ดี เพื่อ ดี

ดี เพื่อ  ดี

ดี เพื่อ  ดี

ทานญฺจ  เปยฺยวชฺชญฺจ            อตฺถจริยา จ  ยา อิธ

สมานตฺตตา จ  ธมฺเมสุ         ตตฺถ  ตตฺถ  ยถารหํ

เอเต  โข  สงฺคหา   โลเก         รถสฺสาณีว  ยายโต.

แบ่งให้เพื่อเจือจาน, กล่าวขานคำไพเราะเสนาะโสต  ประพฤติประโยชน์แก่ตนและสังคม,วางตัวให้เหมาะสมกับฐานะ  ธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้  ยึดเหนียวจิตใจของคนในสังคมให้กลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ถ้าทำดี

เพื่อดีนั้นดีแน่

ทำดี แต่ทำเพื่อกูดูเฉงโฉง

กลายเป็นเรื่องฉ้อฉลของคนโกง

ทำลายตนสุดโต่งดูให้ดี

ทำเช่นนั้นมันยิ่งเห็นแก่ตัว

ได้เปรียบฝ่ายความชั่วคือฝ่ายผี

ข้างฝ่ายถูกเสียเปรียบลงทุกที

ไม่กี่ปีลืมตัวไม่กลัวเลว

จึงทำดีเพื่อดีสุดดีเถิด

เกียรติจะเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่เหลว

มันยิ่งดีโดยนิสัยได้โดยเร็ว

พ้นจากเหวแห่งบาปลาภมาเอง  (พุทธทาสภิกฺขุ)   

รื่องรีบด่วน

  ที่คนเราทุกคนผู้หวังอยู่ซึ่งความสุขความเจริญก้าวหน้า  และความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน นั่นก็คือเรื่อง ความดี  เรื่องความดีนี้แหละที่คนทุกคนควรรีบทำควรพยายามประกอบไว้ในตน  เพราะถ้าเราทำความดีช้า ๆ อยู่  จิตใจของเราก็จะน้อมไปในความชั่ว  ความชั่วเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะทำจิตใจของเราให้เศร้าหมอง ดังนั้น  ความชั่วจึงไม่ทำเสียเลยนั่นแหละดี   ความดีรีบทำในขณะนี้และเดี๋ยวนี้  อย่ามัวผัดวันประกันเวลาในการทำความดี  การทำความดีนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกคนควรสนใจและเอาใจใส่  ไม่ควรเพิกเฉยละเลยในการทำความดี  เมื่อทำความดีก็ควรทำความดีบ่อย ๆ ทำสม่ำเสมอ ทำไม่ขาดสาย แล้วก็ให้ทำความพอใจในการทำความดีนั้น  ประดังประพันธ์พุทธภาษิตว่า

ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา  กยิราเถนํ  ปุนปฺปุนํ

ตมฺหิ  ฉนฺทํ   กยิราถ      สุโข  ปุญฺญสฺส  อุจฺจโย.

ถ้าบุรุษจะทำบุญ  ก็ให้ทำบุญนั้นบ่อย ๆ ให้ทำความพอใจในบุญนั้น  เพราะการทำบุญนำสุขมาให้

ในเรื่องการทำบุญหรือทำความดีนั้น  หลักธรรมในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงสอนให้ทำบุญ ให้ทำความดีนั้นบ่อย ๆ  ทำความดีสม่ำเสมอ ทำให้ต่อเนื่องอย่าให้ขาดสาย แล้วก็ย้ำให้ทำความพอใจในการทำความดีนั้น  ไม่ใช่ทำสักแต่ว่าทำ ต้องทำด้วยความพอใจ ทำด้วยความเต็มใจ เพื่อให้การทำความดีนั้นบรรลุผล ดังนั้น จึงขอให้ยึดหลักนี้ในการทำความดี คือทำความดีเพื่อดี ทำความดีสม่ำเสมอ ทำความดีต่อเนื่อง ทำความดีไม่ขาดสาย ผลสุดท้ายก็จะได้รับผลของการทำความดี  นั่นคือความสุข

