คนดีใช้ธรรม-คนระยำใช้กิเลส
ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ อหึสา สญฺญโม ทโม
เอตทริยา เสวนฺติ เอตํ โลเก อนามตํ
สัจจะ ธรรมะ อหิงสา สัญญมะ ทมะ มีอยู่ในผู้ใด
อารยชนย่อมคบหาผู้นั้น นั่นเป็นธรรมอันไม่ตายในโลก
นภญฺจ ทูเร ปฐวี จ ทูเร
ปารํ สมุทฺทสฺส ตทาหุ ทูเร
ตโต หเว ทูรตรํ วสนฺติ
สตญฺจ ธมฺโม อสตญฺจ ราชา
ดูก่อนราช! เขากล่าวกันว่าฟ้ากับดินไกลกัน และฝั่งทะเลก็ไกลกัน แต่ธรรมของสัตบุรุษกับอสัตยบุรุษไกลกันยิ่งกว่านั้น
ในสังคมมนุษย์ทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกภาษา ทุกเผ่าพันธุ์ มีคนอยู่รวมกันกล่าวโดยสรุปแล้ว มีอยู่สองประเภท คือคนดีกับคนชั่ว คนบาปกับคนบุญ คนมีธรรมกับคนไม่มีธรรม ทุกยุคทุกสมัย มีคนอาศัยอยู่ในสังคมโลกเพียง ๒ ประเภทนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน พูดภาษาอะไร นับถือลัทธิศาสนาอะไร มีความเชื่อถืออะไร ก็มีคนอยู่เพียง ๒ ประเภทเหมือนกันทั้งนั้น ประเทศชาติไหนมีคนดีอาศัยอยู่มาก ประเทศชาตินั้นก็มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากความทุกข์และปัญหานานาประการ แต่ในทางตรงข้าม ประเทศชาติไหนมีคนชั่ว คนเลว คนระยำพำนักอาศัยอยู่มาก ประเทศชาตินั้น ก็มีแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อน ความลำบากยากจน ผู้คนเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนซึ่งกันและกัน หาวันสงบสุขมิได้ โดยประการทั้งปวง
ในหัวข้อที่ตั้งไว้ว่า “คนดีใช้ธรรม คนระยำใช้กิเลส” นั้น ก็มุ่งหมายเอาบุคคลทั้งสองประเภทนี้เอง ในที่นี้จะขอพูดในประเด็น “คนระยำใช้กิเลสก่อน” ขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านผู้ฟังในคำว่า “คนระยำ” กันเสียก่อน เดี๋ยวจะเข้าใจกันว่าเป็นคำหยาบคาย ฟังแล้วระคายหูไม่สู้จะเป็นมงคล ความจริงคำว่า “ระยำ” นี้ เป็นคำไทยแท้ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ใช้กันมาตั้งแต่โบราณ กล่าวขานถึงคนชั่วช้าเลวทราม ต่ำช้า กันว่า “คนระยำ” มิหนำแถมคำว่า “อัปรีย์” ต่อท้ายเข้าไปอีกว่า “ระยำอัปรีย์” คำนี้ในพจนานุกรมภาษาไทยให้คำนิยามไว้ว่า “ชั่วช้า ต่ำช้า เลวทราม อัปมงคล” นี่คือความหมายของคำว่าระยำ ในพจนานุกรมไทย
ประเด็นต่อไป ขอพูดถึง “คนระยำใช้กิเลส” เพื่อให้ท่านศึกษาหาความรู้กันต่อไป คนระยำคือคนชั่ว คนเลว คนปราศจากศีลธรรม คนประเภทนี้เป็นบุคคลที่ตกเป็นทาสของกิเลสประเภทต่างๆ มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ทิฏฐิมานะ อิจฉาริษยา นินทาว่าร้าย พฤติกรรมที่แสดงออกมาทางกาย ทางวาจา และทางใจ ของบุคคลเหล่านี้ จึงเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาด้วยอำนาจอิทธิพลของกิเลส ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงได้สมญานามว่า “คนระยำ” คือคนชั่วช้า คนเลวทรม คนอัปมงคล เป็นบุคคลประเภทอันตราย ก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นในสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน มีโทษอันมหันต์ เหลือที่จะพรรณนา พระบรมศาสดาตรัสว่า คนที่ตกเป็นทาสของความโลภ ความโกรธ และความหลงนั้น เขาย่อมไม่รู้อรรถ ย่อมไม่เห็นธรรม ความโลภ ความโกรธ ความหลงครอบงำจิตใจเมื่อไร ความมืดตื้อ ความบิดมืดบอดทางปัญญา ย่อมมีเมื่อนั้น ดังพุทธศาสนาที่สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาจารย์ตรัสไว้ว่า
ลุทฺโธ อตฺถํ น ชานาติ ลุทฺโธ ธมฺมํ น ปสฺสติ
อนฺธตมํ ตทา โหติ ยํ โลโภ สหเต นรํ.
