นาวาชีวิต

ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย!  เนื่องจากเดือนธันวาคม
ชาวโลกนิยมสมมติกันว่าเป็นเดือนสุดท้ายของปี ปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน เดือนมกราคมนิยมเรียกกันว่า ปีใหม่ส่วนเดือนธันวาคมอันเป็นเดือนสุดท้ายของปี ก็หนีไม่พ้นจากคำว่า ปีเก่าเราท่านทั้งหลาย เมื่อกาลเวลา วัน-คืน เดือน-ปี หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามจักรราศีของมัน ก็สมมติเรียกกันไปตามความนิยมของชาวโลก โดยเฉพาะประชาชนชาวไทยพอถึงวันสุดท้ายของเดือนธันวาคม จะเริ่มต้นของวันที่ ๑ มกราคม ก็นิยมสมมติเรียกกันว่า ปีเก่า-ปีใหม่แล้วก็จัดงานเฉลิมฉลองกันเป็นการใหญ่จนกลายเป็นประเพณีตั้งชื่อกันเสียดิบดีและสวยหรูว่า งานส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่คล้าย ๆ ว่า ปีเก่า-ปีใหม่ มันอาลัยไยดีพอใจอะไรกะเราอย่างนั้นแหละ แต่ที่แท้แล้วมันไม่รู้เรื่องอะไรกะเราเลย นี่คือเรื่องนิยมสมมติของชาวโลก ชาวโลกก็นิยมทำอะไรกันแบบโลก ๆ เพื่อให้ชาวโลกได้ตระหนักถึงความเป็นจริงตามหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา หลวงตาจึงขอเสนอเรื่อง นาวาชีวิตเพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้ทุกคนดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาต่อไป พระพุทธเจ้าทรงเตือนภิกษุทั้งหลายด้วยธรรมบรรยายว่า  ดูกรภิกษุ เธอจงวิดเรือลำนี้  เรือลำนี้อันเธอวิดแล้ว จักถึงฝั่งโดยเร็ว  เธอตัดราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว  ก็จักถึงซึ่งนิพพาน (ความดับทุกข์)  นี่คือพระดำรัสตรัสเตือนภิกษุทั้งหลาย ตามธรรมบรรยายนี้พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ภิกษุตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พยายามประคับประคองนาวาชีวิตให้ดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางคือความดับทุกข์ พระองค์ทรงเปรียบชีวิตของคนเราเหมือนกับเรือ เรือจักถึงจุดหมายปลายทางคือฝั่งโน้นได้ ก็ต้องอาศัย การพาย การถ่อ การวิด การแจว แล้วเรือจึงล่องแน่วตัดกระแสลำธารไปสู่ฝั่งโน้นได้ด้วยความปลอดภัย ถ้าคนใดประมาทขาดสติปล่อยให้เรือไหลไปตามกระแสลำธาร ขาดการพาย การถ่อ การวิด การแจว แล้วแต่กระแสน้ำจะพัดพาไป ในที่สุด เรือก็จะเคว้งคว้างอัปปางอย่างไม่ต้องสงสัย ชีวิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน คนฉลาดก็สามารถนำนาวาชีวิตให้ไปสู่จุดหมายปลายทาง คือความดับทุกข์ได้ด้วยการปฏิบัติธรรม ส่วนคนไหนประมาทขาดสติ ปล่อยนาวาชีวิตเป็นไปตามบุญตามกรรม ชีวิตก็ตกต่ำเหมือนเรืออัปปางลงกลางทะเลหลวง ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงเตือนภิกษุในพระพุทธศาสนา ให้นำนาวาชีวิตลำนี้ไปสู่จุดหมายปลายทางด้วยความไม่ประมาท รีบถ่อ รีบพาย รีบวิด รีบแจว แล้วเรือชีวิตที่วิดดีแล้วนั้น ก็จะพลันถึงฝั่งแห่งความสวัสดี  การนำนาวาชีวิตให้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น และปลอดภัยนั้น ต้องอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องนำทาง พระพุทธเจ้าทรงวางหลักธรรมไว้ ๔ ประการคือ  ๑. สังวรปธาน เพียงระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน  ๒. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป  ๓. ภาวนาปธาน เพียรภาวนาให้กุศลเกิดขึ้น  ๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมไป  หลักธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเครื่องประกันความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของเรา การใช้ชีวิตประจำวันถ้าขาดหลักประกันก็ไม่มีความปลอดภัย เหมือนกับการใช้เรือ ถ้าเรือขาดหางเสือเรือนั้นก็อันตราย อุบายที่จะนำนาวาชีวิตไปสู่ฝั่งแห่งความสวัสดี ข้อแรกก็คือ ความสังวรระมัดระวัง คนเราส่วนใหญ่ใช้ชีวิตประจำวันกันแบบคนประมาทขาดสติ ปล่อยให้ความชั่วกิเลสตัณหาอารมณ์ฝ่ายต่ำ ไหลทะลักเข้าไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เพราะขาดหลักประกัน คือความสังวรระวัง ดังนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อบรรดามนุษย์ทั้งหลาย จึงทรงแนะอุบายป้องกันชีวิตประจำวัน ข้อแรกว่า ให้ทุกคนใช้ความระมัดระวังสังวร ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด ก่อนจะประกอบกิจอะไรลงไป ต้องใช้สติ ระวังหน้าระวังหลังให้ดี อย่าผลีผลามทำอะไรตามกิเลสอารมณ์ชักจูง  สังวรปธาน เพียรระวังป้องกัน ไม่ให้กิเลสความชั่วรั่วไหลเข้าไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ เหมือนกับคนรักษาเรือไม่ให้มีรูรั่ว เรือรั่วไม่มีความปลอดภัย ฉันใด กาย วาจา ใจ ที่ไม่สังวรระวังก็ไม่ปลอดภัย ฉันนั้นเหมือนกัน คนเรามีประตูที่จะต้องเอาใจใส่ระวังรักษาอยู่ ๓ ประตูคือ ประตูกาย เรียกกายทวาร, ประตูวาจา เรียกวจีทวาร, ประตูใจ เรียกมโนทวาร กิเลสความชั่วทั้งหลายแหล่ที่เกิดขึ้นแก่คนเรานั้น ก็เกิดขึ้นทางประตูทั้ง ๓ นี้เอง ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงเตือนให้ทุกคนปิดประตูทั้ง ๓ นี้เสีย อย่าให้กิเลสความชั่วรั่วไหลเข้าไป เพื่อความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน การป้องกันกิเลสความชั่วไม่ให้รั่วไหลเข้าไปทางกาย ทางวาจา และทางใจนั้น ก็คือการไม่ทำความชั่วทางกาย ไม่พูดชั่วทางวาจา และไม่คิดชั่วทางใจนั้นเอง คือให้มีหิริ ความละอายต่อความชั่ว โอตตัปปะ กลัวต่อผลของบาปกรรม อย่าทำความชั่ว ทั้งในที่ลับ ทั้งในที่แจ้ง เช่น จะพูดชั่ว พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดหยาบคาย พูดเหลวไหล ก็ให้เกิดความละอายแก่ใจขึ้นมา แล้วระงับปากปิดปากไว้เสียอย่าพูด เพราะการพูดชั่วไม่ดี เป็นเสนียดจัญไร ถ้าจะทำชั่ว ก็ให้เกิดความละอาย ระงับกายไว้ได้อย่าให้กายฆ่าสัตว์ อย่าลักทรัพย์ อย่าประพฤติผิดในกาม เพราะเป็นของเลวทรามนำความทุกข์มาให้ ถ้าจะคิดชั่ว ก็ให้ละอายระงับใจ อย่าโลภอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน อย่าคิดอาฆาตพยาบาทจองเวร อย่าคิดเบียดเบียนคนอื่น และสัตว์อื่น ให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน อย่าคิดผิดทำนองคลองธรรม เมื่อไม่ทำ ไม่พูด ไม่คิด ในทางทุจริตเช่นนี้เรียกว่าเป็นการระวังความชั่วไม่ให้เกิดขึ้น เมื่อความชั่วไม่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา และทางใจ คนเราก็มีกายบริสุทธิ์ มีวาจาบริสุทธิ์ มีใจบริสุทธิ์ ซึ่งเรียกว่า กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีพฤติกรรมทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่เป็นพิษเป็นภัยทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น เป็นสุจริตชน คือคนดีคนบริสุทธิ์ ตามหลักของพระพุทธศาสนาเพราะฉะนั้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตประจำวันเป็นหลักประกันให้นาวาชีวิตมุ่งตรงไปสู่หลักชัย คือ ความสงบสุขอันยอดปรารถนา พระพุทธศาสนาจึงวางหลัก สังวรปธานไว้เป็นอันดับแรก เพื่อให้ทุกคนใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตประจำวัน  ปหานปธาน เพียรละกิเลสความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วทางกาย ทางวาจา และทางใจ ให้หมดไป ธรรมดาสามัญชนคนที่ยังมีกิเลสตัณหาห่อหุ้มจิตใจอยู่ ส่วนใหญ่ก็มักจะตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความประมาทขาดสติ จะทำ จะพูด จะคิด จะประกอบกิจอะไรลงไป ก็เป็นไปด้วยความวู่วามตามอารมณ์ชักจูง ด้วยเหตุนี้ ชีวิตประจำวันของคนประมาทขาดสติ ไม่สังวรระมัดระวังจึงเป็นดังเรือขาดหางเสือ จะแล่นไปเหนือ ไปใต้ ก็แล้วแต่กระแสลมจะพัดไป หาจุดหมายปลายทางอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็อัปปางกลางทะเลลึก คนที่ขาดการสังวรระวัง ก็เป็นดังเรือขาดหางเสือไม่มีผิด นาวาชีวิตก็ไหลไปตามยถากรรม ความชั่วเข้าครอบงำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ด้วยอำนาจของอารมณ์ เช่น อารมณ์ล่อให้รักก็รักเสียจนหลงจนลืม อารมณ์ยั่วให้โกรธก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กินไม่ได้นอนไม่หลับ อารมณ์หลอกให้หลงก็หลงเสียจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นี่คือลักษณะของคนทำอะไรตามอารมณ์ชักจูง ก็เหมือนกับเรือขาดหางเสือถูกลมพัดไปฉะนั้น  แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อคนเราประมาทขาดสติ ปล่อยให้กิเลสความชั่วรั่วไหลเข้าไปทางกาย ทางวาจา และทางใจ เช่นนี้ ก็ยังมีโอกาสแก้ตัวที่จะนำหลักประกันนาวาชีวิตประการที่สองมาใช้ในขั้นต่อไป นั่นคือ ปหานปธานเพียรละกิเลสความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป ถือหลักว่า เมื่อกันไม่ทัน ก็ต้องแก้การกัน กับ การแก้ เป็นของคู่กัน เหมือนกับเรือ เมื่อเรือมันรั่วก็ต้องอุด ต้องยา การอุดเรือก็ต้องนำเอาส่วนที่เสียทิ้งไป แล้วเอาของใหม่ใส่แทน เรือก็แล่นไปได้เช่นเคย นาวาชีวิตก็ไม่ผิดอะไรกับเรือธรรมดา พระบรมศาสดาทรงสอนให้ละความโกรธด้วยความไม่โกรธ ให้ละความชั่วด้วยความดี ให้ละความตระหนี่ด้วยการให้ ให้ละความเหลวไหลด้วยความสัตย์จริง เมื่อความชั่วมันเกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา และทางใจ มันเป็นพิษเป็นภัยทั้งแก่ตนเองและคนอื่น ก็ควรละมันให้หมด อย่าปล่อยให้มันหมักหมมอยู่ในจิตใจ เพราะความชั่วมันเป็นของบูด ของเน่า ของเหม็น ของไม่เป็นศิริมงคล ต้องละให้หมดอย่าให้เหลือไว้แม้แต่น้อยนิด ความชั่วแม้แต่น้อยนิดก็เป็นพิษเป็นภัย ทำลายจิตใจให้เสื่อมคุณภาพขาดคุณธรรม เมื่อใดเราละความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ ได้แล้ว กาย วาจา ใจ ของเราก็เหมาะสำหรับเพาะปลูกคุณงามความดี เราก็ใช้หลักประกันชีวิตประการที่สามคือ ภาวนาปธาน”  ภาวนาปธาน เพียรสร้างกุศลความดีให้เกิดขึ้นในจิตใจ บุญกุศลความดีความงามตามด้วยคุณธรรม ศีลธรรม หรือ ทาน ศีล ภาวนา เราต้องแสวงหาและหมั่นสั่งสมอบรมเพาะปลูกให้เกิดขึ้นทีละน้อยๆ อย่าปล่อยกาลเวลาให้ล่วงไปเปล่าๆ โดยที่เราไม่ได้ทำประโยชน์อะไร การอยู่ร่วมกันในสังคม เราจะต้องเป็นคนรู้จักเสียสละ ให้ทานแบ่งปันวัตถุสิ่งของ เพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์ซึ่งกันและกันตามฐานะ อย่าเป็นคนตระหนี่เห็นแก่ตัว การให้ทานเป็นการผูกไมตรีสร้างพลังแห่งความสามัคคีให้เป็นปึกแผ่น แกนสำคัญของสังคมอยู่ที่การเสียสละ สังคมใดขาดคนมีน้ำใจในการเสียสละ สังคมนั้นก็มีแต่ความระส่ำระสายวุ่นวายรวมกันไม่ติด ต่างคนต่างก็จะเอาตัวรอด ตัวใครตัวมัน กระดูกขัดมันไม่เห็นแก่ส่วนรวม ลงแบบนี้ละก็สังคมมนุษย์จะอยู่กันรอดได้อย่างไร เพราะจิตใจของคนในสังคมเต็มอัดไปด้วยความเห็นแก่ตัว ด้วยเหตุนี้ จึงควรที่ทุกคนจะต้องสร้างความดีด้วยการให้ทาน การแบ่งปัน เพื่อสร้างสรรค์จรรโลงสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันให้เกิดสันติสุข  อีกประการหนึ่ง การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น จำเป็นต้องอยู่กันอย่างมีระเบียบวินัยแบบแผน เริ่มแรกก็ต้องประพฤติตนให้เป็นคนมีศีล ศีลก็ได้แก่ระเบียบวินัยนั่นเอง เราต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นคนเคารพเคร่งครัดต่อระเบียบวินัย อย่าทำอะไรตามชอบใจ ต้องยึดถือระเบียบวินัยเป็นบรรทัดฐาน การเป็นคนเคร่งครัดต่อระเบียบวินัย ควบคุมตนเองให้อยู่ในกฎกติกา ได้ชื่อว่าเป็นคนมีศีล เมื่อเป็นคนมีศีล พฤติกรรมที่แสดงออกมาทางกายทางวาจา ทางใจ ก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคม ตนเองก็ไม่เดือดร้อนนอนเป็นสุข ดังนั้น ทุกคนจึงควรประพฤติตนให้เป็นคนมีศีล เคร่งครัดต่อระเบียบวินัย จึงจะมีความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน  เมื่อสั่งสมอบรม ทาน ศีล ให้เกิดให้มีขึ้นในจิตใจแล้ว ก้าวต่อไปก็ควรเจริญภาวนา เพื่อให้เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง คำว่า ภาวนาแปลว่า การทำให้เกิดให้มีขึ้นให้เจริญขึ้น คือทำกุศล คุณงามความดี ทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้เจริญขึ้น ให้มากขึ้น ให้ถาวรมั่นคงยิ่งขึ้น การเจริญภาวนาที่ถูกต้องนั้น ก็ได้แก่การฝึกฝนอบรมจิตใจของตนนั้นเอง ฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแน่แน่วดีแล้ว สติสัมปชัญญะก็เจริญสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจิตก็ยิ่งมีกำลังแจ่มใส สะอาด สว่างยิ่งขึ้น จิตที่สงบเป็นสมาธิดีแล้วนั้น ประกอบด้วยลักษณะ ๓ ประการคือ  ๑. ปริสุทโธ บริสุทธิ์ ผ่องใส สะอาด ปราศจากกิเลสที่เป็นเหตุทำให้จิตขุ่นมัว  ๒. สมาหิโต เป็นจิตตั้งมั่น เข้มแข็ง หนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่มายั่วยวนชวนให้ยินดียินร้าย  ๓. กัมมนีโย เป็นจิตคล่องแคล่วว่องไว รู้ทันต่ออารมณ์ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมาะแก่การทำงานเพื่อทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปสิ้นไป การสั่งสมอบรมคุณงามความดี บุญกุศล ทุกคนควรพากเพียรพยายามทำเป็นประจำในชีวิตประจำวัน เพื่อประกันนาวาชีวิตให้มีความปลอดภัย บุญกุศล คุณงามความดี ศีลธรรม คุณธรรม ที่เราสั่งสมอบรมไว้ดีแล้ว ก็ควรเอาใจใส่ดูแลรักษาไว้ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ข้อนี้ก็ต้องอาศัย  อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาบุญกุศลไม่ให้เสื่อมเสียไป ทรัพย์สมบัติภายนอก คุณธรรม ศีลธรรมภายใน ที่เราแสวงหามาได้ และสั่งสมให้เกิดขึ้นแล้วนั้น ถ้าขาดการเอาใจใส่ดูแลรักษา ทรัพย์สมบัติ คุณธรรม ศีลธรรมเหล่านั้น ก็ย่อมหมดไป และเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา การเพียรรักษาบุญกุศล คุณงามความดี ที่บำเพ็ญไว้แล้วไม่ให้เสื่อมเสียไปนั้น ก็คือ พยายามทำความดีให้ทวียิ่ง ๆ ขึ้นไปนั่นเอง ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น ควรใช้หลักประกันชีวิตทั้ง ๔ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ คือ ระวังป้องกันความชั่วอย่าให้รั่วไหลเข้าไปสู่จิต, ป้องกันไม่มิดความชั่วรั่วไหลเข้าไปสู่จิตได้ ก็ควรใช้หลักที่สอง คือต้องละความชั่วนั้นให้หมดไป, ก้าวต่อไป ตั้งใจสร้างความดี, ข้อสุดท้าย ใช้วิธีรักษาความดีนั้นไม่ให้เสื่อมเสียไป การป้องกันคู่กับการแก้, การสร้างคู่กับการรักษา นี่คือหลักปรัชญา ที่จะนำนาวาชีวิตไปสู่ฝั่งแห่งความสวัสดี และมีความปลอดภัย โปรดนำไปใช้ในชีวิตประจำวันกันเถิด จะเกิดสิริมงคลส่งผลดีทั้งแก่ตนเอง และคนอื่นตลอดสังคมส่วนรวมประเทศชาติ   อันนาวา ชีวิต ของเรานั้น  ต้องช่วยกัน ผลักดัน อย่านิ่งเฉย  ต้องรีบพาย รีบแจว อย่าละเลย  ถ้าเพิกเฉย เรือจะล่ม จมกลางครัน   หากทุกคน หวังก้าวหน้า ในชีวิต  ก็ต้องวิด นาวา อย่าเหหัน  ให้ถึงฝั่ง จุดหมาย ได้ทันควัน  จุดหมายนั้น คือนาวา ต้องปลอดภัย   เมื่อทุกคน สนใจ ใช้ธรรมะ  แน่นอนละ ต้องถึงฝั่ง ดังมุ่งหมาย  เพราะธรรมะ ย่อมชนะ ภยันตราย  เราจะได้ ประสบสุข ทุกเมื่อแล