ได้เกริ่นถึงเรื่องการทำความดีมาพอเป็นตัวอย่างโดยย่อแล้ว  ต่อไปก็ขอเข้าสู่ประเด็น ดี เพื่อ ดีเพื่อศึกษาหาความรู้ในมุมมองของการทำความดี คือการทำดีนี้ อาจจะมีมุมมองของคนบางพวก บางเหล่าแตกต่างกันบ้าง ตรงกันบ้าง เหมือนกันบ้าง  แล้วในที่สุดก็จะได้ข้อยุติว่า มุมมองของใครที่ถูกต้อง มีเหตุผล ทำให้ทุกคนเห็นเป็นมุมมองเดียวกัน  เพื่อให้การทำดีได้รับการยอมรับของคนในสังคม เป็นไปในทางที่ถูกต้องชอบธรรม จึงได้นำมาตั้งเป็นคำถามว่า ทำดี เพื่ออะไร?

ทำไมจึงตั้งคำถามเช่นนี้ เพราะในหัวข้อ ดี เพื่อ ดี”  ก็บ่งบอกให้รู้อยู่แล้วว่า ทำดีเพื่อดี    ไม่ใช่ทำดีเพื่ออย่างอื่นหรือมีเหตุผลอะไรที่จะนำมาอธิบายในประเด็นนี้หรือไม่ การที่ตั้งคำถามเช่นนี้  ก็เนื่องมาจากมีคนบางพวกบางเหล่าที่เข้าใจไม่ตรงกับจุดประสงค์หรือความมุ่งหมายของการทำความดี  แล้วก็พากันทำความดี  ตามความคิดความเห็นและจุดมุ่งหมายของตนเป็นที่ตั้ง  หวังให้ได้รับผลตามที่ตนตั้งใจ ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้แหละ  จึงตั้งคำถามว่า ทำดี เพื่ออะไร

ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นคำถามนี้  เราก็มาพูดถึงเรื่องของการทำดีกันเสียก่อน  ทำดีนั้นคือทำอะไร ทำอย่างไรจึงได้ชื่อว่า ทำดีการทำดีนั้นมีหลายอย่าง มีหลายประเภท มีหลายวิธีหรือไม่! เรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันอีกเรื่องหนึ่งก็คือ คำว่า ดีดีนี้ หมายถึงอะไร อะไรคือดี ดีคืออะไร ดีในพจนานุกรมภาษาไทยให้ความหมายไว้ว่า ดี คือสิ่งเป็นไปในลักษณะที่ต้องการ, ที่น่าปรารถนา ที่น่าพอใจ ที่น่าชอบใจ นี่คือความหมายของคำว่า ดีเมื่อรู้ความหมายของคำว่า ดี กันแล้วว่า หมายถึงสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่น่าปรารถนา ที่น่าพอใจ และสิ่งที่น่าต้องการ ที่น่าปรารถนา ที่น่าพอใจนั้น ก็ต้องมีเหตุผลถูกต้องชอบธรรมด้วย จึงจะจัดเป็นการทำดีเพื่อดี  ทำดีเพื่อความดี