คนโลภย่อมไม่รู้อรรถ คนโลภย่อมไม่เห็นธรรม
ความโลภครอบงำนรชนเมื่อไร ความมืดตื้อย่อมมีเมื่อนั้น
กุทฺโธ อตฺถํ น ชานาติ กุทฺโธ ธมฺมํ น ปสฺสติ
อนฺธตมํ ตทา โหติ ยํ โกโธ สหเต นรํ.
คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ คนโกรธย่อมไม่เห็นธรรม ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อไร ความมืดตื้อย่อมมีเมื่อนั้น
มุฬฺโห อตฺถํ น ชานาติ มุฬฺโห ธมฺมํ น ปสฺสติ
อนฺธตมํ ตทา โหติ ยํ โมโห สหเต นรํ.
คนหลงย่อมไม่รู้อรรถ คนหลงย่อมไม่เห็นธรรม
ความหลงครอบงำนรชนเมื่อไร ความมืดตื้อย่อมมีเมื่อนั้น
กิเลสทั้ง ๓ ประเภทนี้แหละ ที่มันเป็นรากเหง้าเค้ามูลของความชั่วทั้งหลาย บุคคลใดก็ตามที่ถูกกิเลสทั้ง ๓ ประเภทนี้ครอบงำจิตใจ เขาก็กลายเป็นคนชั่ว คนเลว คนต่ำช้า (คนระยำ) ทันที ในประเด็นที่ว่า “คนระยำใช้กิเลส” นั้น ความจริงแล้วกิเลสมันใช้คนระยำ การทำการพูด การคิดของบุคคลประเภทนี้ ตกอยู่ภายในประกาศิตของกิเลสทั้ง ๓ ประเภทนั้น กิเลสสั่งให้ทำก็ทำ กิเลสสั่งให้พูดก็พูด กิเลสสั่งให้คิดก็คิด ไม่มีอิสรเสรี เป็นตัวของตัวเองเลย ทำอะไรพูดอะไร คิดอะไร ก็ตกอยู่ในบังคับบัญชาของกิเลสทั้งนั้น ในสังคมปัจจุบันทุกวันนี้ มีคนระยำใช้กิเลสระบาดกันทั่วไปในสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมชาวบ้าน สังคมชาวเมือง เรื่องของคนระยำใช้กิเลสมีจำนวนปริมาณมากขึ้นอย่างผิดสังเกต เป็นเหตุให้สังคมมนุษย์ทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกภาษา ทุกเผ่าพันธุ์ เกิดปัญหาสารพัดนานาประการ เพราะการที่มีคนระยำใช้กิเลสอาศัยอยู่ในสังคม
ตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนระยำใช้กิเลสประเภทโลภะ ความโลภ โลภะ ความโลภในที่นี้ โปรดเข้าใจกันให้ดี อย่าให้ผิดความหมาย เพราะคนทั้งหลายมักจะเข้าใจกันว่า คนเราถ้าไม่มีความโลภแล้ว จะเป็นคนรวยได้อย่างไร เพราะความโลภช่วยให้คนรวย ความเข้าใจเช่นนี้ผิดถนัด คนรวยไม่ใช่เกิดจากความโลภ และความโลภก็ไม่ใช่ให้เกิดความรวย ความโลภเป็นปฏิปักษ์กับความรวยต่างหาก มีความโลภที่ไหน ความรวยก็หมดไปจากที่นั้น ความรวยเกิดจากความขยันหมั่นทำการงานให้เหมาะเจาะ เพราะความขยันจึงหาทรัพย์ได้กลายเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี มั่งมีร่ำรวย ด้วยมีปัญญาจึงหาทรัพย์ได้ในทางที่ชอบ นี่คือปัจจัยให้เกิดความรวยไม่ใช่ความโลภ แต่คือความขยัน หมั่นรักษา คบค้า คนดีใช้จ่ายด้วยวิธีประหยัด จำกันไว้ให้ดี จะได้เป็นเศรษฐีในวันข้างหน้า อย่าใช้กิเลสคือความโลภกันเลย