 

“ศิษย์ดีเพราะมีครู”

คำว่า “ศิษย์ดีเพราะมีครู” เป็นคำพูดที่มีเหตุผลอันน่าคิด แฝงไว้ซึ่งคติอันน่าเลื่อมใส เตือนใจของคนทุกคนให้สำนึกระลึกถึงพระคุณของครู เพื่อกันความประมาทลบหลู่บุญคุณของครู บรรดาศิษย์ทั้งหลายควรพากันจำไว้ให้ขึ้นใจ นึกไว้เสมอว่า “ศิษย์ดีเพราะมีครู” คำพูดประโยคนี้เป็นความจริงอันใคร ๆ จะลบล้างไม่ได้ แม้แต่คำสอนในทางพระพุทธศาสนาก็กล่าวไว้สอดคล้องต้องกันว่า ในบรรดามนุษย์ทั้งหลาย ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมดีแล้ว เป็นผู้ประเสริฐสุด มนุษย์ทุกคนต้องมีครูคอยแนะนำพร่ำสอนก่อนจะเป็นคนดีได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะกลายเป็นไอ้วอกในป่า ไม่มีค่าอะไรสมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ดังนั้น คนเราจะดีต้องมีครู  อันดับแรกควรจะได้ศึกษาในปัญหาเรื่องครูกันเสียก่อนแล้วจึงค่อยพูดกันในข้อที่ว่า “ศิษย์จะดีเพราะมีครู” กันต่อไป ทั้งนี้ก็เพราะปัญหาใหญ่อยู่ที่ครู บุคคลประเภทไหนที่เรียกกันว่า “ครู” นี่คือปัญหาที่ต้องคิดกัน คำว่า “ครู” ตามตัวหนังสือนิยมแปลกันว่า “บุคคลที่ควรเคารพบูชา” เพราะเหตุว่า บรรดามนุษย์ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีจิตใจสูง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องศึกษาวิชาความรู้ไว้สำหรับประดับตัวทุกคน ถ้าเกิดมาเป็นคนเหมือนเขา แต่ไม่ศึกษาเล่าเรียนอะไร หาวิชาศิลปศาสตร์อะไรแม้แต่อย่างเดียวก็ไม่ได้ ก็เป็นคนอาภัพอับวาสนาหาที่พึ่งไม่ได้เพราะวิชาความรู้นั้นเป็นทั้งอำนาจวาสนา เป็นทั้งเกียรติยศชื่อเสียง มหาเสน่ห์มหานิยม เพราะฉะนั้น คนเราทุกคนจึงต้องเรียนวิชาศิลปศาสตร์ไว้สำหรับประดับตัว บุคคลผู้ที่สอนวิชาศิลปศาสตร์ต่าง ๆ ให้นั่นแหละชื่อว่า “ครู” หรือ “อาจารย์” ครูอาจารย์มีหลายประเภทเรียกชื่อไปตามวิชาที่สอน สุดแท้แต่ว่าเป็นผู้สอนวิชาอะไร ก็เรียกชื่อไปตามวิชาที่สอนนั้น เช่น ครูศีลธรรม ครูวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ในสมัยโบราณคนนับถือครูอาจารย์ในฐานะที่ควรเคารพบูชารองลงมาจากมารดาบิดา แม้แต่ในปัจจุบันทุกวันนี้ ครูอาจารย์ที่ดีพร้อมทั้งวิชาและความประพฤติก็ได้รับความเคารพบูชาจากศิษย์อยู่เสมอ ถ้าหากครูไม่ได้รับความเคารพบูชาจากศิษย์เท่าที่ควรแล้ว ก็อาจเป็นได้ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ ครูเองประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับความเป็นครู แม้จะมีวิชาความรู้ดี แต่ขาดจรณะคือความประพฤติและศีลธรรมจรรยาอันดีงาม ทำให้ศิษย์เคารพไม่ค่อยสนิทใจ คือน้อมคำนับไม่ลง เพราะครูทำตัวเป็นเพียงคนสอนหนังสือ ไม่มีวิญญาณแห่งความเป็นครูอยู่ภายในจิตใจบ้างเลย นี้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง เป็นเพราะนิสัยอกตัญญูไม่รู้จักคุณของศิษย์เอง คนที่ “อกตัญญู” นั้น อย่าว่าแต่เพียงให้วิชาความรู้ไปประกอบอาชีพเลย แม้จะให้แผ่นดินทั้งหมดแก่เขา คน “อกตัญญู” ก็หารู้จักคุณไม่ บางทีกลับทำลายล้างผลาญครูอาจารย์ผู้ส่งเสริมตนเองเสียอีก หลักธรรมทางพระพุทธศาสนากล่าวตำหนิคน “อกตัญญู” ไว้อย่างน่าฟังว่า ไม้ลอยน้ำยังดีกว่าคนอกตัญญู คนอกตัญญูไม่มีประโยชน์อะไร ดังนี้ ครูที่ดีนั้นตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๗ ประการ คือ  ปิโย ครุ ภาวนีโย     วตฺตา จ วจนกฺขโม  คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา  โน  จาฎฺฐาเน  นิโยชเย.  ๑. ปิโย เป็นผู้น่ารักใคร่ประทับใจ  ๒. ครุ เป็นผู้น่าเคารพยำเกรง  ๓. ภาวนีโย เป็นผู้น่ายกย่องสรรเสริญ  ๔. วัตตา เป็นผู้สามารถสอนศิษย์ให้เป็นคนดีได้  ๕. วจนักขโม อดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของศิษย์ได้  ๖. คัมภีรัญจ กถัง กัตตา ทำเรื่องยากให้ง่ายอธิบายให้ศิษย์เข้าใจได้  ๗. โน จัฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักชวนศิษย์ไปในทางเสียหาย  ๑. ทำตนให้เป็นที่รักใคร่ประทับใจของศิษย์ ข้อนี้มิได้หมายความว่า ครูจะต้องทำตัวประจบศิษย์ แต่หมายถึงการวางตัวให้เหมาะสม ครูจะต้องประพฤติตนเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เป็นคนคุ้มดีคุ้มร้ายแสดงอาการขึ้น ๆ ลง ๆ พูดให้ตรงความหมายก็คือไม่เป็นอารมณ์ คือไม่พอใจกับใครที่ไหนก็พาลนำเอามาเป็นอารมณ์ในเวลาสอนศิษย์ อันผิดวิสัยของครูที่ดี ครูที่ดีต้องมีใจหนักแน่นในเหตุผล เป็นคนมีศีลดีมีธรรมงาม ตามคำสอนของศาสนา จึงจะได้ชื่อว่าเป็นที่รักใคร่ประทับใจของศิษย์ทั้งหลาย  ๒. เป็นผู้ที่น่าเคารพยำเกรงนั้นคือครูต้องเป็นผู้มีจิตใจหนักแน่นในธรรม ไม่ใช่เป็นผู้มีจิตใจเหลาะแหละโลเลพูดอย่างทำอย่าง และอย่าทำผิดสัญญากับลูกศิษย์บ่อยๆ ต้องตรงต่อเวลา สัญญาต้องเป็นสัญญา พูดจริงทำจริง ไม่เป็นคนเจ้าโทสะ ต้องรู้จักให้อภัยในความผิดพลาดของลูกศิษย์เสมอ ถือเสียว่าคนเราย่อมมีความผิดพลาดบกพร่องเป็นธรรมดา แต่ก็ต้องทำโทษบ้างในโอกาสและเหตุการณ์อันสมควร ถือสุภาษิตที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง” ต้องเป็นคนไม่มีอคติในใจ ถ้าทำได้เช่นนี้ ครูก็เป็นที่เคารพยำเกรงของศิษย์ เพราะมีจิตประกอบด้วยคุณธรรม  ๓. เป็นผู้น่ายกย่องสรรเสริญ ข้อนี้ครูต้องหมั่นแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยในการศึกษา หาความรู้มาเป็นอาภรณ์ประดับตน รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและสภาวะการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการซึ่งมีลักษณะรุดไปข้างหน้าเสมอ ครูจะต้องเป็นคนทันสมัย แต่ไม่ถึงกับล้ำสมัยมากเกินไป ทั้งในด้านความคิดเห็นและการแต่งกาย รวมความแล้ว ก็คือว่าครูจะต้องปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ หยุดไม่ได้ต้องเป็นผู้มีความรู้อย่างเชี่ยวชาญในวิชาการที่สอน และมีความรู้รอบตัวพอสมควร ประกอบด้วยมีจิตใจอันเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียงด้วยอคติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง และเพื่อให้ศิษย์มีความมั่นใจในคำสอนของครู ด้วยอาการอย่างนี้ ครูจึงต้องอ่านมาก ศึกษาค้นคว้ามาก จำหลักได้แม่นยำ จึงจะทำให้เกิดความยกย่องสรรเสริญในระหว่างศิษย์ทั้งหลาย  ๔. เป็นผู้สามารถสอนศิษย์ให้เป็นคนดีได้ ครูจะต้องหมั่นอบรมสั่งสอน และตักเตือนลูกศิษย์อย่างใกล้ชิดเสมอ ครูบางคนเกียจคร้านในการสอนมาก สอนเพียงเพื่อจะให้หมดเวลา แถมแส่หาเรื่องอื่นนอกวิชาที่สอนมาคุยให้ศิษย์ฟัง และเรื่องที่คุยนั้นก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรแก่ศิษย์ มีแต่เป็นพิษเป็นภัยแก่จิตใจของผู้ฟัง แต่มีข้อยกเว้นอยู่ว่า หากเรื่องที่คุยนั้นเป็นไปเพื่อทำให้ศิษย์มีวิริยะ อุตสาหะ มีความละอายบาป ตั้งใจละชั่วประพฤติดี การคุยนอกเรื่องวิชาที่สอนนั้น ก็ถือว่าเป็นการสอนดี เข้าใจวิธีอบรมศิษย์ให้เป็นคนดี ครูจะต้องเป็นคนคล่องแคล่วว่องไวเสมอ หากครูเป็นคนเฉื่อยชาเสียแล้ว ไหนเลยนักเรียนนักศึกษาจะมีความกระตือรือร้นในการเรียนการศึกษา  