แต่เนื่องจากคนเราส่วนใหญ่ยังมีจิตใจเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา เวลาทำดีจึงมักจะทำตามความปรารถนา ตามความต้องการ และตามความพอใจของตน เช่นทำดีเพื่อให้ได้ขึ้นเงินเดือน ให้ได้เลื่อนตำแหน่ง ให้ร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี และอะไรอีกมากมาย  กลายเป็นการทำดีเพื่อความเห็นแก่ตัว บางคนทำดีเพื่อให้ได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เป็นเทพธิดาบนเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ ดังนี้ก็มี  และบางคนทำดีเพื่อให้หายทุกข์ หายโศก หายโรคหายภัย ปราศจากอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ดังนี้ก็มี  แทนที่จะทำดีเพื่อดี หรือทำความดีเพื่อความดี  ก็เพี้ยนไปเป็นทำดีเพื่ออย่างอื่นไป  และก็ยังมีคนอีกบางพวกบางเหล่าพวกเขาพูดกันแบบปฏิเสธผลการทำดีเลยก็มี เช่นพูดกันว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไปการพูดในลักษณะเช่นนี้ จะพูดด้วยการคะนองปาก หรือด้วยเจตนาในการปฎิเสธผลการทำดีอะไรก็ตาม  ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีคนบางพวกบางเหล่าเข้าใจการทำดีไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายในการทำดีที่แท้จริง ดังนั้น จึงได้ตั้งคำถามวา ทำดีเพื่ออะไรเพื่อจะได้วินิจฉัยให้การทำดีถูกต้องด้วยเหตุผล และความชอบธรรมกันต่อไป

ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นทำดี เพื่ออะไรเราก็มาทำความเข้าใจกันในเรื่องของการทำดีหรือวิธีกันเสียก่อน คำว่า ทำดีนั้นมีความหมายกว้าง ยากที่จะเข้าใจกันได้สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีการศึกษาน้อย ดังนั้น  เพื่อให้เข้าใจในการทำดีง่ายขึ้น  จึงขอเอาเรื่องของการทำดี หรือวิธีของการทำดีมาเสนอท่านทั้งหลายเพื่อศึกษาหาความรู้ความเข้าใจในประเด็นนี้กันต่อไป

วิธีทำดีด้วยการประพฤติสุจริต ๓ คือ ประพฤติชอบด้วยกาย เว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ เว้นจากการลักทรัพย์ ๑ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม (เรื่องคู่ครอง)

ประพฤติชอบด้วยวาจา เว้นจากพูดเท็จ ๑ เว้นจากพูดส่อเสียด ๑ เว้นจากพูดคำหยาบ ๑ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ ๑ 

ประพฤติชอบด้วยใจ ไม่โลภอยากได้ของเขา ๑ ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ๑  เห็นชอบตามคลองธรรม ๑    การประพฤติสุจริตทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นการทำดีอย่างหนึ่ง  ซึ่งทุกคนควรเอาใจใส่ และตั้งใจทำ  

วิธีทำดีอย่างหนึ่งเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุวิธีทำบุญ ๑๐ ข้อ

. ทานมัยบุญสำเร็จด้วยการให้ทาน

. สีลมัยบุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

. ภาวนามัยบุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

. อปจายนมัยบุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่

. เวยยาวัจจมัยบุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวาย ในกิจที่ชอบ

. ปัตติทานมัยบุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ

. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา

. ธัมมัสสวนมัยบุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม

. ธัมมเทสนามัยบุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์การทำความเห็นให้ตรง

บุญกิริยาวัตถุ วิธีทำบุญ ๑๐ ประการนี้  ก็จัดเป็นการทำดีเช่นเดียวกัน  เพื่อให้เข้าใจในเรื่อง ทำดีเพื่ออะไรก็ขอนำเอาการทำดีตามบุญกิริยาวัตถุมาอธิบายต่อไป

ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน การให้ทานเป็นการทำดีอย่างหนึ่ง  จะเป็นการให้อาหาร ให้เครื่องนุ่งห่ม ให้ที่อยู่อาศัย ให้ยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ และให้อะไรก็ตาม  ก็เป็นการทำดีทั้งนั้น  ประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจต่อไป  ก็คือให้ทานเพื่ออะไร ? ทำดีด้วยการให้ทานเพื่ออะไรในประเด็นของการทำดีด้วยการให้ทานนี้แหละ  เราจะเห็นมุมมองของคนที่แตกต่างกัน  ซึ่งไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการทำดีด้วยการให้ทานที่แท้จริง  เช่น บางคนให้ทานเพื่อต้องการเป็นคนร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติ เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เกิดมาในชาติใด  ก็ขออย่าให้เป็นคนยากจนขัดสนด้วยทรัพย์สินเงินทอง  ต้องการอะไรก็ขอให้ได้ดังประสงค์  บางคนก็ให้ทานต้องการให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ให้ได้ทุกสิ่งที่ต้องการ