โลภะ ความโลภนั้น ได้แก่ความอยากได้ในทางทุจริต ผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฎหมาย ผิดวัฒนธรรมประเพณี มีความโลภทุกอย่างไม่เลือกทาง ขอให้ได้มาเป็นพอ คอร์รัปชั่นคดโกง ฆ่าเจ้าเอาของ หลอกลวงอำพราง ทำทุกอย่างขอให้ได้มาซึ่งอำนาจเงิน และอำนาจรัฐ โดยไม่คำนึงว่าใครจะเดือดร้อน เพราะการกระทำของตน คนระยำใช้กิเลสประเภทความโลภนี้ เขาจะเอารัดเอาเปรียบเหยียบย่ำคนอื่น เพราะความเห็นแก่ตัว เขามองไม่เห็นคนอื่นนอกจากตัวเขาเอง และพรรคพวกของเขาเท่านั้น นี่คือลักษณะของคนระยำใช้กิเลสประเภทความโลภ ยกมาพอให้เห็นเป็นตัวอย่าง
คนระยำใช้กิเลสประเภท “โทสะ” โทสะความประทุษร้าย คิดทำลายล้างผลาญ คิดให้คนอื่นถึงความพินาศฉิบหาย วอดวาย ล่มจม นี่คือลักษณะของโทสะ คนที่ถูกโทสะครอบงำจิตใจกลายเป็นคนระยำ ใจดำอำมหิต โหดร้ายทารุณ คนระยำประเภทนี้กำลังระบาดทั่วไปในสังคมปัจจุบัน เที่ยวฆ่าฟันรันแทง ทำลายล้างผลาญกันไม่เว้นแต่ละวัน น่าสังเวช สลดใจ นี่แหละพิษสงของคนระยำใช้กิเลสประเภทโทสะ มันเป็นอันตรายต่อความสงบสุขของสังคมเช่นนี้
คนระยำใช้กิเลสประเภท “โมหะ” โมหะ แปลว่าความลุ่มหลง ความมัวเมา ความโง่เขลา คือความไม่รู้ตามความเป็นจริง รู้เหมือนกันแต่ไม่รู้จริง หมายถึงความมืดบอดทางจิตใจ ความมืดมนอนธการ ขาดความสำนึกผิดถูก ชั่วดี นี่คือลักษณะของโมหะ ที่เข้าใจกันของบรรดานักศึกษาธรรมทั้งหลาย หลายคนเข้าใจว่า โมหะคือความไม่รู้ ไม่รู้อะไรก็จัดเป็นโมหะทั้งนั้น ความเข้าใจเช่นนี้ ไม่ตรงกับลักษณะของโมหะนัก ตามหลักความหมายเดิม คำว่า “โมหะ” หมายถึงความสำคัญผิด ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ความรู้ผิด นี่คือความหมายเดิม ความหมายเช่นนี้ จึงจะตรงกับความเป็นจริง เพราะโมหะนั้นไม่ใช่ว่าไม่รู้ รู้เหมือนกันแต่ดันไปรู้ผิดเข้า ซึ่งเราชาวบ้านเรียกขานกันว่า “เสือกรู้”
ที่ว่า “โมหะ” รู้ผิดนั้นคือรู้อย่างไร? ก็คือรู้ผิดจากสภาวะธรรมความเป็นจริง เช่นสภาวะธรรมทั้งหลายเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงเปบลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ ดับไปตลอดเวลา อนัตตา หาตัวตนที่แท้จริงไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร นี่คือความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย แต่โมหะกลับไปรู้ผิดคิดว่า เป็นของเที่ยง, มีความสุข, เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา เป็นของเราเป็นของเขาก็เลยยุ่งกันใหญ่ เพราะไปรู้ผิดจากความเป็นจริง นี่แหละคือลักษณะของความรู้ผิด ความเห็นผิด สำคัญผิด ความเข้าใจผิด ความรู้ผิดนี่แหละที่เป็นตัวการสร้างปัญหาต่างๆ ในทางสังคมให้เกิดขึ้นแก่คนเรา พระพุทธเจ้าตรัสว่า
มุฬฺโห อตฺถํ น ชานาติ มุฬฺโห ธมฺมํ น ปสฺสติ
อนฺธตมํ ตทา โหติ ยํ โมโห สหเต นรํ.