อนึ่ง ครูต้องหมั่นเอาใจใส่ตักเตือนศิษย์ในเรื่องความประพฤติ จรรยามารยาท ชี้แจงให้ศิษย์เห็นว่าอะไรควรอะไรไม่ควร อย่าถือว่าธุระไม่ใช่ ในระยะแรก ๆ เด็กอาจจะไม่ชอบในความจู้จี้จุกจิก แต่เมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่รู้จักผิดชอบชั่วดีแล้วนั่นแหละ เขาจึงจะระลึกถึงพระคุณของครูในภายหลัง ในการสอนนั้นครูต้องหวังผลในอนาคตมากกว่าในปัจจุบัน เหมือนชาวสวนรดน้ำต้นไม้ที่โคน แต่ย่อมหวังผลที่ปลาย แต่ก็ควรระวังอย่าเอาน้ำร้อนไปรดต้นไม้เข้า นอกจากจะไม่งามแล้ว ยังทำให้ต้นไม้ตายเสียอีก การสอนศิษย์ก็เหมือนกัน พยายามใช้ไม้นวมและใช้น้ำเย็นเข้าลูบให้มาก ถ้าอยากให้ศิษย์เป็นคนดี  ๕. เป็นผู้อดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของศิษย์ได้ ครูควรทำตนให้เป็นคนควรแก่การตักเตือนของคนอื่นบ้าง ไม่เพียงแต่สอนเขาข้างเดียว ให้เขาสอนเราบ้าง คือเมื่อตนเองทำอะไรผิดพลาดไป คนอื่นตักเตือนว่ากล่าวก็ควรรับฟังและควรรับฟังด้วยความชื่นใจเต็มอกเต็มใจ เพื่อความปลอดภัยในการดำรงชีวิตในสังคมของเรา เราควรทำตนให้เป็นคนว่าง่ายเตือนง่าย ทำตนให้เป็นคนว่ากล่าวตักเตือนได้ ทักท้วงได้ ไม่ใช่พอใครเตือนนิดก็ออกฤทธิ์เป็นฟืนเป็นไฟ บางครั้งแม้จะถูกลูกศิษย์ในชั้นวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ก็ต้องใช้ขันติความอดทน อดได้ทนได้ และหากจะมีการโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น ก็ต้องโต้ตอบด้วยจิตใจเป็นปกติปราศจากอารมณ์ขุ่นเคือง การทำตนให้เป็นคนควรแก่การเตือนได้นั้น เป็นความน่าเคารพนับถือ สำหรับครู และผู้ใหญ่โดยทั่วไป  ๖. ทำเรื่องยากให้ง่าย อธิบายให้ศิษย์เข้าใจได้ ครูต้องมีความสามารถอธิบายคำที่ยากให้ง่ายได้ คำที่ลึกให้ตื้นได้ ด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ เรื่องที่ยากแสนยากถ้าหากฉลาดในอุบายการสอนแล้วก็สามารถทำให้ง่ายได้ ดังนั้น ครูจึงต้องหมั่นคิดหมั่นฝึกฝน หมั่นค้นคว้าในวิชาการให้มาก เพื่อประกอบในการสอนให้ศิษย์เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ  ๗. ไม่ชักชวนลูกศิษย์ไปในทางเสียหาย ครูต้องไม่ชักชวนแนะนำศิษย์ในทางเสื่อมเสียต่าง ๆ เช่น ไม่ชักชวนในการดื่มน้ำดองของเมาเหล้าสุรา ยาเสพติดให้โทษ ไม่ชักชวนเล่นการพนัน ไม่ชักชวนเที่ยวกลางคืน ไม่ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น ไม่ชักชวนให้คบเพื่อนไม่ดี เป็นต้น การสอนของครูนั้นมีอยู่ ๒ วิธี คือ สอนโดยการแนะนำด้วยวาจาประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง คือการทำตัวอย่างให้ดู ประการหลังนี้มีความสำคัญมากกว่า เพราะตัวอย่างนั้นเป็นสิ่งประทับใจมากกว่าคำสอน ดังนั้น ครูต้องประพฤติแต่ในสิ่งที่ดีให้เด็ก-นักเรียนเห็น แล้วเด็กจะได้ถือเอาเป็นแบบอย่างโดยไม่ต้องชักชวน  ตามที่กล่าวมานี้ เป็นทัศนะทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับบุคคลผู้เป็นครูโดยเฉพาะเมื่อพิเคราะห์ดูคุณสมบัติของครูแต่ละข้อแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ท่านเลือกเฟ้นธรรมะแต่ละอย่างมาเป็นคุณสมบัติของครูได้เหมาะสมที่สุด และดีที่สุด บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติทั้ง ๗ ประการนี้แล้ว จึงได้นามว่า “ครู” หรือ “อาจารย์” ถ้าหากปราศจากคุณธรรมทั้ง ๗ ประการนี้แล้ว หรือแม้แต่ข้อใดข้อหนึ่ง หาชื่อว่าเป็นครู หรืออาจารย์ที่สมบูรณ์ไม่ จะเป็นได้ก็เพียงคนสอนหนังสือเด็กเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ครูที่ดีทั้งหลาย จึงควรปลูกฝังคุณธรรมดังกล่าวนี้ ให้เกิดให้มีภายในจิตใจ เพื่อจะได้เป็นแม่พิมพ์หรือแบบอย่างที่ดีของบรรดาศิษย์ต่อไป และเพื่อให้สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “ศิษย์ดี เพราะมีครู” เมื่อได้พูดถึงเรื่องปัญหาของครูมาพอสมควรแล้ว เราก็มาพิจารณาปัญหาเรื่องศิษย์กันต่อไป คำกล่าวที่ว่า “ครูดี ศิษย์ดี” หรือ “เมื่อครูดี ศรีของครูชูศิษย์ด้วย” นั้น เป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง แต่ว่า ก็ยังไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก ทั้งนี้ก็เพราะมีเหตุผลว่า ครูที่ดีนั้นก็ย่อมอบรมสั่งสอนได้เฉพาะศิษย์ผู้สมควรจะอบรมสั่งสอนได้เท่านั้น หากศิษย์ไม่อยู่ในฐานะที่จะอบรมสั่งสอนได้ เป็นศิษย์จำพวกนอกครู ครูก็หมดปัญญาที่จะอบรมสั่งสอนเหมือนกัน ตัวอย่างศิษย์อัปรีย์คิดล้างครู เช่นพระเทวทัต เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ศิษย์ที่รักความเจริญก้าวหน้าในชีวิต จึงควรคิดสร้างวิญญาณแห่งความเป็นศิษย์ที่ดีให้เกิดให้มีขึ้นในจิตใจของตน เพื่อให้สมกับว่าเราเป็นศิษย์ อย่าอวดดีตีตนเสมอครู ศิษย์ที่ดีนั้นตามทัศนะของพระพุทธศาสนา ต้องประกอบด้วยลักษณะ คือ  ๑. ให้ความเคารพต่อครูตามสมควรแก่โอกาสและกาลเทศะ อย่าแสดงตนเป็นคนเจ้าทิฎฐิมานะ ไม่มีสัมมาคารวะต่อครูเสียเลย และไม่ควรประพฤติตนเป็นคนประเภท “ลิงหลอกเจ้า” หรือ “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก”  ๒. เมื่อเห็นครูทำงานอยู่ ถ้าเรามีโอกาสพอจะคอยรับใช้ท่านตามโอกาสและเวลาอันสมควร ก็อย่าดูดายหรือเพิกเฉยแต่อย่าให้ถึงกับเป็นการประจบครู การที่เรามีโอกาสรับใช้ครูนั้น แสดงว่าเป็นคนมีแววแห่งความฉลาด สร้างความรัก ความเอ็นดูให้เกิดขึ้นในจิตใจของครู  ๓. ให้ประพฤติตนเป็นคนอ่อนน้อม รับฟังโอวาทของครูโดยความเคารพ ว่านอนสอนง่าย อย่าเป็นคนดื้อรั้น ดันทุรัง คิดเสียว่า เราจะดีเพราะมีครู ๔. ให้ปรนนิบัติครูอาจารย์ตามโอกาสเวลาอำนวย ให้ช่วยเหลือท่านในกิจการบางสิ่งบางอย่าง การปฏิบัติครูอาจารย์ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลอันสูง อย่าเห็นว่าธุระไม่ใช่  ๕. ขณะที่อยู่ในห้องเรียนหรือชั้นเรียน ครูท่านสอนวิชาอะไรให้ตั้งใจฟังตั้งใจเรียนโดยเคารพ อย่าทำสิ่งอื่นใดในขณะครูสอน เพราะนอกจากไม่เคารพครูผู้สอนแล้ว ตัวเองก็ไม่เข้าใจในวิชาที่ครูสอนนั้นด้วย การไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเรียนโดยเคารพนั้น ชื่อว่าสร้างความอาภัพให้แก่ตัวเอง เป็นอัปมงคลอย่างยิ่ง ดังนั้น ศิษย์ที่ดีทั้งหลายจึงควรพากันสังวรให้ดี  เมื่อครูอาจารย์และศิษย์ ต่างก็ตั้งอยู่ในคุณสมบัติของตนตามที่กล่าวมานี้ เรื่อง “ศิษย์ดีเพราะมีครู” ก็เห็นจะไม่มีผู้สงสัย เพราะความกระจ่างชัดอยู่แล้ว ข้อสำคัญขอให้ครูและศิษย์เป็นมิตรกันในทางธรรม ฝ่ายครูก็เป็นครูในอุดมคติ คือเป็นผู้นำทางจิตทางวิญญาณจริงๆ อย่าเป็นแต่เพียงคนสอนหนังสืออย่างเดียว ฝ่ายศิษย์ก็ให้เป็นศิษย์ “กตัญญู” รับรู้พระคุณของครูอาจารย์ เช่น ท่านพระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศด้วยปัญญา ท่านได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิแล้ว ภายหลังเมื่อท่านทราบว่า พระอัสสชิอยู่ทางทิศไหน ท่านก็ตั้งใจส่งกระแสจิตไปถวายความเคารพต่ออาจารย์โดยทางทิศนั้น ศิษย์ที่มีความหนักแน่นในการเคารพครูอาจารย์ ย่อมประสพแต่ความเกษมสำราญ ตลอดกาลเป็นนิตย์แล