การทำดีด้วยการให้ทาน  แต่อยากให้เกิดผลตามที่ตนต้องการ  ดังที่กล่าวมาโดยย่อพอเป็นตัวอย่างนี้  ชี้ให้เห็นว่าเป็นการทำดีที่ไม่ตรงกับจุดประสงค์ของการทำดี เพราะการทำดีนั้นมีจุดประสงค์ คือ ทำดี เพื่อดีหมายความว่า การทำดีเพื่อความดี ทำดีเพื่อให้เกิดคุณธรรมความดีในจิตใจของผู้ทำดี คือคนทำดีย่อมได้รับคุณธรรมความดีเป็นสิ่งตอบแทนจึงได้ชื่อว่า ทำดีเพื่อดี  ไม่ใช่ทำดีเพื่อให้ได้สิ่งอื่นเป็นสิ่งตอบแทน  ถ้าทำดีแล้วต้องการสิ่งอื่นตามที่ตนต้องการ  ก็ไม่ใช่เป็นการทำดีเพื่อดี  กลายเป็นการทำดีเพื่อความเห็นแก่ตัวไป  แทนที่จะได้รับคุณธรรมความดี  เป็นสมบัติของจิตใจ  กลับไปเพิ่มกิเลส ความโลภ ความเห็นแก่ตัวให้มากขึ้น  เพราะการทำดีด้วยการให้ทานนั้น  ต้องการละความโลภ ความเห็นแก่ตัวให้ลดลง ให้บรรเทาเบาบางให้จางหายไปในที่สุด  นี่คือจุดประสงค์ของการทำดีด้วยการให้ทาน  ถ้าทำได้เช่นนี้  นี่แหละคือการ ทำดี เพื่อดีเอาชนะความตระหนี่ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ด้วยการให้ทาน จุดประสงค์ของการทำดีด้วยการให้ทาน  ต้องการเอาชนะความตระหนี่  ตามหลักว่า ชิเน กทริยํ ทาเนนชนะความตระหนี่ด้วยการให้ทาน พากันจำไว้ให้ขึ้นใจว่า การทำดีด้วยการให้ทานนั้น  จุดประสงค์ที่แท้จริงคือ กำจัดความตระหนี่ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ให้หมดไปจากจิตใจ อย่าให้เหลือไว้แม้แต่น้อยนิดเพราะเป็นพิษเป็นภัย  ทำลายจิตใจให้เสื่อมจากคุณภาพขาดจากคุณธรรม  ขอเชิญชวนมวลประชาพากันทำดีเพื่อความดีกันเถิด  จะเกิดสิริมงคลส่งผลให้มีแต่ความสงบสุข  ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ

จงทำดีเพื่อความดีกันเถิด อย่าทำดีเพื่อความเห็นแก่ตัว  ถ้าทำดีเพื่อความดีแล้ว ลาภผลต่าง ๆ ที่ต้องการนั้น  ก็จะเกิดตามมาเองเป็นเงาตามตัว  ซึ่งไม่จำเป็นต้องตั้งความหวังอะไร  เพราะมันเป็นผลพลอยได้จากการทำดีเพื่อดีนั้นเอง หว่านพืชอะไรลงไป  ก็ได้รับผลตามที่หว่านลงไปนั้นอย่างแน่นอนไม่ต้องสงสัย  ได้พูดถึงการทำดีด้วยการให้ทานมาโดยย่อพอสมควรแล้ว  ประเด็นต่อไป  ก็ขอนำเอาการทำดีด้วยการรักษาศีลเพื่อการศึกษาหาความรู้ต่อไป

สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล  การรักษาศีลเป็นการทำดีอีกอย่างหนึ่ง  การรักษาศีลนั้นคือทำอย่างไร ? การรักษาศีลนั้นก็ได้แก่การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย พฤติกรรมทางกายไม่เป็นโทษแก่ใคร ๆ  พฤติกรรมทางวาจาไม่เป็นภัยแก่คนอื่น  พฤติกรรมทางกายที่แสดงออกมา  ก็เว้นจากการฆ่าสัตว์ ให้เคารพชีวิตของคนอื่นและสัตว์อื่น  เพราะชีวิตย่อมเป็นที่รักที่หวงแหนของสัตว์ทั้งหลาย  ชีวิตใคร ๆ ก็รัก  ชีวิตเป็นที่รักที่หวงแหนของสัตว์ทั้งหลาย  แล้วอย่าทำลายชีวิตของกันและกัน  ชีวิตเขา ๆ ก็รัก  ชีวิตเรา ๆ ก็รัก  เมื่อทุกคนต่างก็รักชีวิตของตน เพราะว่าความรักอื่นเสมอด้วยความรักตนไม่มี

เพื่อให้การทำดีด้วยการรักษาศีล  เข้าใจกันได้ง่าย ๆ ก็ขอยกเอาศีล ๕ มาเป็นหัวข้อในการอธิบายประกอบดังนี้

ปาณาติปาตา  เวรมณี   เว้นจากการฆ่าสัตว์

อทินนาทานา  เวรมณี  เว้นจากการลักทรัพย์

กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม

มุสาวาทา  เวรมณี   เว้นจากการพูดเท็จ

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา  เวรมณี  เว้นจากการดื่มน้ำเมาสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ขาดสติ

ความจริง ศีล ๕ ข้อนี้ เป็นกฎของสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันมีมานานแล้ว  พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า เป็นกฎที่มีเหตุผลเพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุขได้  จึงทรงรับไว้เป็นส่วนหนึ่ง เรียกว่า ศีล ๕ เรียกว่า ปัญจศีล มี ๕ ข้อด้วยกันดังที่กล่าวข้างต้นนั้น กฎทั้ง ๕ ข้อนี้  เป็นกฎที่วางไว้เพื่อให้ทุกคนในสังคมต้องเคารพในสิทธิของกันและกัน ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษอ้างเอาเป็นเหตุไปละเมิดสิทธิของคนอื่น  ถ้าทุกคนในสังคมปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อกฎทั้ง ๕ ข้อนี้  ปัญหาต่าง ๆ ในทางสังคมก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้  เพราะต่างคนต่างก็เคารพในสิทธิของกันและกัน  เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษาหาความเข้าใจ  ในเรื่องการทำดีด้วยการปฏิบัติตามกฎของสังคม ๕ ข้อ (ศีลห้า) ก็ขอนำเอากฎทั้ง ๕ ข้อมาอธิบายประกอบเป็นข้อ ๆ ดังนี้

