุรศักดิ์ด้วยความชื่นชม พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมคุณาภรณ์ก็ออกปากชมว่า มหา ! ฉันเป็นคนพยุหะ บวชเป็นพระที่วัดเขาแก้ว สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม แต่ก็เทศน์สอนพวกแม่ค้าตลาดพยุหะให้เข้าวัดไม่ได้ มหามาอยู่ปีสองปี มีปัญญาสามารถสอนพวกนี้ให้เข้าวัดได้ ฉันขออนุโมทนาและชื่มชมยินดีด้วย ที่มหาช่วยโปรดพวกเหล่านี้ให้ขึ้นสวรรค์

การเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนาที่วัดเขาแก้วนั้น พระมหาสุรศักดิ์ได้ร่วมมือกับข้าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นั่นคืองานออกไปเทศน์ตามหมู่บ้าน ตำบล อำเภอต่าง ๆ ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ตามนโยบายเข้าถึงประชาชนของรัฐบาล ในเวลานั้น ไปกับนายอำเภอบ้าง ปลัดจังหวัดบ้าง พระมหาสุรศักดิ์ เทศน์ธรรมะอบรมประชาชน จากนั้นข้าราชการก็พูดถึงนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนตามโครงการต่าง ๆ สังเกตดู ขณะที่พระเทศน์ธรรมะ ประชาชนที่ฟังก็มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่พอข้าราชการขึ้นพูด ใบหน้าของคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะแจ่มใส หนีไปทีละคนสองคน ทนฟังไม่ค่อยจะได้ ไม่รู้เป็นเพราะเหตุอะไร ดังนั้น ทุกครั้งที่ออกไปตามหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จึงต้องนิมนต์พระไปด้วย เพื่อช่วยให้คนมารวมกัน

นอกจากออกไปเทศน์อบรมประชาชนร่วมกับข้าราชการแล้ว การเทศน์ตามงานต่าง ๆ ของชาวบ้านก็มีแทบทุกวัน บางวันต้องไปเทศน์ถึง ๒ งาน ๓ งาน ดีหน่อยการเดินทางสะดวกสบายง่ายต่อการไปมา นับว่าชีวิตของพระมหาสุรศักดิ์ ขณะที่อยู่วัดเขาแก้ว ทำงานหนักที่สุด ชีวิตอยู่กับการเทศน์ การสอน การอบรม ตลอดเวลา บางครั้งบางคราวนอนหนาวเป็นไข้ แต่โยมก็นิมนต์ให้ไปเทศน์สอนคน เพราะมีประชาชนมาคอยฟังธรรมจำนวนหลายร้อย ก็ต้องค่อยพยุงกายลุกไปบรรยายธรรมให้คนฟัง นั่งเทศน์ไปเทศน์มาเหมือนฉันยาแก้ไข้ ไม่รู้พิษไข้มันหายไปเมื่อไรเป็นเรื่องประหลาดไม่น่าเชื่อ เป็นไปได้อย่างไร ครั้งหนึ่งเป็นไข้ตัวร้อน นอนซมอยู่กับที่ มีงานทำบุญที่วัดใต้ ใกล้ ๆ กับวัดเหนือ คนมากันมากเป็นจำนวนพัน เพราะได้ข่าวกันว่า พระมหาสุรศักดิ์จะมาเป็นองค์เทศน์ เป็นเหตุให้คนหลั่งไหลกันมา ทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ แต่หาทราบไม่ว่า องค์เทศนากำลังนอนเป็นไข้ ทำยังไงกันดี มีลูกศิษย์เป็นหมอ ขอแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฉีดยาอะไรไม่รู้เข้าเส้นเหมือนน้ำเกลือ ไม่น่าเชื่อ เพียง ๓๐ นาที ให้หลังไม่รู้มีกำลังขึ้นมาได้อย่างไร ไปนั่งเทศน์อยู่ได้ตั้ง ๒-๓ ชั่วโมง การที่ได้ทำงานมาก ๆ เช่นนี้ เป็นความสุขอย่างหนึ่งสำหรับพระมหาสุรศักดิ์ เพราะท่านรักในการทำงาน ชีวิตที่อยู่กับงานตลอดเวลา เป็นชีวิตที่มีคุณค่ามหาศาล ท่านสอนคนเช่นนี้เสมอ

อยู่วัดเขาแก้ว ๒-๓ ปี ก็มีเหตุให้ต้องกลับไปช่วยงานท่านพระอาจารย์ อาสภเถระ ที่วิเวกอาศรมอีกครั้ง คราวหลังนี้มาช่วยท่าน พระอาจารย์สอนวิปัสสนาอยู่ ๒ ปี มีโยคีเข้ามาปฏิบัติวิปัสสนา ทั้งพระเณร และประชาชนชาวบ้านทั่วไป ปีหนึ่ง ๆ ก็เป็นจำนวนพัน ๆ มากันไม่ขาดสาย บางรายก็มาอยู่ระยะสั้น ๗ วัน ๑๕ วัน บางราย หลายรายก็อยู่กันเป็นเดือนสองเดือน ถ้าในเวลาเข้าพรรษาส่วนมากก็อยู่กันตลอดไตรมาส ๓ เดือน งานสอนวิปัสสนาเป็นงานที่น่าสนใจ เพราะได้เรียนรู้ชีวิตจริงของคนทุกระดับชั้น คนเรานั้นมีนิสัยคนละอย่างต่างๆ กันไป ทำให้ผู้สอนได้รู้นิสัยของแต่ละคนที่แสดงออกมาในเวลาปฏิบัติวิปัสสนา ดังนั้น การสอนวิปัสสนากรรมฐาน จึงเป็นงานที่น่าสนใจ