พลังความคิด
จิตฺเตน  นียติ  โลโก         จิตฺเตน  ปริกสฺสติ
จิตฺตสฺส  เอกธมฺมสฺส      สพฺเพว  วสมนฺวคู.
ความคิดย่อมนำโลกไป    ความคิดทำให้โลกดิ้นรน
บุคคลทั้งหลายตกอยู่ในอำนาจของความคิดอย่างเดียวกันเท่านั้น
“อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด  อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา”  ความคิดมันมีอิทธิพล อาจจะดลบันดาลให้คนเราทำอะไรก็ได้  ตามอำนาจอิทธิพลของความคิดนั้น  ความคิดมันเป็นได้ทั้งมิตร เป็นได้ทั้งศัตรู เป็นได้ทั้งฝ่ายสร้าง เป็นได้ทั้งฝ่ายทำลาย  และเป็นอะไรได้อีกมากมายหลายประการ คือ มันเป็นเสมือนหนึ่งว่าดาบสองคม  ใช้ถูกใช้เป็นมันก็ให้คุณ  แต่ถ้าใช้ไม่เป็น ใช้ผิด มันก็ให้โทษ  เจ้าความคิดนี้มันก็เหมือนกัน  คิดดีก็เป็นศรีแก่ตัว  แต่ถ้าคิดชั่วก็พาตัวฉิบหาย  ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง  นี่คืออิทธิพลของความคิดในฝ่ายแห่งความชั่ว  ถ้าคนเราคิดชั่วมาก ๆ เข้า เจ้าความคิดชั่วนี้แหละ มันก็จะรบเร้าผลักดันให้คนเราพูดชั่วและทำชั่ว  ในทำนองเดียวกัน  ในฝ่ายแห่งความดี ถ้าคนเราคิดแต่เรื่องที่ดี ๆ  นาน ๆ เข้าก็จะเร้าให้คนเราพูดแต่เรื่องที่ดี ๆ และก็ประกอบกระทำแต่ความดี
สังคมใดที่มากไปด้วยคนคิดชั่ว  สังคมนั้นก็เต็มไปด้วยคนพูดชั่ว คนทำชั่ว  พฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย ทางวาจา ของคนคิดชั่ว  ก็มีแต่เรื่องเป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมนานัปการ  บ้านเมืองระส่ำระสายวุ่นวายไปทุกหย่อมหญ้า  สาเหตุสำคัญก็เกิดจากอิทธิพลของคนคิดชั่วนั้นเองเป็นผู้ก่อขึ้น  แต่ถ้าหากสังคมใดมากไปด้วยคนคิดดี  สังคมนั้นก็มีแต่คนพูดดี คนทำดี ทุกหนทุกแห่งแข่งกันประกอบคุณงามความดี  เป็นศรีทั้งแก่ตนและสังคมส่วนรวม ประเทศชาติ  ความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน   ก็เกิดขึ้นในสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน
เรื่องของความคิดนี้  มีคนเคยทูลถามพระพุทธเจ้าว่า
“อะไรนำโลกไป  อะไรทำให้โลกดิ้นรน?  บุคคลทั้งหลายตกอยู่ในอำนาจของอะไร?
พระพุทธองค์ทรงตอบว่า
“ความคิดนำโลกไป ความคิดทำโลกให้ดิ้นรน
บุคคลทั้งหลาย ตกอยู่ในอำนาจอิทธิพล
ของความคิดอย่างเดียวเท่านั้น”
อธิบายว่า คำว่า “โลก” ในที่นี้ หมายถึงโลกคือหมู่มนุษย์คือมนุษย์โลก  ไม่ได้หมายถึงโลกคือแผ่นดิน  โลกคือหมู่มนุษย์จะดำเนินไปในทางทิศไหน  ก็สุดแล้วแต่ความคิดของมนุษย์จะนำไป จะไปทางดีหรือทางชั่ว ทางสงบ  หรือทางวุ่นวาย ทางสงเคราะห์อนุเคราะห์ ทางเมตตากัน หรือทางเบียดเบียนกัน  ก็สุดแล้วแต่ผู้นำโลกคือ “ความคิด”  วิถีชีวิตขึ้นอยู่กับความคิดเป็นผู้นำทาง  ความคิดเป็นมัคคุเทศก์  เป็นเหตุให้คนเดินตามเหมือนคนนำเที่ยวอย่างนั่นแหละ สุดแล้วแต่ผู้นำ ผู้นำจะพาไปที่ไหน ก็ไปกันที่นั้น  ความคิดมันมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนเราเป็นอันมาก  ถ้าหากคนเราคิดเรื่องอะไรกันบ่อย ๆ ในที่สุดก็จะพูดและทำตามอิทธิพลของความคิดนั้น  ทั้งนี้ ก็เพราะพลังแห่งความคิดนั้นเองผลักดันให้เป็นไป  บุคคลมีกระแสความคิดพุ่งแรงไปในทางใด  วิถีชีวิตของเขาก็หันเหไปตามทางแห่งความคิดนั้น  นี่คือความหมายของคำว่า “ความคิดนำโลกไป”
ความคิดทำให้โลกดิ้นรน  โลกคือหมู่มนุษย์ดิ้นรน ก็เพราะจิตดิ้นรน หรือความคิดของคนนั้นเองดิ้นรน  คนเรากระเสือกกระสนดิ้นรนไปตามอำนาจความคิดของตน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส เช่น โลภะ คิดโลภอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตน  ทำให้บุคคลดิ้นรนไปในทางโลภมากอยากได้ไม่เลือกทาง  เอาทุกอย่างขอให้ได้มาสนองความอยาก คดโกง คอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง ปล้นสดมภ์ ตีชิง วิ่งราว กล่าวตู่ กรรโชค ฆ่าเจ้าเอาของ นี่คือลักษณะของความคิดที่เต็มไปด้วยความโลภ  ก็บังคับให้บุคคลกระเสือกกระสนดิ้นรนไปในทางทำความชั่วนานาประการ  แล้วแต่อำนาจของความโลภจะชักจูงไป  ความคิดที่เป็นไปด้วยอิทธิพลของโทสะ  ก็ทำให้บุคคลกระเสือกกระสนดิ้นรนไปในการเบียดเบียน  การฆ่าฟันรันแทง  ทำลายล้างผลาญซึ่งกันและกัน  ส่วนความคิดที่เป็นไปด้วยอำนาจอิทธิพลของโมหะ  ก็ทำให้บุคคลดิ้นรนไปในทางลุ่มหลงมัวเมา  ประมาทขาดสติ  ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ พูดในเรื่องที่ไม่ควรพูด นี่คือความหมายคำว่า “ความคิดทำให้โลกดิ้นรน”
บุคคลทั้งหลายตกอยู่ในอำนาจอิทธิพลของความคิดอย่างเดียวเท่านั้น  ข้อนี้ หมายความว่า ความคิดเป็นผู้ลิขิตชีวิตของคนทุกคน  คนเราจะชั่ว จะดี จะมี จะจน จะโง่ จะฉลาด จะเสื่อม จะเจริญ อะไร ก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจอิทธิพลของความคิดแต่อย่างเดียว  คำว่า “ความคิด” ในที่นี้ก็โปรดเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า หมายถึงเจตนาความตั้งใจ คือตั้งใจคิด  ไม่ใช่ความเพ้อฝัน ลม ๆ แล้ง ๆ เช่น คิดอยากเป็นเศรษฐีในทางลัด คิดอยากรับมรดก  แบบนี้มันเป็นความละเมอเพ้อฝันเท่านั้น  มนุษย์ทุกรูปทุกนามเป็นไปตามอำนาจอิทธิพลของความคิด คิดดีวิถีชีวิตก็ดำเนินไปด้วยความราบรื่น  ประสบกับความเจริญก้าวหน้าอันเป็นยอดปรารถนา  แต่ถ้าคิดไม่ดีวิถีชีวิตก็กระเสือกกระสนดิ้นรนไปตามอำนาจกิเลสตัณหา  พาให้ตกทุกข์ได้ยากลำบากเดือดร้อนนานัปการ  นี่คือความหมายของคำว่า “บุคคลทั้งหลายตกอยู่ในอำนาจของความคิดอย่างเดียวเท่านั้น”
เมื่อเราทุกคนทราบแล้วว่า ความคิดของคนเรามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต  และอนาคตของเรามากเช่นนี้  เราก็ควรจะสร้างแนวโน้มความคิดของเราให้ดี  วางแนวความคิดของเราให้ถูกต้องชอบธรรม หมายถึงความตั้งใจในทางที่ดีนั้นเอง  คือคนเราจะทำอะไรให้ได้ผลดี  สำเร็จประโยชน์แก่ตนและคนอื่น  เริ่มแรกก็จะต้องมีความตั้งใจดีเสียก่อน  พยายามสร้างกระแสจิตของเราให้พุ่งไปในทางที่ดี ในทางสุจริต ความตั้งใจในทางที่ดีนี้ เช่น ตั้งใจอยู่เสมอว่า เราจะต้องเป็นคนดี เป็นพระดี เป็นพ่อดี เป็นแม่ดี เป็นครูเป็นอาจารย์ดี เป็นหัวหน้าหมู่หัวหน้าคณะดี เป็นผู้ปกครองดี เป็นผู้นำ  เป็นอะไรก็ต้องเป็นให้ดี  ตั้งใจที่จะทำแต่ความดี เพราะความคิดของคนเราพุ่งไปในทางใด กระแสจิตน้อมไปในทางใด วิถีชีวิตของคนเราก็ย่อมดำเนินไปในทางนั้น  ตามที่กล่าวมานี้  พอจะมองเห็นได้แล้วว่า ความคิดมีความสำคัญเพียงไร  ด้วยเหตุนี้ คนเราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งความคิดไว้ในทางที่ดี ที่ถูกต้องและชอบธรรม
อีกอย่างหนึ่ง คนเราควรมีความคิดในการต่อสู้กับอุปสรรค ชีวิตทุกชีวิตย่อมต้องประสบกับอุปสรรคมากบ้าง น้อยบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง  ตามส่วนแห่งการงานที่กระทำลงไป  เข้าหลัก “ทำดีต้องมีมาร ทำงานต้องมีอุปสรรค” งานใหญ่ อุปสรรคก็ใหญ่  เหมือนเรือใหญ่ต้องคลื่นใหญ่ ฉะนั้น  คนที่จะต้องผ่านอุปสรรคไปได้นั้น  ต้องเป็นคนที่มีความคิดในทางต่อสู้ ในทางเผชิญหน้า ไม่ใช่คิดในทางหนี   ถ้าเราคิดสู้เราก็เอาชนะอุปสรรคได้  แต่ถ้าเราคิดหนี ก็พ่ายแพ้แก่อุปสรรคนั้น อุปสรรคมันก็เหมือนสุนัขดุ เมื่อเราเผชิญหน้ากับสุนัขดุ ถ้าเราวิ่งหนี สุนัขก็จะกระโดดเข้ากัดเราทันที  แต่ถ้าเราจ้องหน้าสู่กับมัน  มันก็จะถอยไม่กล้ากระโดดเข้ามากัด เพราะมันกลัวถูกโต้กลับ ในทำนองเดียวกัน  เมื่อเราพบกับอุปสรรค  ถ้าเราคิดหนี มันก็จะขยี้เราทันทีทันควัน  ถ้าเรากัดฟันฮึดสู้  มันก็หมดประตูที่จะสู้เราได้แล้วก็พ่ายแพ้ไปในที่สุด  มนุษย์ที่จะต่อสู้กับชีวิต ก็ต้องใช้พลังความคิด กำลังใจเป็นอันมาก เราจำเป็นจะต้องสร้างความคิดในการต่อสู้กับอุปสรรคนานาประการรอบด้านทีเดียว คนที่ประสบความสำเร็จมีความรุ่งโรจน์ในชีวิตนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นคนมีพลังความคิดอันเข้มแข็ง สามารถเอาชนะอุปสรรคทุกอย่างได้ ไม่มีปัญหา
ความสำคัญของความคิด เพื่อให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของความคิด ก็ขออ้างพุทธภาษิตที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา   มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฏฺเฐน       ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมนฺเวติ      จกฺกํว วหโต ปทํ.
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีความคิดเป็นประธาน, สำคัญที่ความคิด ย่อมสำเร็จได้ด้วยความคิด ถ้าคนคิดไม่ดี ย่อมพูดไม่ดี และทำไม่ดี หลังจากนั้น ความทุกข์ย่อมตามเขาไป เหมือนล้อเกวียนหมุนไปตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา     มโนเสฏฺฐา  มโนมยา