กฎข้อที่ ๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์ (ปาณาติปาตา เวรมณี)  กฎข้อนี้ต้องการให้ทุกคนในสังคมเคารพในชีวิตของบรรดาสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย อย่าฆ่า อย่าทำลาย อย่าเบียดเบียนชีวิตของสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน  ไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ หรือโดยวิธีใด ๆ ทั้งนั้น ให้ยึดหลักว่า ชีวิตเป็นที่รักที่หวงแหนของสัตว์ทั้งหลาย  แล้วอย่าทำลายชีวิตของกันและกัน  นั่นคือจุดหมายที่แท้จริงของการปฏิบัติตามกฎข้อที่หนึ่ง  ดังนั้น การทำดีด้วยการรักษาศีลหรือกฎข้อที่หนึ่ง ไม่ใช่จุดประสงค์อย่างอื่น  เช่น ปรารถนาให้มีอายุยืนปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีร่างกายแข็งแรง เป็นต้น  แต่ทำความดีเพื่อความดี และความดีที่จะได้รับในการทำดีด้วยการปฏิบัติตามกฎข้อที่หนึ่งนี้ ก็คือ เมตตาความรักใคร่ปรารถนาให้คนอื่นและสัตว์อื่นมีความสุข  นี่คือผลที่ได้รับจากการทำดี ด้วยการปฏิบัติตามกฎข้อที่หนึ่งโดยตรง  ส่วนการมีอายุยืน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บนั้น  นั่นเป็นผลพลอยได้อันเกิดจากการ ทำดีเพื่อความดี  เราไม่จำเป็นต้องตั้งความปรารถนา มุ่งหวังอะไร  แต่มันจะเกิดขึ้นตามกฎธรรมชาติของการทำดีเพื่อความดี  ไม่มีอำนาจอะไรจะสะกัดกั้นได้  จึงขอให้ทุกคนทำดีเพื่อความดีกันเถิด  จะเกิดสิริมงคลส่งผลให้มีความสงบสุข และปลอดภัยในชีวิต

กฎข้อที่สอง(อทินนาทานา เวรมณี)เว้นจากการลักทรัพย์ การทำดีด้วยการเว้นจากการลักทรัพย์นี้  ต้องการให้ทุกคนเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของคนอื่น   ทรัพย์สมบัติของใคร ๆ ก็รักก็หวงแหน  ไม่ต้องการให้ใครมาล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตน  คนที่ล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินคนอื่นนั้น  ผิดกฎสังคมข้อที่สอง (อทินนาทาน) การถือเอาของคนอื่นด้วยอาการแห่งขโมย(ลักทรัพย์) ได้ทรัพย์มาเลี้ยงชีวิต  ก็เป็นการเลี้ยงชีวิตในทางที่ไม่ชอบ (มิจฉาอาชีวะ) ส่วนคนที่ทำดี  ด้วยการเว้นจากการลักทรัพย์  ผลที่เขาได้รับคือความดี ความดีในที่นี้ คือ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ  เขาได้ความดีคือสัมมาอาชีวะเป็นสมบัติของใจ (ทำดีเพื่อความดี) ไม่ใช่ทำดีเพื่ออย่างอื่น  ทำดีต้องเพื่อความดีเท่านั้น  ส่วนผลพลอยได้อย่างอื่นก็ตามมาเป็นธรรมดา  ตัวอย่างผลพลอยได้จากการทำดี  ด้วยการไม่ลักทรัพย์ เช่น เกิดมาในชาติใด ๆ จะเป็นผู้ปลอดภัยในเรื่องทรัพย์สมบัติจะไม่วิบัติเพราะถูกลักถูกปล้นสะดมเพราะเราไม่เคยลักของเขา  ไม่เคยปล้นเขามาก่อน  ผลสะท้อนส่งให้เรามีความปลอดภัยในทรัพย์สมบัติ ไม่ถูกลักถูกปล้นสะดม  นี่คือผลพลอยได้อันเกิดจากการทำดี ด้วยการไม่ลักทรัพย์  ส่วนผลโดยตรงนั้น ทำดีเราก็ได้รับความดีคือ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบเป็นคุณสมบัติจิตใจ จิตใจสูงขึ้นด้วยคุณธรรมจำกันไว้ให้ดี  แล้วพากันทำความดีเพื่อความดีกันต่อไป