สู่วัดทุ่งสาธิตฯ
นอกจากการสอนวิปัสสนากรรมฐาน เป็นงานประจำแล้ว ก็ยังมีงานออกไปเทศน์อบรมประชาชนตามหมู่บ้าน ตำบล อำเภอและในงานต่างๆ อีกด้วย ช่วยงานพระอาจารย์อาสภเถระอยู่ได้ ๒ ปี คราวนี้ ได้รับนิมนต์จากท่านพระครูวชิรธรรมโสภณ (หลวงพ่อสีนวล) วัดทุ่งสาธิต วัดวชิรธรรมสาธิต พระโขนง กรุงเทพฯ ท่านไปขอพระอาจารย์ไปสอนวิปัสสนากรรมฐาน จากพระเดชพระคุณหลวงพ่ออาสภมหาเถระ (สมเด็จพระพุฒาจารย์) แห่งวัดมหาธาตุฯ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ อาสภมหาเถระ และท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระเทพสิทธิมุนี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาแห่งประเทศไทย ได้อนุมัติให้พระมหาสุรศักดิ์ ชีวานันโท ไปเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนาประจำ วัดวชิรธรรมสาธิต (วัดทุ่งสาธิต) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓

ขณะนั้น เวลานั้น พระอาจารย์สีนวล (หลวงพ่อสีนวล) กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านอภินิหารต่าง ๆ นานา ประชาชนพากันหลั่งไหลไปวัดทุ่งสาธิตไม่ขาดสาย วันหนึ่ง ๆ พระอาจารย์สีนวลต้องนั่งรับแขกตั้งแต่เช้ายันกลางคืน ใครมีเรื่องอะไร มีปัญหาอะไรสารพัด ก็พากันมาหาท่าน ข้าราชการทหาร ตำรวจ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้าประชาชน ตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง มีเรื่องอะไรก็ไปให้ท่านช่วย ดูๆ ก็น่าคิด ชีวิตของคนเรา ทำไมจึงเอาไปฝากไว้กับคนอื่น และสิ่ง อื่น พระพุทธองค์ทรงสอนว่า จงมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นที่ระลึก มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่ระลึก

พระมหาสุรศักดิ์ เข้าอยู่วัดทุ่งสาธิตฯ ในฐานะอาจารย์สอน วิปัสสนา ก็ได้ปฎิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายด้วยความมั่นใจ ได้เริ่มสอนโยคีผู้เข้ามาปฏิบัติวิปัสสนา ตั้งแต่วันแรกที่เข้าอยู่วัดทุ่ง มุ่งงานสอนวิปัสสนากรรมฐานเป็นงานหลัก งานเทศน์ในวันพระ การอบรมพระเณรและศิษย์วัดเป็นงานรอง พออยู่ยังไม่ถึงปี ท่านอาจารย์สีนวล เห็นท่าทีพระมหาสุรศักดิ์ มีความสามารถในการเทศน์ การสอน การอบรม การปกครอง เลยต้องรับสนองงานแทบทุกอย่างภายในวัด จัดระเบียบความเป็นอยู่ของพระเณรและศิษย์วัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จัดเวรยามรักษาความสะอาดตามอาคารสถานที่ สนามหญ้า สวนหย่อม บริเวณวัด ทำให้พระเณรและศิษย์วัดอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นที่น่าสรรเสริญชมเชยของบุคคลทั่วไปที่เข้ามาภายในวัด

ชีวิตของพระมหาสุรศักดิ์ภายในวัดวชิรธรรมสาธิต (วัดทุ่งสาธิต) เป็นชีวิตที่อยู่กับงานเทศน์ งานสอนการอบรมอุบาสกอุบาสิกา ภายในวัดอย่างเดียว เพราะคนพากันมาที่วัด ส่วนงานเทศน์ การสอนนอกวัด มีบ้างเป็นบางโอกาส บางเวลา แต่ว่า พระมหาสุรศักดิ์ ก็มีความพอใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ไม่ว่างานนั้นจะเป็นงานในวัดหรืองานนอกวัด ก็จัดเป็นงานเช่นเดียวกัน การได้ทำหน้าที่ของตนทุกวัน นั่นคือการประพฤติธรรม อันนำมาซึ่งความภูมิใจยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด

สนองงานพระศาสนาอยู่ที่วัดทุ่งสาธิต ๕ ปีเศษ ก็เป็นเหตุให้ชีวิตของพระมหาสุรศักดิ์เปลี่ยนไปในอีกลักษณะหนึ่ง คือเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ประมาณเดือนพฤศจิกายน อันเป็นเขตเทศกาลทอดกฐิน ท่านพระครูวชิรธรรมโสภณ (หลวงพ่อสีนวล) ได้ขอร้องให้เดินทางไปทอดกฐินแทนท่าน ที่วัดไทยลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ อเมริกา ซึ่งเป็นวัดไทยวัดแรก จัดตั้งมาเป็นเวลา ๓ ปีเศษ -ท่านอาจารย์สีนวล เป็นกรรมการอยู่ด้วย และปีนี้ท่านก็เป็นประธานการทอดกฐินฝ่ายบรรพชิต ฝ่ายทางราชการมี พลเอกยศ เทพหัสดิน เป็นประธาน ท่านมีเหตุจำเป็นไปไม่ได้ จึงนิมนต์พระมหาสุรศักดิ์ ไปแทน

ตกลงพระมหาสุรศักดิ์ ได้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทอดกฐินที่วัดไทยลอสแองเจลิส พร้อมกับท่านเจ้าคุณพระพุทธมนต์วราจารย์ (พระมงคลเทพโมลี) วัดสุทัศน์ฯ ปีพรรษานั้นที่วัดไทยลอสแองเจลิสมีพระจำพรรษาอย่ คือ พระมหาโสบิน หัวหน้าคณะสงฆ์ พระครูวิบูลย์โพธาภิรัต พระมหาเกลี้ยง พระมหาจวน พระมหาสนั่น พระมหาสำราญ และพระองอาจ

หลังจากทอดกฐินแล้ว ท่านเจ้าคุณพระพุทธมนต์วราจารย์ ก็เดินทางกลับเมืองไทยก่อน ส่วนพระมหาสุรศักดิ์ได้พักอยู่ที่วัดไทยลอสแองเจลิส จนกลางเดือนมีนาคมจึงได้เดินทางกลับเมืองไทย ในระหว่างที่พักอยู่วัดนั้นก็ได้ถือโอกาสไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ เมือง ต่าง ๆ เพื่อทัศนะศึกษาและนอกจากนั้น ก็มีโอกาสรับนิมนต์ไปฉันตามบ้านและร้านอาหารคนไทย ได้สังเกตเห็นความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยในอเมริกา ตลอดสภาพดินฟ้าอากาศ สิ่งแวดล้อม ประเพณีวัฒนธรรมของชาวอเมริกันแล้ว ก็มีอะไรหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าศึกษาและน่าสนใจ และก็เกิดความคิดว่า ถ้ามีโอกาสเวลามาทำงานด้านพระศาสนา ในดินแดนส่วนนี้ บางทีอาจจะเป็นการเริ่มต้นให้อนุชนรุ่นต่อไป ได้สานงานพระศาสนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ในอนาคตอันใกล้นี่

จากเมืองไทยสู่อเมริกา
ก็พอดีในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ นี้เอง พระมหาโสบิน โสปาโก หัวหน้าคณะสงฆ์วัดไทยลอสแองเจลิส ได้ทำหนังสือนิมนต์พระมหาสุรศักดิ์มาจัดตั้งวัดไทยที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตามคำนิมนต์ของทางคณะข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนทั่วไป ในเขต ดี.ซี. แมรีแลนด์ เวอร์จิเนีย แต่เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ นี้ พระครูวชิรธรรมโสภณ เจ้าอาวาส วัดวชิรธรรมสาธิต ไม่อนุมัติให้พระมหาสุรศักดิ์เดินทางมาประจำที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพราะทางวัดหาพระอาจารย์สอนวิปัสสนาแทนไม่ได้ ตกลงขอให้พระครูวิบูลโพธาภิรัต ซึ่งเคยอยู่วัดไทยลอสแองเจลิส กับพระปลัดวรศักดิ์ วัดมหาธาตุฯ มาจำพรรษาในปีนั้น พอออกพรรษาแล้วทั้งสองท่านก็กลับเมืองไทย

พระมหาโสบิน ได้ทำหนังสือนิมนต์พระมหาสุรศักดิ์มาประจำปฏิบัติศาสนกิจที่วัดไทย ดี.ซี. อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ พระครูวชิรธรรมโสภณ (หลวงพ่อสีนวล) เจ้าอาวาสวัดวชิรธรรมสาธิต (วัดทุ่งสาธิต) อนุมัติให้พระมหาสุรศักดิ์ เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ประจำวัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ ดังนั้น ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ปลายเดือนมกราคม พระมหาสุรศักดิ์ก็ได้ออกเดินทางจากวัดทุ่งสาธิตสู่สหรัฐอเมริกา แวะลงที่วัดไทยลอสแองเจลิสก่อน พักอยู่ที่นั้นเป็นเวลา เกือบ ๒ อาทิตย์ ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ได้เดินทางต่อมาที่วัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้อยู่ประจำปฏิบัติศาสนกิจ ตั้งแต่บัดนั้น จึงถึงบัดนี้