มนสา เจ ปสนฺเนน        ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ สุขมนฺเวติ          ฉายาว อนุปายินี.
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีความคิดเป็นประธาน สำคัญที่ความคิด สำเร็จได้ด้วยความคิด ถ้าคนคิดดี ย่อมพูดดี และทำดี หลังจากนั้น ความสุขย่อมตามเขาไป ดุจเงาตามตนไป ฉะนั้น
ตามความหมายของพุทธภาษิตนี้ ชี้ให้เห็นชัดว่า ความคิดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งมีอำนาจอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนเรา เปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลก เมื่อความคิดเปลี่ยนไป การดำเนินชีวิตของคนเราก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย การเปลี่ยนไปแห่งการดำเนินชีวิตของคนเรา ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อสังคมเปลี่ยนไป โลกก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย เพราะสังคมแต่ละสังคมประกอบกันขึ้นเป็น “โลกมนุษย์” เมื่อมนุษย์ในโลกมีแนวความคิดมุ่งไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุเป็นจุดหมายปลายทางของชีวิต พวกเขาก็ย่อมพากันมุ่งแสวงหาวัตถุเป็นจุดสำคัญ สาละวนวุ่นวายขวนขวายแต่ในเรื่องวัตถุ แต่ถ้าแนวความคิดของคนในโลกมุ่งไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางจิตใจเป็นสำคัญ แข่งขันกันพัฒนาจิตใจว่าใครจะมีจิตใจสูงด้วยคุณธรรมกว่ากัน คนที่จะได้รับการยกย่องนับถือมากที่สุด คือคนที่มีจิตใจสูงที่สุดด้วยคุณธรรม
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ คนเราทุกคนจึงควรหาอุบายฝึกจิตใจของตนให้คิดไปแต่ในทางชอบธรรม อย่าปล่อยจิตให้คิดอะไรไปตามอารมณ์ชักจูง เดี๋ยวจะยุ่งกันใหญ่
ปล่อยให้ยุ่ง แล้วมันแย่ แก้มันยาก
ยิ่งยุ่งมาก มันยิ่งแย่ แก้ไม่ไหว
อย่าปล่อยยุ่ง นานนัก จะหนักใจ
ยิ่งนานไป ยิ่งยุ่งมาก ลำบากครัน
อุบายสำหรับฝึกจิตให้คิดแต่ในที่ดีที่ชอบนั้น ก็ได้แก่การฝึกจิตตามแบบสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน นั้นเอง  ในยุคก่อนนิยมฝึกโดยใช้อนุสสติ ๑๐ ประการเป็นอารมณ์ คือ
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระพุทธ
๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงพระธรรม
๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงพระสงฆ์
๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน
๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว
๖. เทวตานุสสติ ระลึกถึงเทวดา (เทวธรรม)
๗. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงความสงบ (นิพพาน)
๘. มรณัสสติ ระลึกถึงความตาย
๙. กายคตาสติ ระลึกถึงกายของตน-คนอื่น-ไม่สวย-ไม่งาม
๑๐. อานาปานัสสติ ระลึกถึงลมหายใจเข้า-ออก
การฝึกจิตตามแบบอนุสสติ ๑๐ ประการนี้ เป็นวิธีสร้างแนวโน้มให้จิตคิดแต่ในทางที่ดีมีคุณค่า ส่งเสริมให้จิตสูงขึ้นด้วยคุณธรรม การไหว้พระ สวดมนต์ สาธยายธรรม ทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น ทุกวันมิได้ขาด ก็สามารถอบรมจิตให้คิดอยู่แต่ในทางที่เป็นบุญกุศล ส่งผลให้เกิดความคิดชอบ อันเป็นองค์ประกอบของอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ “สัมมาสังกัปปะ” ความดำริชอบ อันเป็นองค์ประกอบของอริยะมรรคมีองค์ ๘ ในหมวดของปัญญา (สัมมาทิฏฐิ-สัมมาสังกัปโป)
การฝึกจิตโดยใช้ คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ ในสังคมชาวพุทธทั้งหลายดูจะใช้กันมากที่สุด และก็ปรากฏว่าได้ผลดีที่สุดด้วย เพราะชาวพุทธทั้งหลายมีความเคารพศรัทธา เลื่อมใสในคุณพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่แล้ว เมื่อน้อมจิตให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย จิตใจก็จะแนบสนิทสถิตใกล้ชิดกับคุณพระตลอดเวลา คุณพระมีลักษณะเป็นความสงบ ความสะอาด และความสว่าง การระลึกถึงคุณพระบ่อย ๆ สม่ำเสมอ ตลอดเวลา ทุกเช้า ทุกเย็น ไม่เว้นแต่ละวัน นาน ๆ เข้าจิตใจของเราก็จะเกิดความสงบ ความสะอาด และความสว่าง อันเป็นแนวทางสร้างจิตให้คิดอยู่แต่ในที่ดี ที่ถูกต้องชอบธรรม
วิธีปฏิบัติ ในการฝึกจิตตามแบบ พุทธานุสสติ รำลึกถึงพระคุณของพระพุทธ, ธัมมานุสสติ รำลึกถึงพระคุณของพระธรรม, สังฆานุสสติ รำลึกถึงพระคุณของพระสงฆ์นั้น ก่อนนอนทุกคืน ถ้าที่บ้านมีห้องพระ มีหิ้งพระก็ให้เข้าไปในห้องพระ กราบพระเสียก่อน ๓ ครั้ง แล้วกล่าวคำนมัสการพระรัตนตรัยว่า
อะระหัง  สัมมาสัมพุทโธ  ภะคะวา,  พุทธัง        ภะคะวันตัง  อะภิวาเทมิ (กราบลง)
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบลง)
สุปะฏิปันโน  ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ (กราบลง)
ถ้ากล่าวคำไหว้พระไม่ได้ เพียงแต่กราบพระด้วยความเคารพ ๓ ครั้งก็พอ ขอให้ทำด้วยความเคารพและตั้งใจ แล้วให้นั่งอยู่ในท่าอันสงบ จะนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิก็ได้ ถ้าจำเป็นจริง ๆ นั่งบนเก้าอี้ก็ได้ แล้วให้สำรวมกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในอาการแห่งความสงบ จากนั้นก็ให้ค่อย ๆ หลับตา ภาวนาในใจว่า “พุทโธ, ธัมโม, สังโฆ” เรื่อยไป ซ้ำๆ บ่อยๆ อยู่อย่างนั้นแหละ ติดต่อกันอย่าขาดสาย เริ่มต้นใหม่ ๆ อาจจะใช้เวลาสัก ๑๐ นาที ๒๐ นาทีก็พอ แต่ถ้าสามารถทำได้นานก็ยิ่งดี แต่อย่าให้เกินประมาณสติกำลัง เพราะความรู้จักประมาณยังประโยชน์ให้สำเร็จ เมื่อทำการฝึกจิตพอสมควรแก่เวลาแล้วจึงค่อยนอน พยายามฝึกอยู่อย่างนี้สม่ำเสมออย่าให้ขาด ก็สามารถฝึกจิตให้สงบได้ หลังจากตื่นนอน เมื่อทำ สรีระกิจเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เข้าห้องพระแล้ว กราบพระ ๓ ครั้ง แล้วนั่งฝึกจิตดังที่กล่าวมานั้นต่อไป ทำพอสมควรแล้วจึงค่อยไปทำกิจอย่างอื่น ก่อนนอน หลังตื่นนอน ถ้าฝึกหัดทำอย่างนี้สม่ำเสมอ ไม่นานนักก็จักสามารถทำกันได้ นี่คืออุบายวิธีสร้างจิตให้คิดไปแต่ในทางที่ดี ที่ชอบ
พลังความคิดมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนเรามาก ดังนั้นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนเน้นหนักในหลักแห่งการฝึกจิต เพราะคนเราสำคัญที่จิต จิตเป็นผู้สั่ง เป็นผู้บงการ จิตเป็นประธาน เป็นหัวหน้า จิตเหมือนนาย กาย วาจา เหมือนบ่าว (คนใช้) การที่เราฝึกจิตตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นเหตุทำให้จิตใจคิดไปแต่ในทางที่ดี ที่ชอบ ประกอบด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ
เนกขัมมวิตก คิดไปในทางหลีกออกจากกาม
อัพยาปาทวิตก คิดไปในทางไม่พยาบาท
อวิหิงสาวิตก คิดไปในทางไม่เบียดเบียน
การคิดในการออกจากกามนั้น หมายความว่า พยายามอย่าให้จิตใจของเรา มัวเมาลุ่มหลงอยู่แต่ในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส รูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล อันเป็นบ่วงแห่งมาร มันคอยล้างผลาญคุณงามความดีของเราตลอดเวลา พยายามคิดในการดึงจิตให้ออกห่างจากกามคุณทั้ง ๕ นั้นเสีย แล้วจิตใจจะได้ปลอดโปร่งเบาสบาย กลายเป็นจิตอิสระ
การไม่คิดพยาบาทอาฆาตจองเวรแก่คนอื่นและสัตว์อื่นนั้น เป็นหลักสำคัญในอันที่จะสร้างสันติสุขให้เกิดแก่ตนเองและคนอื่นที่อยู่ร่วมกัน มีเรื่องอะไรกระทบกระทั่งต่อกัน ก็ควรอภัยยกโทษไม่โกรธเคืองซึ่งกันและกัน ให้มีเมตตา รักใคร่กัน เมื่อใดจิตใจของเรามีเมตตา จะบ่ายหน้าไปทางทิศไหน ก็เจอแต่ไมตรีมิตรภาพ ด้วยเหตุนี้ คนเราทุกคนจึงควรดำริแต่ในการไม่พยาบาทจองเวรกัน
“อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก” ความไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก การคิดในการไม่เบียดเบียน ก็คืออย่าคิดเบียดเบียนคนอื่นและสัตว์อื่น ให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น ยิงนก ตกปลา กัดปลา ชนไก่ ทำไปด้วยความคะนอง ต้องการความสนุกสนานเพลิดเพลินของตน โดยไม่คำนึงนึกถึงความทุกข์ความเดือดร้อนของคนอื่นและสัตว์อื่น นี่คือการเบียดเบียน ส่วนการคิดไม่เบียดเบียนนั้น ก็คือการคิดในทางให้เกิดกรุณา ความสงสารต้องการช่วยเหลือคนอื่นและสัตว์อื่น ให้พ้นจากความทุกข์ และให้เกิดมุทิตา พลอยดีใจในเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี และพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนแล้ว นี่คือแนวทางสร้างความคิดให้น้อมไปในทางที่ชอบที่ดี ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา โปรดพากันนำไปใช้ในชีวิตประจำวันกันเถิด จะเกิดสิริมงคล ส่งผลดีทั้งแก่ตนเอง และสังคมส่วนรวม ตลอดสังคมโลก เป็นนิจนิรันดร