กฎข้อที่สาม(กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี)เว้นจากประพฤติผิดในกาม(คู่ครอง) การทำดีด้วยการไม่ประพฤติผิดในกามนั้น  จุดประสงค์ต้องการให้ทุกคนในสังคมพากันเคารพในคู่ครองของคนอื่นเพราะทุกคนต่างก็มีความรักความหวงแหนในคู่ครองของตนไม่ต้องการให้ใครมาล่วงละเมิดในคู่ครองของตน  ไม่ว่าโดยอุบายวิธีใด ๆ ทั้งนั้น  การล่วงละเมิดในคู่ครองของคนอื่นเป็นการทำลายน้ำใจเหยียบย่ำจิตใจของเขาอย่างไม่น่าให้อภัยได้  ดังนั้น จึงขอให้ทุกคนประพฤติตนเป็นคนเคารพในคู่ครองของคนอื่น  ฝ่ายชายให้ถือหลักว่า ภรรยาของคนอื่นเหมือนคุณแม่ของเรา  ฝ่ายหญิงก็ให้ถือว่าผู้ชายทุกคนเหมือนคุณพ่อของเรา  ถ้าทุกคนยึดหลักนี้อย่างเคร่งครัด ปฏิบัติต่อกันด้วยการเคารพในคู่ครองของกันและกัน  ปัญหาเรื่องการประพฤติผิดในกาม  ก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้นในสังคมอย่างแน่นอน  จึงขอวอนให้ทุกคนทำดีเพื่อความดีกันเถิด  ผลดีที่เกิดจากการทำดีด้วยการไม่ประพฤติผิดในกามโดยตรงนั้นคือเราจะได้รับคุณธรรมความดีคือ สทารสันโดษยินดีในสามีภรรยาของตนเป็นคุณธรรมประจำใจ  ส่วนผลพลอยได้อันจะตามมาจากการทำดีด้วยการไม่ประพฤติผิดในกามนั้น  ก็คือจะทำให้เรามีความปลอดภัยในเรื่องคู่ครอง  เกิดมาในภพใดชาติใดก็ไม่มีใครบังอาจมาล่วงละเมิดในคู่ครองของเรา เพราะเราไม่เคยล่วงละเมิดในคู่ครองของเขา  เขาก็ไม่ล่วงละเมิดคู่ครองของเรา  นี่คือผลพลอยได้จากการทำดี ด้วยการไม่ประพฤติผิดในกาม (ไม่ล่วงละเมิดคู่ครองคนอื่นจงทำดีเพื่อความดีแล้วผลพลอยได้  ก็จะตามมาเองเป็นเงาตามตัว

กฎข้อที่สี่(มุสาวาทา เวรมณี) เว้นจากพูดเท็จ การทำดีด้วยการไม่พูดเท็จนั้น  จุดประสงค์โดยตรง ต้องการให้ทุกคนเคารพในสัจจวาจา สัมมาวาจาให้พูดแต่ความจริง พูดแต่วาจาชอบ อย่าพูดเท็จ อย่าพูดคำหยาบ อย่าพูดเพ้อเจ้อ เพราะการพูดเท็จ พูดคำไม่จริงนั้น เป็นการทำลายประโยชน์ของคนอื่นเมื่อเขาเชื่อและทำตามที่เราพูด  เราต้องเคารพประโยชน์ของคนอื่นที่เขาจะพึงได้รับจากคำพูดของเรา  แต่ถ้าเราพูดเท็จ พูดไม่จริงแล้ว เขาจะได้ประโยชน์อย่างไรจากคำพูดของเรานอกจากความเสียหาย ทำลายประโยชน์เท่านั้น  ผลที่จะพึงได้รับจากการทำดี  ด้วยการไม่พูดเท็จนั้น เราก็จะได้คุณธรรมคือ สัจจวาจา สัมมาวาจาวาจาจริงวาจาชอบ เป็นสมบัติประจำใจ นี่คือผลโดยตรงอันเกิดจากการทำดี ด้วยการเว้นจากการพูดเท็จ (ไม่พูดเท็จส่วนผลพลอยได้ ถ้าเราไม่พูดเท็จ ไม่โกหกหลอกลวงคนอื่น  เราก็เป็นคนมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดอะไรออกไปแล้ว ทำให้คนฟังเชื่อและปฏิบัติตาม  จะบอกจะสอน จะแนะนำอะไรคนก็เชื่อทุกอย่าง  แล้วก็ยอมปฏิบัติตามที่เราบอกเราสอนนั้น  ผลที่ได้รับอีกอย่างหนึ่ง คือคนที่ทำดีด้วยการไม่พูดเท็จนั้น เกิดมาในชาติใดก็เป็นผู้ปลอดภัยไม่ถูกคนอื่นหลอกลวงให้หลงเชื่อ  ไม่มีใครกล้ามาพูดเท็จ พูดคำไม่จริงกับเขา  เพราะเขาไม่เคยพูดเท็จกับคนอื่นมาก่อน  นี่คือผลพลอยได้อันเกิดจากการทำดีด้วยการไม่พูดเท็จ