คนหลงผิดย่อมไม่รู้อรรถ ย่อมไม่เห็นธรรม ความหลงผิดครอบงำนรชนเมื่อไร ความมืดมิดย่อมมีเมื่อนั้น
ตามพุทธดำรัสนี้ชี้ให้เห็นว่า คนที่มีความรู้ผิด ความเห็นผิด ความสำคัญผิด ความเข้าใจผิดนั้นเป็นคนไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล เป็นคนตกอยู่ในความมืด เต็มไปด้วยภัยอันตรายนานาประการ เป็นคนที่น่าสงสารแถมสมเพท เพราะเหตุแห่งความยึดมั่น ถือมั่นยืนยันในความรู้ผิด หลงผิดของตนอย่างถอนไม่ขึ้น นี่แหละคือโมหะ ความหลงผิด ความรู้ผิด ความสำคัญผิด ความเข้าใจผิด มันเป็นพาเป็นภัย ทำให้คนดีๆ เป็นคนระยำ ใช้กิเลส
นอกจากคนระยำจะใช้กิเลสทั้ง ๓ ประเภทนี้แล้ว คนระยำก็ยังถลำไปใช้กิเลสประเภททิฏฐิมานะ อิจฉาริษยา นินทาว่าร้าย ใช้ความโกรธความเกลียดความชัง ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันทุกวันนี้ แล้วก็ยังมีอคติ ลำเอียงเพราะชอบ ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะขลาด ลำเอียงเพราะเขลา เล่นเอาคนในสังคมเกิดความระส่ำระสายวุ่นวายกันไปทุกหย่อมหญ้า คนระยำใช้กิเลสนี้ถ้ามีอยู่ในคนธรรมดาสามัญชาวบ้านทั่วไป แม้จะเป็นพิษเป็นภัยก็อยู่ในขอบเขตจำกัดเท่านั้น ข้อสำคัญถ้าผู้มีความรับผิดชอบบริหารประเทศชาติบ้านเมือง มีอำนาจเงินอำนาจรัฐ เป็นคนระยำใช้กิเลสกันแล้ว ก็จะก่อให้เกิดเภทภัยอันตรายต่อสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน อย่างกว้างใหญ่ไพศาล สุดที่จะประมาณมิได้ ขอให้เราท่านทั้งหลายใช้ความสังเกตให้ดี ก็เห็นกันว่า สังคมทุกวันนี้มีคนระยำใช้กิเลสเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ นับว่าน่าเป็นห่วงกันจริงๆ
ได้พูดมาในประเด็น “คนระยำใช้กิเลส” พอสมควรแล้ว ต่อไปก็เข้าสู่ประเด็น “คนดีใช้ธรรม” เพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบว่า บุคคลทั้งสองประเภทนี้ ประเภทไหนส่งผลกระทบต่อสังคมแตกต่างกันอย่างไร ดังนั้นอันดับต่อไปนี้ จะพาท่านทั้งหลายไปศึกษาความรู้ในเรื่องของ “คนดีใช้ธรรม” กันต่อไป คนดีคือคนประเภทไหน? คนดีได้แก่คนที่มีพฤติกรรมทางกาย ทางวาจา และทางใจ ที่แสดงออกมาในทางสุจริต คือกายสุจริต ประพฤติชอบด้วยการย วจีสุจริต ประพฤติชอบด้วยวาจา มโนสุจริต ประพฤติชอบด้วยใจ กายสุจริต ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม, วจีสุจริต ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่พูดเท็จเหลวไหลไร้สาระ มโนสุจริต ประพฤติชอบด้วยใจ ไม่คิดโลภ อยากได้ของเขา, ไม่คิดพยาบาทปองร้ายเขา, ไม่คิดเห็นผิดจากทำนองครองธรรม นี่คือลักษณะของคนดี คนดีมีกาย วาจา ใจอันบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากบาปทั้งหลายทั้งปวง