ดี เพื่อ  ดี

ทานญฺจ  เปยฺยวชฺชญฺจ            อตฺถจริยา จ  ยา อิธ

สมานตฺตตา จ  ธมฺเมสุ         ตตฺถ  ตตฺถ  ยถารหํ

เอเต  โข  สงฺคหา   โลเก         รถสฺสาณีว  ยายโต.

แบ่งให้เพื่อเจือจาน, กล่าวขานคำไพเราะเสนาะโสต  ประพฤติประโยชน์แก่ตนและสังคม,วางตัวให้เหมาะสมกับฐานะ  ธรรมะทั้ง ๔ ข้อนี้  ยึดเหนียวจิตใจของคนในสังคมให้กลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ถ้าทำดี

เพื่อดีนั้นดีแน่

ทำดี แต่ทำเพื่อกูดูเฉงโฉง

กลายเป็นเรื่องฉ้อฉลของคนโกง

ทำลายตนสุดโต่งดูให้ดี

ทำเช่นนั้นมันยิ่งเห็นแก่ตัว

ได้เปรียบฝ่ายความชั่วคือฝ่ายผี

ข้างฝ่ายถูกเสียเปรียบลงทุกที

ไม่กี่ปีลืมตัวไม่กลัวเลว

จึงทำดีเพื่อดีสุดดีเถิด

เกียรติจะเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่เหลว

มันยิ่งดีโดยนิสัยได้โดยเร็ว

พ้นจากเหวแห่งบาปลาภมาเอง  (พุทธทาสภิกฺขุ)   

รื่องรีบด่วน

  ที่คนเราทุกคนผู้หวังอยู่ซึ่งความสุขความเจริญก้าวหน้า  และความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน นั่นก็คือเรื่อง ความดี  เรื่องความดีนี้แหละที่คนทุกคนควรรีบทำควรพยายามประกอบไว้ในตน  เพราะถ้าเราทำความดีช้า ๆ อยู่  จิตใจของเราก็จะน้อมไปในความชั่ว  ความชั่วเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะทำจิตใจของเราให้เศร้าหมอง ดังนั้น  ความชั่วจึงไม่ทำเสียเลยนั่นแหละดี   ความดีรีบทำในขณะนี้และเดี๋ยวนี้  อย่ามัวผัดวันประกันเวลาในการทำความดี  การทำความดีนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับทุกคนควรสนใจและเอาใจใส่  ไม่ควรเพิกเฉยละเลยในการทำความดี  เมื่อทำความดีก็ควรทำความดีบ่อย ๆ ทำสม่ำเสมอ ทำไม่ขาดสาย แล้วก็ให้ทำความพอใจในการทำความดีนั้น  ประดังประพันธ์พุทธภาษิตว่า

ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา  กยิราเถนํ  ปุนปฺปุนํ

ตมฺหิ  ฉนฺทํ   กยิราถ      สุโข  ปุญฺญสฺส  อุจฺจโย.

ถ้าบุรุษจะทำบุญ  ก็ให้ทำบุญนั้นบ่อย ๆ ให้ทำความพอใจในบุญนั้น  เพราะการทำบุญนำสุขมาให้

ในเรื่องการทำบุญหรือทำความดีนั้น  หลักธรรมในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงสอนให้ทำบุญ ให้ทำความดีนั้นบ่อย ๆ  ทำความดีสม่ำเสมอ ทำให้ต่อเนื่องอย่าให้ขาดสาย แล้วก็ย้ำให้ทำความพอใจในการทำความดีนั้น  ไม่ใช่ทำสักแต่ว่าทำ ต้องทำด้วยความพอใจ ทำด้วยความเต็มใจ เพื่อให้การทำความดีนั้นบรรลุผล ดังนั้น จึงขอให้ยึดหลักนี้ในการทำความดี คือทำความดีเพื่อดี ทำความดีสม่ำเสมอ ทำความดีต่อเนื่อง ทำความดีไม่ขาดสาย ผลสุดท้ายก็จะได้รับผลของการทำความดี  นั่นคือความสุข

ได้เกริ่นถึงเรื่องการทำความดีมาพอเป็นตัวอย่างโดยย่อแล้ว  ต่อไปก็ขอเข้าสู่ประเด็น ดี เพื่อ ดีเพื่อศึกษาหาความรู้ในมุมมองของการทำความดี คือการทำดีนี้ อาจจะมีมุมมองของคนบางพวก บางเหล่าแตกต่างกันบ้าง ตรงกันบ้าง เหมือนกันบ้าง  แล้วในที่สุดก็จะได้ข้อยุติว่า มุมมองของใครที่ถูกต้อง มีเหตุผล ทำให้ทุกคนเห็นเป็นมุมมองเดียวกัน  เพื่อให้การทำดีได้รับการยอมรับของคนในสังคม เป็นไปในทางที่ถูกต้องชอบธรรม จึงได้นำมาตั้งเป็นคำถามว่า ทำดี เพื่ออะไร?

ทำไมจึงตั้งคำถามเช่นนี้ เพราะในหัวข้อ ดี เพื่อ ดี”  ก็บ่งบอกให้รู้อยู่แล้วว่า ทำดีเพื่อดี    ไม่ใช่ทำดีเพื่ออย่างอื่นหรือมีเหตุผลอะไรที่จะนำมาอธิบายในประเด็นนี้หรือไม่ การที่ตั้งคำถามเช่นนี้  ก็เนื่องมาจากมีคนบางพวกบางเหล่าที่เข้าใจไม่ตรงกับจุดประสงค์หรือความมุ่งหมายของการทำความดี  แล้วก็พากันทำความดี  ตามความคิดความเห็นและจุดมุ่งหมายของตนเป็นที่ตั้ง  หวังให้ได้รับผลตามที่ตนตั้งใจ ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้แหละ  จึงตั้งคำถามว่า ทำดี เพื่ออะไร

ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นคำถามนี้  เราก็มาพูดถึงเรื่องของการทำดีกันเสียก่อน  ทำดีนั้นคือทำอะไร ทำอย่างไรจึงได้ชื่อว่า ทำดีการทำดีนั้นมีหลายอย่าง มีหลายประเภท มีหลายวิธีหรือไม่! เรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันอีกเรื่องหนึ่งก็คือ คำว่า ดีดีนี้ หมายถึงอะไร อะไรคือดี ดีคืออะไร ดีในพจนานุกรมภาษาไทยให้ความหมายไว้ว่า ดี คือสิ่งเป็นไปในลักษณะที่ต้องการ, ที่น่าปรารถนา ที่น่าพอใจ ที่น่าชอบใจ นี่คือความหมายของคำว่า ดีเมื่อรู้ความหมายของคำว่า ดี กันแล้วว่า หมายถึงสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่น่าปรารถนา ที่น่าพอใจ และสิ่งที่น่าต้องการ ที่น่าปรารถนา ที่น่าพอใจนั้น ก็ต้องมีเหตุผลถูกต้องชอบธรรมด้วย จึงจะจัดเป็นการทำดีเพื่อดี  ทำดีเพื่อความดี