กฎข้อที่ห้า(สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวรมณี) เว้นจากการดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ขาดสติ  การทำดีด้วยการไม่ดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยนั้น  จุดประสงค์ต้องการให้ทุกคนเคารพในความไม่ประมาท ให้มีสติ ในการทำ ในคำพูด ในการคิด คิดด้วยสติ พูดด้วยสติ ทำด้วยสติ มีสติทุกอิริยาบถ  ทุกลมหายใจเข้าออก การทำดี ด้วยการไม่ดื่มน้ำเมา สุราเมรัย นั้น  เราจะได้รับคุณธรรมความดีคือ สตินี่คือผลที่เราจะได้รับโดยตรงจากการทำดีด้วยการไม่ดื่มน้ำดองของเมาเหล้าสุราเมรัยทำให้เรามีสติในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ(สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา)สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ส่วนผลพลอยได้จากการทำดีด้วยการไม่ดื่มน้ำเมาสุราเมรัยนั้น  เราจะเป็นคนไม่มัวเมาลุ่มหลงในสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลง  ไม่มัวเมาในสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมาคือกามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส  นี่คือผลพลอยได้  จึงขอให้ทุกคนทำดีเพื่อความดีกันเถิด  แล้วสิ่งที่เราต้องการก็จะสำเร็จได้ทุกประการ  เรื่องการทำดีด้วยการรักษาศีลห้า กฎ ๕ ข้อ ก็จบลงเพียงเท่านี้

การทำดีเพื่อดีนั่นดีมาก

จึงขอฝากทุกคนให้สนใจ

พากันทำความดีเป็นนิสัย

เราจะได้ความดีประจำใจ

การทำดีเพื่อดีดีที่สุด

ซึ่งมนุษย์ทุกคนควรสนใจ

ทำความดีเพื่อดีเป็นปัจจัย

เราจะได้นอนเป็นสุขทุกคืนวัน

การทำดีเพื่อดีเป็นปัจจัย

ขอฝากแก่ทุกคนสนใจกัน

ทำความดีเพื่อดีกันทุกวัน

ความดีนั้นจะคุ้มครองป้องกันภัย

การทำดีเพื่อดีนั่นดีเด่น

เป็นประเด็นที่ทุกคนต้องสนใจ

พยายามทำดีไว้เป็นปัจจัย

เราจะได้สงบเย็นเป็นนิรันดร์

เมื่อทำดีเพื่อดีดีปรากฏ

มีลาภ ยศคนชมนิยมกัน

เพราะทำดีเพื่อดีมีผลพลัน

ดีเดี๋ยวนั้นขณะนั้นในทันที

ด้วยเหตุนี้ปราชญ์เมธีจึงเตือนตัก

ให้รู้จักทำดีเพื่อความดี

เพื่อส่งเสริมเพิ่มพูนซึ่งความดี

 ให้เรามีความสุขทุกเมื่อแล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>