คนดีใช้ธรรม ตรงกันข้ามกับคนระยำใช้กิเลส เพราะคนระยำจิตใจต่ำเต็มไปด้วยกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทิฏฐิมานะ อิจฉาริษยา นินทาว่าร้าย คนระยำก็ใช้กิเลสเหล่านี้แหละ หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ก็กิเลสเหล่านี้ที่ใช้คนระยำ กิเลสที่ใช้คนระยำให้โลภ คนระยำก็โลภ กิเลสที่ใช้คนระยำให้โกรธ คนระยำก็โกรธ กิเลสที่ใช้คนระยำให้หลง คนระยำก็หลง กิเลสที่ใช้คนระยำให้อิจฉาริษยา คนระยำก็อิจฉาริษยา กิเลสที่ใช้คนระยำให้นินทาว่าร้าย คนระยำก็นินทาว่าร้าย รวมความว่า คนระยำจะทำ จะพูด จะคิด จะประกอบกิจการอะไร ก็ทำ ก็พูด ก็คิด ตามประกาศิตของกิเลสทั้งนั้น
ส่วนคนดี มีจิตใจปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ทิฏฐิมานะ อิจฉาริษยา นินทาว่าร้าย คนดีจึงใช้ธรรมคือความดี ความถูกต้อง และความจริง คนดีจะทำอะไรก็ทำดี จะพูดอะไรก็พูดดี จะคิดอะไรก็คิดดี คือทำตามอำนาจของพระธรรม เรียกว่าพระธรรมให้ทำจึงทำ พระธรรมให้พูดจึงพูด พระธรรมให้คิดจึงคิด นี่คือความหมายคำว่า “คนดีใช้ธรรม” คนดีก็คือคนมีธรรม คนประพฤติธรรม คนปฏิบัติธรรม มีธรรมเป็นเรือนใจ มีธรรมเป็นที่อยู่อาศัย เป็น “ธรรมวิหารี” คนดีมีอยู่ในหมู่ใด คณะใดสังคมใดประเทศชาติใด หมู่นั้นคณะนั้นสังคมนั้น ประเทศชาตินั้น ก็มีแต่ความสงบสุข ปราศจากทุกข์และปัญหาต่างๆ โดยประการทั้งปวง
ขอยกตัวอย่าง คนดีใช้ธรรมในหมวดที่ชื่อว่า “พรหมวิหารธรรม ๔ “ คือ
ใช้เมตตาธรรม มีความรักใคร่ปรารถนาให้คนอื่น และสัตว์อื่นมีความสุข การอยู่ร่วมกันในสังคมของคนหมู่มาก ถ้าอยากให้คนในสังคมมีความสุข ทุกคนต้องใช้เมตตาธรรม มีความรัก ความเมตตา ปรารถนาให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข คนทุกคนต้องมีความรักซึ่งกันและกัน นั่นคือเหตุ คือปัจจัยให้เกิดความสุข ตามหลักที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก” ความไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก โลกมนุษย์จะมีความร่มเย็นเป็นสุข ทุกคนต้องใช้เมตตาธรรมประจำใจ จะทำ จะพูด จะคิดอะไร ต้องทำต้องพูดต้องคิด ด้วยเมตตาธรรม นี่คือหลักค้ำประกันให้คนในสังคมมีความสุข ทุกคนต้องใช้เมตตาธรรม จำกันไว้ให้ดี
ใช้กรุณาธรรม คือความสงสารต้องการช่วยเหลือให้คนอื่น และสัตว์อื่นพ้นจากความทุกข์ พ้นจากปัญหา นานาประการ คนที่มีกรุณาธรรมประจำใจ เมื่อเห็นคนอื่นตกทุกข์ได้ยากลำบากโดยประการใดๆ ทนดูอยู่ไม่ได้ ต้องหาอุบายเข้าไปช่วยบรรเทาความทุกข์ ความเดือดร้อนของเขาเหล่านั้นทันทีไม่ดูดาย ใช้อุบายของพระอินทร์เมืองคน คือเห็นคนอื่นสัตว์อื่นเดือดร้อน ก็ร้อนใจขึ้นมาทันที ไม่หันรีหันขวางอ้างนั่นอ้างนี่ รีบวิ่งรี่เข้าไปช่วยเหลือทันทีทันควัน เพื่อช่วยให้เขาเหล่านั้นพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน ตามสติกำลังความสามารถที่จะช่วยได้ ถ้าทุกคนใช้กรุณาธรรม มีความสงสารต้องการช่วยเหลือคนอื่นพ้นจากความทุกข์เช่นนี้ นี่คือคนดีใช้ธรรม นำมาพอเป็นตัวอย่าง