แต่เนื่องจากคนเราส่วนใหญ่ยังมีจิตใจเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา เวลาทำดีจึงมักจะทำตามความปรารถนา ตามความต้องการ และตามความพอใจของตน เช่นทำดีเพื่อให้ได้ขึ้นเงินเดือน ให้ได้เลื่อนตำแหน่ง ให้ร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี และอะไรอีกมากมาย  กลายเป็นการทำดีเพื่อความเห็นแก่ตัว บางคนทำดีเพื่อให้ได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เป็นเทพธิดาบนเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ ดังนี้ก็มี  และบางคนทำดีเพื่อให้หายทุกข์ หายโศก หายโรคหายภัย ปราศจากอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ดังนี้ก็มี  แทนที่จะทำดีเพื่อดี หรือทำความดีเพื่อความดี  ก็เพี้ยนไปเป็นทำดีเพื่ออย่างอื่นไป  และก็ยังมีคนอีกบางพวกบางเหล่าพวกเขาพูดกันแบบปฏิเสธผลการทำดีเลยก็มี เช่นพูดกันว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไปการพูดในลักษณะเช่นนี้ จะพูดด้วยการคะนองปาก หรือด้วยเจตนาในการปฎิเสธผลการทำดีอะไรก็ตาม  ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีคนบางพวกบางเหล่าเข้าใจการทำดีไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายในการทำดีที่แท้จริง ดังนั้น จึงได้ตั้งคำถามวา ทำดีเพื่ออะไรเพื่อจะได้วินิจฉัยให้การทำดีถูกต้องด้วยเหตุผล และความชอบธรรมกันต่อไป

ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นทำดี เพื่ออะไรเราก็มาทำความเข้าใจกันในเรื่องของการทำดีหรือวิธีกันเสียก่อน คำว่า ทำดีนั้นมีความหมายกว้าง ยากที่จะเข้าใจกันได้สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีการศึกษาน้อย ดังนั้น  เพื่อให้เข้าใจในการทำดีง่ายขึ้น  จึงขอเอาเรื่องของการทำดี หรือวิธีของการทำดีมาเสนอท่านทั้งหลายเพื่อศึกษาหาความรู้ความเข้าใจในประเด็นนี้กันต่อไป

วิธีทำดีด้วยการประพฤติสุจริต ๓ คือ ประพฤติชอบด้วยกาย เว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ เว้นจากการลักทรัพย์ ๑ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม (เรื่องคู่ครอง)

ประพฤติชอบด้วยวาจา เว้นจากพูดเท็จ ๑ เว้นจากพูดส่อเสียด ๑ เว้นจากพูดคำหยาบ ๑ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ ๑ 

ประพฤติชอบด้วยใจ ไม่โลภอยากได้ของเขา ๑ ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ๑  เห็นชอบตามคลองธรรม ๑    การประพฤติสุจริตทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นการทำดีอย่างหนึ่ง  ซึ่งทุกคนควรเอาใจใส่ และตั้งใจทำ  

วิธีทำดีอย่างหนึ่งเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุวิธีทำบุญ ๑๐ ข้อ

. ทานมัยบุญสำเร็จด้วยการให้ทาน

. สีลมัยบุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

. ภาวนามัยบุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา

. อปจายนมัยบุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่

. เวยยาวัจจมัยบุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวาย ในกิจที่ชอบ

. ปัตติทานมัยบุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ

. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา

. ธัมมัสสวนมัยบุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม

. ธัมมเทสนามัยบุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์การทำความเห็นให้ตรง

บุญกิริยาวัตถุ วิธีทำบุญ ๑๐ ประการนี้  ก็จัดเป็นการทำดีเช่นเดียวกัน  เพื่อให้เข้าใจในเรื่อง ทำดีเพื่ออะไรก็ขอนำเอาการทำดีตามบุญกิริยาวัตถุมาอธิบายต่อไป

ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน การให้ทานเป็นการทำดีอย่างหนึ่ง  จะเป็นการให้อาหาร ให้เครื่องนุ่งห่ม ให้ที่อยู่อาศัย ให้ยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ และให้อะไรก็ตาม  ก็เป็นการทำดีทั้งนั้น  ประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจต่อไป  ก็คือให้ทานเพื่ออะไร ? ทำดีด้วยการให้ทานเพื่ออะไรในประเด็นของการทำดีด้วยการให้ทานนี้แหละ  เราจะเห็นมุมมองของคนที่แตกต่างกัน  ซึ่งไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของการทำดีด้วยการให้ทานที่แท้จริง  เช่น บางคนให้ทานเพื่อต้องการเป็นคนร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติ เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เกิดมาในชาติใด  ก็ขออย่าให้เป็นคนยากจนขัดสนด้วยทรัพย์สินเงินทอง  ต้องการอะไรก็ขอให้ได้ดังประสงค์  บางคนก็ให้ทานต้องการให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ให้ได้ทุกสิ่งที่ต้องการ

การทำดีด้วยการให้ทาน  แต่อยากให้เกิดผลตามที่ตนต้องการ  ดังที่กล่าวมาโดยย่อพอเป็นตัวอย่างนี้  ชี้ให้เห็นว่าเป็นการทำดีที่ไม่ตรงกับจุดประสงค์ของการทำดี เพราะการทำดีนั้นมีจุดประสงค์ คือ ทำดี เพื่อดีหมายความว่า การทำดีเพื่อความดี ทำดีเพื่อให้เกิดคุณธรรมความดีในจิตใจของผู้ทำดี คือคนทำดีย่อมได้รับคุณธรรมความดีเป็นสิ่งตอบแทนจึงได้ชื่อว่า ทำดีเพื่อดี  ไม่ใช่ทำดีเพื่อให้ได้สิ่งอื่นเป็นสิ่งตอบแทน  ถ้าทำดีแล้วต้องการสิ่งอื่นตามที่ตนต้องการ  ก็ไม่ใช่เป็นการทำดีเพื่อดี  กลายเป็นการทำดีเพื่อความเห็นแก่ตัวไป  แทนที่จะได้รับคุณธรรมความดี  เป็นสมบัติของจิตใจ  กลับไปเพิ่มกิเลส ความโลภ ความเห็นแก่ตัวให้มากขึ้น  เพราะการทำดีด้วยการให้ทานนั้น  ต้องการละความโลภ ความเห็นแก่ตัวให้ลดลง ให้บรรเทาเบาบางให้จางหายไปในที่สุด  นี่คือจุดประสงค์ของการทำดีด้วยการให้ทาน  ถ้าทำได้เช่นนี้  นี่แหละคือการ ทำดี เพื่อดีเอาชนะความตระหนี่ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ด้วยการให้ทาน จุดประสงค์ของการทำดีด้วยการให้ทาน  ต้องการเอาชนะความตระหนี่  ตามหลักว่า ชิเน กทริยํ ทาเนนชนะความตระหนี่ด้วยการให้ทาน พากันจำไว้ให้ขึ้นใจว่า การทำดีด้วยการให้ทานนั้น  จุดประสงค์ที่แท้จริงคือ กำจัดความตระหนี่ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ให้หมดไปจากจิตใจ อย่าให้เหลือไว้แม้แต่น้อยนิดเพราะเป็นพิษเป็นภัย  ทำลายจิตใจให้เสื่อมจากคุณภาพขาดจากคุณธรรม  ขอเชิญชวนมวลประชาพากันทำดีเพื่อความดีกันเถิด  จะเกิดสิริมงคลส่งผลให้มีแต่ความสงบสุข  ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ

จงทำดีเพื่อความดีกันเถิด อย่าทำดีเพื่อความเห็นแก่ตัว  ถ้าทำดีเพื่อความดีแล้ว ลาภผลต่าง ๆ ที่ต้องการนั้น  ก็จะเกิดตามมาเองเป็นเงาตามตัว  ซึ่งไม่จำเป็นต้องตั้งความหวังอะไร  เพราะมันเป็นผลพลอยได้จากการทำดีเพื่อดีนั้นเอง หว่านพืชอะไรลงไป  ก็ได้รับผลตามที่หว่านลงไปนั้นอย่างแน่นอนไม่ต้องสงสัย  ได้พูดถึงการทำดีด้วยการให้ทานมาโดยย่อพอสมควรแล้ว  ประเด็นต่อไป  ก็ขอนำเอาการทำดีด้วยการรักษาศีลเพื่อการศึกษาหาความรู้ต่อไป

สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล  การรักษาศีลเป็นการทำดีอีกอย่างหนึ่ง  การรักษาศีลนั้นคือทำอย่างไร ? การรักษาศีลนั้นก็ได้แก่การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย พฤติกรรมทางกายไม่เป็นโทษแก่ใคร ๆ  พฤติกรรมทางวาจาไม่เป็นภัยแก่คนอื่น  พฤติกรรมทางกายที่แสดงออกมา  ก็เว้นจากการฆ่าสัตว์ ให้เคารพชีวิตของคนอื่นและสัตว์อื่น  เพราะชีวิตย่อมเป็นที่รักที่หวงแหนของสัตว์ทั้งหลาย  ชีวิตใคร ๆ ก็รัก  ชีวิตเป็นที่รักที่หวงแหนของสัตว์ทั้งหลาย  แล้วอย่าทำลายชีวิตของกันและกัน  ชีวิตเขา ๆ ก็รัก  ชีวิตเรา ๆ ก็รัก  เมื่อทุกคนต่างก็รักชีวิตของตน เพราะว่าความรักอื่นเสมอด้วยความรักตนไม่มี

เพื่อให้การทำดีด้วยการรักษาศีล  เข้าใจกันได้ง่าย ๆ ก็ขอยกเอาศีล ๕ มาเป็นหัวข้อในการอธิบายประกอบดังนี้

ปาณาติปาตา  เวรมณี   เว้นจากการฆ่าสัตว์

อทินนาทานา  เวรมณี  เว้นจากการลักทรัพย์

กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม

มุสาวาทา  เวรมณี   เว้นจากการพูดเท็จ

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา  เวรมณี  เว้นจากการดื่มน้ำเมาสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ขาดสติ

ความจริง ศีล ๕ ข้อนี้ เป็นกฎของสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันมีมานานแล้ว  พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า เป็นกฎที่มีเหตุผลเพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุขได้  จึงทรงรับไว้เป็นส่วนหนึ่ง เรียกว่า ศีล ๕ เรียกว่า ปัญจศีล มี ๕ ข้อด้วยกันดังที่กล่าวข้างต้นนั้น กฎทั้ง ๕ ข้อนี้  เป็นกฎที่วางไว้เพื่อให้ทุกคนในสังคมต้องเคารพในสิทธิของกันและกัน ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษอ้างเอาเป็นเหตุไปละเมิดสิทธิของคนอื่น  ถ้าทุกคนในสังคมปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อกฎทั้ง ๕ ข้อนี้  ปัญหาต่าง ๆ ในทางสังคมก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้  เพราะต่างคนต่างก็เคารพในสิทธิของกันและกัน  เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษาหาความเข้าใจ  ในเรื่องการทำดีด้วยการปฏิบัติตามกฎของสังคม ๕ ข้อ (ศีลห้า) ก็ขอนำเอากฎทั้ง ๕ ข้อมาอธิบายประกอบเป็นข้อ ๆ ดังนี้

กฎข้อที่ ๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์ (ปาณาติปาตา เวรมณี)  กฎข้อนี้ต้องการให้ทุกคนในสังคมเคารพในชีวิตของบรรดาสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย อย่าฆ่า อย่าทำลาย อย่าเบียดเบียนชีวิตของสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน  ไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ หรือโดยวิธีใด ๆ ทั้งนั้น ให้ยึดหลักว่า ชีวิตเป็นที่รักที่หวงแหนของสัตว์ทั้งหลาย  แล้วอย่าทำลายชีวิตของกันและกัน  นั่นคือจุดหมายที่แท้จริงของการปฏิบัติตามกฎข้อที่หนึ่ง  ดังนั้น การทำดีด้วยการรักษาศีลหรือกฎข้อที่หนึ่ง ไม่ใช่จุดประสงค์อย่างอื่น  เช่น ปรารถนาให้มีอายุยืนปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีร่างกายแข็งแรง เป็นต้น  แต่ทำความดีเพื่อความดี และความดีที่จะได้รับในการทำดีด้วยการปฏิบัติตามกฎข้อที่หนึ่งนี้ ก็คือ เมตตาความรักใคร่ปรารถนาให้คนอื่นและสัตว์อื่นมีความสุข  นี่คือผลที่ได้รับจากการทำดี ด้วยการปฏิบัติตามกฎข้อที่หนึ่งโดยตรง  ส่วนการมีอายุยืน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บนั้น  นั่นเป็นผลพลอยได้อันเกิดจากการ ทำดีเพื่อความดี  เราไม่จำเป็นต้องตั้งความปรารถนา มุ่งหวังอะไร  แต่มันจะเกิดขึ้นตามกฎธรรมชาติของการทำดีเพื่อความดี  ไม่มีอำนาจอะไรจะสะกัดกั้นได้  จึงขอให้ทุกคนทำดีเพื่อความดีกันเถิด  จะเกิดสิริมงคลส่งผลให้มีความสงบสุข และปลอดภัยในชีวิต

กฎข้อที่สอง(อทินนาทานา เวรมณี)เว้นจากการลักทรัพย์ การทำดีด้วยการเว้นจากการลักทรัพย์นี้  ต้องการให้ทุกคนเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของคนอื่น   ทรัพย์สมบัติของใคร ๆ ก็รักก็หวงแหน  ไม่ต้องการให้ใครมาล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตน  คนที่ล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินคนอื่นนั้น  ผิดกฎสังคมข้อที่สอง (อทินนาทาน) การถือเอาของคนอื่นด้วยอาการแห่งขโมย(ลักทรัพย์) ได้ทรัพย์มาเลี้ยงชีวิต  ก็เป็นการเลี้ยงชีวิตในทางที่ไม่ชอบ (มิจฉาอาชีวะ) ส่วนคนที่ทำดี  ด้วยการเว้นจากการลักทรัพย์  ผลที่เขาได้รับคือความดี ความดีในที่นี้ คือ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ  เขาได้ความดีคือสัมมาอาชีวะเป็นสมบัติของใจ (ทำดีเพื่อความดี) ไม่ใช่ทำดีเพื่ออย่างอื่น  ทำดีต้องเพื่อความดีเท่านั้น  ส่วนผลพลอยได้อย่างอื่นก็ตามมาเป็นธรรมดา  ตัวอย่างผลพลอยได้จากการทำดี  ด้วยการไม่ลักทรัพย์ เช่น เกิดมาในชาติใด ๆ จะเป็นผู้ปลอดภัยในเรื่องทรัพย์สมบัติจะไม่วิบัติเพราะถูกลักถูกปล้นสะดมเพราะเราไม่เคยลักของเขา  ไม่เคยปล้นเขามาก่อน  ผลสะท้อนส่งให้เรามีความปลอดภัยในทรัพย์สมบัติ ไม่ถูกลักถูกปล้นสะดม  นี่คือผลพลอยได้อันเกิดจากการทำดี ด้วยการไม่ลักทรัพย์  ส่วนผลโดยตรงนั้น ทำดีเราก็ได้รับความดีคือ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบเป็นคุณสมบัติจิตใจ จิตใจสูงขึ้นด้วยคุณธรรมจำกันไว้ให้ดี  แล้วพากันทำความดีเพื่อความดีกันต่อไป

กฎข้อที่สาม(กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี)เว้นจากประพฤติผิดในกาม(คู่ครอง) การทำดีด้วยการไม่ประพฤติผิดในกามนั้น  จุดประสงค์ต้องการให้ทุกคนในสังคมพากันเคารพในคู่ครองของคนอื่นเพราะทุกคนต่างก็มีความรักความหวงแหนในคู่ครองของตนไม่ต้องการให้ใครมาล่วงละเมิดในคู่ครองของตน  ไม่ว่าโดยอุบายวิธีใด ๆ ทั้งนั้น  การล่วงละเมิดในคู่ครองของคนอื่นเป็นการทำลายน้ำใจเหยียบย่ำจิตใจของเขาอย่างไม่น่าให้อภัยได้  ดังนั้น จึงขอให้ทุกคนประพฤติตนเป็นคนเคารพในคู่ครองของคนอื่น  ฝ่ายชายให้ถือหลักว่า ภรรยาของคนอื่นเหมือนคุณแม่ของเรา  ฝ่ายหญิงก็ให้ถือว่าผู้ชายทุกคนเหมือนคุณพ่อของเรา  ถ้าทุกคนยึดหลักนี้อย่างเคร่งครัด ปฏิบัติต่อกันด้วยการเคารพในคู่ครองของกันและกัน  ปัญหาเรื่องการประพฤติผิดในกาม  ก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้นในสังคมอย่างแน่นอน  จึงขอวอนให้ทุกคนทำดีเพื่อความดีกันเถิด  ผลดีที่เกิดจากการทำดีด้วยการไม่ประพฤติผิดในกามโดยตรงนั้นคือเราจะได้รับคุณธรรมความดีคือ สทารสันโดษยินดีในสามีภรรยาของตนเป็นคุณธรรมประจำใจ  ส่วนผลพลอยได้อันจะตามมาจากการทำดีด้วยการไม่ประพฤติผิดในกามนั้น  ก็คือจะทำให้เรามีความปลอดภัยในเรื่องคู่ครอง  เกิดมาในภพใดชาติใดก็ไม่มีใครบังอาจมาล่วงละเมิดในคู่ครองของเรา เพราะเราไม่เคยล่วงละเมิดในคู่ครองของเขา  เขาก็ไม่ล่วงละเมิดคู่ครองของเรา  นี่คือผลพลอยได้จากการทำดี ด้วยการไม่ประพฤติผิดในกาม (ไม่ล่วงละเมิดคู่ครองคนอื่นจงทำดีเพื่อความดีแล้วผลพลอยได้  ก็จะตามมาเองเป็นเงาตามตัว

กฎข้อที่สี่(มุสาวาทา เวรมณี) เว้นจากพูดเท็จ การทำดีด้วยการไม่พูดเท็จนั้น  จุดประสงค์โดยตรง ต้องการให้ทุกคนเคารพในสัจจวาจา สัมมาวาจาให้พูดแต่ความจริง พูดแต่วาจาชอบ อย่าพูดเท็จ อย่าพูดคำหยาบ อย่าพูดเพ้อเจ้อ เพราะการพูดเท็จ พูดคำไม่จริงนั้น เป็นการทำลายประโยชน์ของคนอื่นเมื่อเขาเชื่อและทำตามที่เราพูด  เราต้องเคารพประโยชน์ของคนอื่นที่เขาจะพึงได้รับจากคำพูดของเรา  แต่ถ้าเราพูดเท็จ พูดไม่จริงแล้ว เขาจะได้ประโยชน์อย่างไรจากคำพูดของเรานอกจากความเสียหาย ทำลายประโยชน์เท่านั้น  ผลที่จะพึงได้รับจากการทำดี  ด้วยการไม่พูดเท็จนั้น เราก็จะได้คุณธรรมคือ สัจจวาจา สัมมาวาจาวาจาจริงวาจาชอบ เป็นสมบัติประจำใจ นี่คือผลโดยตรงอันเกิดจากการทำดี ด้วยการเว้นจากการพูดเท็จ (ไม่พูดเท็จส่วนผลพลอยได้ ถ้าเราไม่พูดเท็จ ไม่โกหกหลอกลวงคนอื่น  เราก็เป็นคนมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดอะไรออกไปแล้ว ทำให้คนฟังเชื่อและปฏิบัติตาม  จะบอกจะสอน จะแนะนำอะไรคนก็เชื่อทุกอย่าง  แล้วก็ยอมปฏิบัติตามที่เราบอกเราสอนนั้น  ผลที่ได้รับอีกอย่างหนึ่ง คือคนที่ทำดีด้วยการไม่พูดเท็จนั้น เกิดมาในชาติใดก็เป็นผู้ปลอดภัยไม่ถูกคนอื่นหลอกลวงให้หลงเชื่อ  ไม่มีใครกล้ามาพูดเท็จ พูดคำไม่จริงกับเขา  เพราะเขาไม่เคยพูดเท็จกับคนอื่นมาก่อน  นี่คือผลพลอยได้อันเกิดจากการทำดีด้วยการไม่พูดเท็จ

กฎข้อที่ห้า(สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวรมณี) เว้นจากการดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ขาดสติ  การทำดีด้วยการไม่ดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยนั้น  จุดประสงค์ต้องการให้ทุกคนเคารพในความไม่ประมาท ให้มีสติ ในการทำ ในคำพูด ในการคิด คิดด้วยสติ พูดด้วยสติ ทำด้วยสติ มีสติทุกอิริยาบถ  ทุกลมหายใจเข้าออก การทำดี ด้วยการไม่ดื่มน้ำเมา สุราเมรัย นั้น  เราจะได้รับคุณธรรมความดีคือ สตินี่คือผลที่เราจะได้รับโดยตรงจากการทำดีด้วยการไม่ดื่มน้ำดองของเมาเหล้าสุราเมรัยทำให้เรามีสติในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ(สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา)สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ส่วนผลพลอยได้จากการทำดีด้วยการไม่ดื่มน้ำเมาสุราเมรัยนั้น  เราจะเป็นคนไม่มัวเมาลุ่มหลงในสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลง  ไม่มัวเมาในสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมาคือกามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส  นี่คือผลพลอยได้  จึงขอให้ทุกคนทำดีเพื่อความดีกันเถิด  แล้วสิ่งที่เราต้องการก็จะสำเร็จได้ทุกประการ  เรื่องการทำดีด้วยการรักษาศีลห้า กฎ ๕ ข้อ ก็จบลงเพียงเท่านี้

การทำดีเพื่อดีนั่นดีมาก

จึงขอฝากทุกคนให้สนใจ

พากันทำความดีเป็นนิสัย

เราจะได้ความดีประจำใจ

การทำดีเพื่อดีดีที่สุด

ซึ่งมนุษย์ทุกคนควรสนใจ

ทำความดีเพื่อดีเป็นปัจจัย

เราจะได้นอนเป็นสุขทุกคืนวัน

การทำดีเพื่อดีเป็นปัจจัย

ขอฝากแก่ทุกคนสนใจกัน

ทำความดีเพื่อดีกันทุกวัน

ความดีนั้นจะคุ้มครองป้องกันภัย

การทำดีเพื่อดีนั่นดีเด่น

เป็นประเด็นที่ทุกคนต้องสนใจ

พยายามทำดีไว้เป็นปัจจัย

เราจะได้สงบเย็นเป็นนิรันดร์

เมื่อทำดีเพื่อดีดีปรากฏ

มีลาภ ยศคนชมนิยมกัน

เพราะทำดีเพื่อดีมีผลพลัน

ดีเดี๋ยวนั้นขณะนั้นในทันที

ด้วยเหตุนี้ปราชญ์เมธีจึงเตือนตัก

ให้รู้จักทำดีเพื่อความดี

เพื่อส่งเสริมเพิ่มพูนซึ่งความดี

 ให้เรามีความสุขทุกเมื่อแล