ใช้มุทิตาธรรม พลอยดีใจในเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี ธรรมะข้อนี้มีความสำคัญมาก ถ้าหากคนเราทุกคนในสังคมมีค่านิยม นิยมในการใช้มุทิตาธรรม คือเมื่อเราเห็นคนอื่นทำดีได้ดี มีความนิยมในการใช้มุทิตาธรรม คือเมื่อเราเห็นคนอื่นทำดีได้ดี มีความสุข ความเจริญ มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เราก็พลอยดีใจ อนุโมทนาสาธุ ขอให้เขามีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป นี่คือวิสัยผู้ใช้มุทิตาธรรม ถ้าทุกคนในสังคมพากันนิยมใช้ธรรมะข้อนี้กันให้มากๆ สังคมก็จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข เพราะทุกคนมีดีใจ มีความพอใจในความดีของกันและกัน แต่เท่าที่สังเกตเห็นคนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันทุกวันนี้ คนเรามักจะพากันลืมในการใช้ธรรมข้อ “มุทิตา” เห็นคนอื่นทำดีได้ดีมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แทนที่จะพลอยดีใจด้วย กลับมีความอิจฉาริษยาในความดีของคนอื่น เห็นคนอื่นได้ดีแล้วทนอยู่ไม่ได้ หรือมีใครพูดถึงความดีของคนอื่นโดยเป็นคนที่ตนเองไม่ชอบแล้ว มันทนฟังไม่ได้ เหมือนเอาของแหลมมาทิ่มแทงหัวใจ ทนฟังไม่ได้ ส่ายหน้า สั่นหัว ดูเอาเถอะ! พวกอิจฉาตาไฟ สร้างความเสนียดจัญไรให้แก่ตัวเองแท้ๆ…อนิจจา! คนเอ๋ยคน หันมาในใจทางนี้กันหน่อยดีไหม จิตใจจะได้เบาสบาย หันมาใช้มุทิตาธรรม พลอยดีใจ ชื่นใจ ในเมื่อเห็นคนอื่นเขาทำดีแล้วได้ดี เท่านี้ก็หมดเรื่องจะไปเปลืองตัวกับความอิจฉาริษยาทำไมกันเล่า มันเผาไหม้เกรียมเปล่าๆ แล้วก็เศร้าใจเสียใจตลอดชีวิต พิชิตความอิจฉาริษยาด้วยการใช้มุทิตาธรรมกันเถิดท่านที่รักทั้งหลาย จิตใจของเราจะได้เบาสบาย ไร้ปัญหาโดยประการทั้งปวง
ใช้อุเบกขาธรรม อุเบกขาวางใจให้เป็นกลาง ไม่เข้าข้างอคติ ลำเอียงเพราะชอบ ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะขลาด ลำเอียงเพราะเขลา เอาใจตั้งไว้ตรงกลาง ทุกอย่างก็จะมีความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความเสมอภาค ถ้าหากต้องการให้เกิดความยุติธรรมในสังคม ก็ต้องใช้อุเบกขาธรรม เพราะอุเบกขานั่นแหละ คือความเป็นธรรม ความยุติธรรม จึงขอฝากท่านทั้งหลายให้พาใช้อุเบกขาธรรมกันเถิด จะเกิดศิริมงคลส่งผลให้คนในสังคมมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากทุกข์นานัปการ แต่เหตุการณ์ในสังคมทุกวันนี้ สังเกตให้ดีหาคนอยู่ตรงๆ ไม่ค่อยจะได้ มีแต่พวกเอียงซ้าย เอียงขวา เอียงหน้า เอียงหลัง บางคนลำเอียงเพราะชอบ (ฉันทาคติ) ลงได้ชอบใครแล้วมันจะชั่วเลวอย่างไรก็ชอบใจ พอใจอยู่นั่นแหละ แต่บางคนก็เอียงเพราะชัง (โทสะคติ) ลงได้ชังแล้ว จะทำดีทำชอบอย่างไร ก็ยอมรับ ยังเกลียด ยังชังอยู่นั่นแหละ ด้วยเหตุที่คนเรามีอคติ ไม่ใช้อุเบกขาธรรมนี้เองแหละ สังคมมนุษย์จึงเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย กลายเป็นสังคมคนป่า หาความสงบสุขมิได้
คนดีใช้ธรรม คนระยำใช้กิเลส บุคคลทั้งสองประเภทนี้ มีผลกระทบต่อสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน ไม่เสมอกัน ไม่เหมือนกัน แตกต่างกัน คนดีใช้ธรรม ทำให้สังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข เพราะคนในสังคมมีความรัก ความสามัคคี ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบเหยียบย่ำทำลายกัน อยู่กันฉันท์มิตรมีน้ำจิตเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เพราะต่างคนต่างก็ใช้ธรรมะ ในชีวิตประจำวัน จะทำอะไร จะพูดอะไร จะคิดอะไรก็ใช้ธรรมนำหน้า ใช้ปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ต่างคนต่างก็มีหิริ ความละอายต่อความชั่ว มีโอตตัปปะ กลัวต่อผลของบาปกรรม ดังนั้น ผลกระทบซึ่งเกิดจากพฤติกรรมของคนดีใช้ธรรม จึงมีแต่ความสงบสุข ทุกประการ
ส่วนในด้านคนระยำใช้กิเลสนั้น เป็นเหตุทำให้สังคมจมอยู่ในปลักแห่งความทุกข์ ความเดือดร้อน ส่งผลสะท้อนต่อสังคมในทางลบ ทำให้คนในสังคมประสบกับปัญหานานาประการ เพราะสันดานของคนระยำนั้น สร้างแต่บาปทำแต่อกุศล จึงส่งผลให้ได้รับความทุกข์ในปัจจุบันทันตาเห็น เพื่อเป็นหลักประกันให้เกิดความสงบสุข และความปลอดภัยในชีวิต ขอสะกิดให้ท่านทั้งหลายใช้ธรรมกันเถิด จะเกิดศิริมงคลส่งผลให้มีแต่ความสงบสุขทุกประการ
พวกคนดี ใช้ธรรม ประจำจิต
นำชีวิต สู่ความสุข ทุกสมัย
คนใช้ธรรม นำชีวิต ศิวิไลซ์
อยู่ที่ไหน ก็ปลอดภัย ทุกประการ
เมื่อคนดี ใช้ธรรม ประจำอยู่
ในสังคม ทุกหมู่ คู่ประสาน
ก็ทำให้ ทุกคน สุขสำราญ
ใจเบิกบานเพราะใช้ธรรม นำวิญญาณ
เมื่อทุกคน ใช้ธรรม นำชีวิต
ก็พิชิต ปัญหา นานัปการ
ครองชีวิต สงบสุข ทุกประการ
ธรรมบันดาล สงบเย็น เป็นนิรันดร์
ด้วยเหตุนี้ ปราชญ์เมธี จึงเตือนตัก
ให้ทุกคน รู้จัก ใช้ธรรมกัน
เมื่อทุกคน ใช้ธรรม ประจำวัน
ความสุขสันติ์ ก็เกิดมี ทุกวี่วัน
คนระยำ ใช้กิเลส พระท่านเทศน์
ก็เป็นเหตุ ให้เกิดทุกข์ ไม่สุขสันต์
เกิดปัญหา นานา สาระพัน
ทุกข์ด้วยกัน ทั่วไป ในสังคม
คนระยำ ใช้กิเลส เศษมนุษย์
เลวที่สุด ทุกอย่าง ทางสังคม
อยู่ที่ไหน ไปที่ไหน ให้ล่มจม
ทำสังคม ให้เดือดร้อน ทุกตอนไป
ด้วยเหตุนี้ ขอคนดี จงหมายมั่น
พร้อมใจกัน ใช้ธรรม ประจำใจ
จะประสบ ความสุข ทุกเมื่อไป
อยู่ที่ไหน เหมือนสวรรค์ ชั้นวิมาน ฯ